‘การบริจาค’ ความปรารถนาดีที่อาจไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของความเหลื่อมล้ำ

‘การบริจาค’ ความปรารถนาดีที่อาจไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของความเหลื่อมล้ำ

‘สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน’ คือปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังเช่นหลายกรณีที่มีเด็กนักเรียนและครอบครัวต้องออกมาประกาศวิงวอนขอรับเงินบริจาคจากผู้ใจบุญเพื่อเป็นทุนการศึกษา แต่ก็ไม่วายมีดรามาตามมาเสมอ

ด้านหนึ่ง สังคมมักตั้งคำถามกับผู้ขอรับบริจาคว่า พวกเขาจนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับผู้บริจาคว่า ความเอื้ออาทรเช่นนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงหรือ 

กระนั้น หากมองในมุมของคนที่อยู่ในภาวะ ‘สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน’ พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกสังคมจับตาและยังต้องพิสูจน์ความจนกับผู้ให้ทุนการศึกษา แต่จะดีกว่าไหม ถ้าระบบการศึกษาโอบอุ้มเด็กทุกคนไปพร้อมๆ กับสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจอย่างสมดุล

สังคมแห่งการบริจาค สวัสดิการจากความใจบุญ

SCB Economic Intellignence Center วิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยในปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ร้อยละ 96 ของครัวเรือนไทยมีรายจ่ายเพื่อการกุศล ประกอบด้วย ค่าอาหาร ของถวายพระ ไหว้เจ้า และเงินทำบุญซื้อของให้องค์กรต่างๆ ซึ่งรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาท หรือ 6,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบรายจ่ายเพื่อการทำบุญต่อรายได้ของครัวเรือน จะพบว่า ในปี 2560 ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก มีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง

นอกจากนี้ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุ โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 คน จะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนของรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์

คำถามคือ เหตุใดคนมากมายถึงเชื่อในเรื่องการบริจาค โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นรอง

ในภาพใหญ่ เจมส์ แอนเดรโอนี (James Andreoni) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เสนอคำตอบข้างต้นไว้ประการหนึ่ง เขามองว่า การบริจาคมีฐานจากแนวคิด Warm-glow giving หรือ ‘แสงมลังเมลืองของการให้’ กล่าวคือ การบริจาคมักเกิดจากแรงจูงใจ 2 ด้าน ได้แก่ แรงจูงใจที่เห็นแก่ผู้อื่น และแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวเอง กล่าวให้ชัดคือ การบริจาคเป็นความรู้สึกเชิงศีลธรรมที่เจือปนด้วยแรงปรารถนาส่วนตัว

แต่ในมุมของประสาทวิทยา ระบุว่า การให้สิ่งของแก่ผู้อื่น มีผลต่อระบบการให้รางวัลของสมอง (brain’s reward system) แดน แคมป์เบล-ไมเคิลจอห์น (Dan Campbell-Meiklejohn) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ (University of Sussex) อธิบายว่า แม้ความมีน้ำใจของมนุษย์จะมีต้นทุน แต่การรู้จักให้คนอื่นก็มักมีผลตอบแทนเป็นความรู้สึกดีๆ กลับมา เหมือนเวลาเรากินอาหารรสชาติอร่อย ประสบการณ์เชิงบวกจะกระตุ้นให้สมองจดจำและแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ

เมื่อขยับเข้าใกล้บริบทสังคมไทย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง จากเทวดา เจ้าสัว ชนชั้นกลาง ถึงรากหญ้า: การบริจาคและหาคนจนเพื่อรับสวัสดิการที่ล้มเหลว (2021)

โดยสรุปฐานการคิดของคนไทยเกี่ยวกับการบริจาคไว้ 3 ประการ ได้แก่

1) ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้น แนวคิดการช่วยเหลือคนที่จนที่สุดจึงได้รับการขานรับของคนในสังคม ทว่าทรัพยากรที่จำกัดของประเทศก็มีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยไม่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา กระทั่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจน 

2) อิทธิพลของแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมกระแสหลัก ที่มองว่าสวัสดิการที่มากเกินไปจะส่งผลเชิงลบต่อพฤติกรรมของประชาชน แนวคิดนี้ถูกนำไปกำหนดเป็นนโยบายของรัฐ ตลอดจนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ดังนั้นสวัสดิการจึงควรให้แบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น แม้จะมีทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่กระบวนการสัมภาษณ์ผู้ได้รับทุนกลับเต็มไปด้วยเงื่อนไขและมีมูลค่าเพียงน้อยนิดพอให้ผู้ได้รับทุนประทังชีวิต กล่าวคือ ความคิดเช่นนี้ทำให้แนวคิดสวัสดิการถูกผูกติดกับความเป็นผู้ยากไร้

3) ผลจากฐานคิดทั้งสองข้างต้น ทำให้สวัสดิการของรัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาชนที่จัดหาและช่วยเหลือกันเองมีคุณภาพต่ำกว่ากลไกตลาด เพราะกลไกตลาดไม่ได้ยึดติดกับความยากจนหรือการสนองผู้ด้อยโอกาส แต่สัมพันธ์กับความพึงพอใจในการบริโภค ดั่งภาพของโรงเรียนเทศบาลที่ไม่มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนนานาชาติ 

ข้อสรุปของษัษฐรัมย์ ทำให้เข้าใจทั้งความใจบุญผ่านการบริจาค รวมถึงความไม่คุ้นชินของสังคมไทยกับความหมายของสวัสดิการ สอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีผู้ให้บริจาคในปี 2021 ของ Charities Aid Foundation ที่พบว่า ไทยติดอันดับ 7 จาก 119 ประเทศที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากที่สุดในโลก แต่กลับยังเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง 

ขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์หัวข้อ ‘2 ล้านครัวเรือนไทยเปราะบางจากปัญหาหนี้หนัก เสี่ยงใช้เวลาเกินทศวรรษในการหลุดพ้น’ ของ SCB Economic Intellignce Center ปี 2565 พบว่า ครัวเรือนไทยที่ประสบภาวะเปราะบางทางการเงิน หรือครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สิน มีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน ทำให้มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 นับจากก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2562

ข้อค้นพบที่น่าสนใจไม่แพ้กันในรายงานฉบับนี้คือ การเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ของสัดส่วนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น (discretionary) ต่อรายจ่ายรวม ส่งผลให้โอกาสการเกิดปัญหาการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ประกอบด้วย รายจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บริการท่องเที่ยว สันทนาการ ค่าใช้จ่ายด้านการบริจาค ค่าสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯลฯ

กล่าวอย่างง่าย ดูเหมือนว่าผู้บริจาคก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการบริจาค ไม่ผิดแผกไปจากผู้ขอรับบริจาคที่ประสบฐานะทางการเงิน

คำถามจึงไม่ใช่ว่า เด็กที่สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน ‘จน’ จริงหรือไม่ เพราะข้อพิสูจน์นั้นเป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริจาค ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องถูกแก้ไขด้วยการบริจาค

ดังนั้น สิ่งที่น่าขบคิดคือ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เงินบริจาคมีความจำเป็นในขอบเขตบริบทแบบใด เพื่อไม่ให้บดบังปัญหาใหญ่ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

‘ค่าสมัครสอบ’ ปราการดับฝัน ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ก่อนจะสอบติดมหาวิทยาลัย ค่าสมัครสอบในระบบ TCAS66 อาจทำให้เด็กหลายคนหยุดความฝันตั้งแต่ด่านแรก ไล่เลียงตั้งแต่วิชาเฉพาะ กสพท. (สำหรับสายแพทย์) 800 บาท ข้อสอบ TGAT/TPAT วิชาละ 140 บาท ข้อสอบ A-Level วิชาละ 100 บาท และวิชาเฉพาะอื่นๆ ตามมหาวิทยาลัยกำหนด (อาทิ การสอบตรงเข้าคณะต่างๆ)

นอกจากนี้ เด็กจะต้องเสียค่าสมัคร TCAS เพื่อนำคะแนนสอบที่ได้ เข้าไปในระบบกลางในการคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566 โดยระบบ TCAS มีทั้งหมด 4 รอบ นั่นหมายความว่า เด็กที่ติดรอบสุดท้าย อาจต้องเสียค่าสมัครทุกรอบ 

สำหรับค่าสมัคร TCAS แต่ละรอบ แบ่งเป็น รอบที่ 1 ‘Portfolio’ มีค่าสมัครประมาณ 200-1,000 บาท รอบที่ 2 ‘Quota’ มีค่าสมัครประมาณ 200-600 บาท รอบที่ 3 ‘Admission’ มีค่าสมัครตั้งแต่ 150-900 บาท ตามจำนวนสาขาวิชาที่ยื่นไป และรอบที่ 4 ‘Direct Admission’ มีค่าสมัครประมาณ 200-1,000 บาท (ราคาขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย)

ข้างต้นคือค่าใช้จ่ายอย่างคร่าวๆ และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในบางสาขาวิชา เช่น หากต้องการยื่นสมัครสอบเข้าคณะสายแพทย์ตั้งแต่รอบ Portfolio การใช้คะแนนสอบเฉพาะทางจะมีน้ำหนักมากกว่าเกรดเฉลี่ย อาทิ ข้อสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ IELTS ราคา 7,350 บาท หรือ BMAT (BioMedical Admissions Test) ราคา 3,200 บาท ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้ที่จะนำใช้ทำข้อสอบต้องขึ้นอยู่กับการค้นคว้านอกห้องเรียนหรือเรียนพิเศษกับติวเตอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต่อคอร์ส มากไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายข้างต้นอาจไม่ได้อยู่ในสมการรายจ่ายสำหรับหลายครอบครัว 

ในงานเสวนา ‘Children from Covid-19 เด็กหลุดขอบ’ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เผยว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด รายได้ครัวเรือนของเด็กยากจนและยากจนพิเศษ ลดลงเหลือเพียง 1,094 บาทต่อเดือน (ภาคเรียนที่ 1/2564) จากเดิมเคยมีรายได้อยู่ที่ 1,289 บาทต่อเดือน (ภาคเรียนที่ 2/2561) และผลสำรวจล่าสุดยังพบว่า รายได้ครัวเรือนลดลงเหลือเพียง 1,044 บาทต่อเดือน (ภาคเรียน 1/2565) ทำให้กลุ่มเด็กยากจนและยากจนพิเศษมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 300,000 คน ในรอบ 2-3 ปี

สอดคล้องกับผลสำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่พบว่า เมื่อขึ้นไปสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โอกาสศึกษาต่อของเด็กเยาวชนก็จะลดน้อยลง โดยเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ (รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคน/เดือน) จะมีโอกาสได้เรียนต่อชั้นมัธยมต้น 80 เปอร์เซ็นต์ ได้เรียนต่อระดับมัธยมปลาย 52.9 เปอร์เซ็นต์ และได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของเด็กเยาวชนทั้งประเทศที่ได้เรียนในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า จะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากปัจจัยรายได้ครัวเรือนราว 6-7 เท่า

จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 ระบุว่า การคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพื่อรับทุนจาก กศส. เมื่อช่วงปี 2561 มีผู้ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน หรือคิดเป็น 13.52 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมดที่ได้รับทุนเสมอภาค เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในหลากหลายสาขาวิชา เช่น กฎหมาย ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ สุขภาพ หรือสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อโอกาสในการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต 

กล่าวโดยสรุป นอกจากค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบจะตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กจำนวนไม่น้อยแล้ว รายได้ที่ลดลงในช่วงโควิดและภาวะยากจนเรื้อรัง ก็ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง การระดมเงินช่วยเหลือหรือการบริจาคจึงกลายเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

สร้างเครือข่ายให้ข้อมูล ชี้ช่องรับทุนการศึกษาอย่างทั่วถึง

School of Changemakers เว็บไซต์การศึกษา เปิดประเด็นการพูดคุยว่า ทุนทรัพย์ที่เด็กทุกคนมีไม่เท่ากัน ทำให้ช่วงรอยต่อระหว่างภาคการศึกษาเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะตัดสินใจเรียนต่อหรือไม่ ฉะนั้น การออกแบบระบบเครือข่ายเพื่อให้คำแนะนำ ระบุความเสี่ยง ช่วยวางแผนการเรียนต่อ และทำให้ครอบครัวที่มีหนี้สินเห็นความสำคัญและผลตอบแทนของการศึกษา อาจช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้ทางหนึ่ง

ดังนั้น โจทย์สำคัญคือทำให้เด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษา เพื่อเพิ่มทางเลือก เพิ่มปัจจัยการตัดสินใจ และโอกาสของชีวิต ซึ่งคนที่มีบทบาทใกล้ชิดที่สุดคือ ครู บุคลากรการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ภายหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 UNICEF Thailand รวบรวมแหล่งทุนการศึกษาสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยทุนการศึกษาระดับมัธยมไปจนถึงทุนระดับปริญญาเอก ทุนเรียนต่อต่างประเทศและทุนจากหน่วยงานในไทย ทุนให้เปล่าและทุนแบบมีเงื่อนไขซึ่งครอบคลุมหลายสาขาวิชา ตลอดจนการชี้ช่องทางหาข้อมูลของแหล่งทุนต่างๆ 

เนื่องจากทุนการศึกษามีความหลากหลายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ด้วยเหตุนี้การสร้างความสัมพันธ์ภายในรั้วโรงเรียนระหว่างตัวครูและนักเรียน จึงเป็นกลวิธีอย่างง่ายที่สุดในการแนะแนวการศึกษา เพื่อส่งต่อความฝันของเด็กให้ทอดยาวออกไปให้มากที่สุด 

สำหรับสังคมไทยแล้ว หากต้องการบริจาคเพื่อช่วยเหลือเด็กที่สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน การบริจาคเงินเข้ามูลนิธิหรือหน่วยงานที่ดูแลประเด็นให้ทุนการศึกษาโดยตรง จึงตอบโจทย์มากกว่าการบริจาคเงินเข้ากระเป๋าของเด็กคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพราะเขา ‘จนจริงหรือไม่’ แต่เงินบริจาคที่มีวัตถุประสงค์ที่ดี ควรกระจายถึงทุกคนที่สมควรได้รับอย่างเท่าเทียม 

อ้างอิง