ทางออก ‘วิกฤตทักษะพื้นฐานคนไทย’ คือร่วมมองการศึกษามากกว่าเขตรั้วโรงเรียน
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

ทางออก ‘วิกฤตทักษะพื้นฐานคนไทย’ คือร่วมมองการศึกษามากกว่าเขตรั้วโรงเรียน

ความท้าทายประการหนึ่งในการทำให้ไทยหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางหรือทำให้คน 1 คนพ้นจากความจน คือการให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์อย่างชาญฉลาด ตลอดหลายปีที่ผ่านมาใน 57 ประเทศทั่วโลก มีการประเมินขีดความสามารถทางด้านสมรรถนะพื้นฐานที่เป็นความพร้อมของวัยแรงงานเพื่อให้รู้สถานการณ์ที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในประเทศของเขาว่ามีจุดใดบ้างที่ต้องพัฒนา ขณะที่ประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับธนาคารโลก (World Bank) เพิ่งเผยแพร่ “ผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT)” ที่เป็นการประเมินขีดความสามารถประชากรวัยแรงงานกว่า 50 ล้านคน ในกลุ่มประชากรอายุ 15-64 ปีที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนเป็นครั้งแรก อาจจะเรียกได้ว่านี่คือ PISA วัยแรงงานที่เป็นมาตรฐานสากลของบ้านเรา เทียบเคียง PISA นักเรียนอายุ 15 ปี ที่ไทยเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ OECD

ภายใต้บริบทของไทย เราเผชิญวิกฤตเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนสมรรถนะที่เป็นทักษะพื้นฐานชีวิต (Foundational Skills) ได้แก่ 1) การอ่านออกเขียนได้ (literacy) 2) ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill) 3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill)   ต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ในสัดส่วนที่สูงถึงกว่า 70% โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1% ของ GDP เทียบเท่า 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดินปี 2565

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้  กสศ. ชวนให้เห็นประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้ในเวทีวิชาการ “Fostering Foundation Skills in Thailand กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน” เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยได้ให้ทางออกจากวิกฤตทักษะพื้นฐานที่เปรียบเหมือนรากฐานชีวิตที่ทุกคนควรมีด้วยนโยบายที่เริ่มจากมีมุมมองต่อ ‘การศึกษา’ กว้างกว่าเขตรั้วโรงเรียนภายใต้ระบบการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี

ถอดบทเรียนความสำเร็จการพัฒนานโยบายในต่างประเทศ

เมื่อพูดถึงการส่งเสริมทักษะและความพร้อมของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในเรื่อง “ทักษะพื้นฐานชีวิต” (Foundational Skills) มีงานวิจัยจากต่างประเทศบอกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับกลุ่มนี้ได้ จะสร้างผลตอบแทนขนาดใหญ่ให้กับเศรษฐกิจ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคนพูดเยอะว่าไทยจะหลุดออกจากกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลางได้อย่างไร แต่ในแง่จริงของการทำงาน หัวใจของทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จคือการลงทุนเรื่องศักยภาพคนให้มีทักษะพื้นฐานที่เป็นแกนหลัก ๆ ให้ทุกคนสามารถไต่ระดับชีวิตไปได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพอะไร

คุณธันว์ธิดาชวนดู “การพัฒนานโยบายในต่างประเทศหลังจากทราบผลสำรวจทักษะแรงงานต่ำกว่าเกณฑ์” มีทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศห่างไกล เมื่อเขารู้สถานการณ์ก็จะทุ่มงบประมาณพัฒนาคนเพื่อปิดช่องว่างนั้น ๆ จากภาคนโยบาย ภาคการศึกษา ภาคท้องถิ่น ที่รีบลุกมาทำงานเรื่องนี้

ภาคนโยบาย  ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น พอรู้สถานการณ์เยาวชนและประชากรวัยแรงงานว่ากำลังขาดทักษะอะไรอยู่ ก็จะผนวกนโยบายที่เป็นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้เข้าไปกับเรื่องเศรษฐกิจ เขาไม่ได้มองการศึกษาแยกออกจากเศรษฐกิจ ด้วยมองว่าถ้าเจอวิกฤตก็จะทำให้แรงจูงใจต่าง ๆ มาลงทุนน้อยลง ขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ในประเทศก็ไม่มีความแข็งแกร่ง ญี่ปุ่นจึงผนวก 2 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องทักษะในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ และการลงทุนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องหลังนี้ไทยก็พูดเยอะแต่ว่ารูปธรรมยังไม่ชัดเท่า “การลงทุนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็คือการลงทุนเพื่อการเรียนรู้ 3 ทักษะพื้นฐานให้กับทุกช่วงวัย” ที่ญี่ปุ่นจะเจอปัญหาด้าน ICT คือทักษะดิจิทัลมากที่สุด เขาก็จะทุ่มเทการลงทุนในเรื่องนี้ว่า แก้ปัญหาเรื่องทักษะ ICT เชื่อมกับทักษะแรงงานและรายได้แล้วก็การจ้างงานไปด้วยกัน

ออสเตรเลีย ก็เช่นกัน เขาเจอปัญหาเรื่องการรู้หนังสือหรือการอ่านที่นำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาประจำวันและการทำงานของประชากรว่ายังแย่อยู่ ก็จะมีการทำกรอบพัฒนาทักษะเป็น Foundation Skills Strategy ระดับชาติขึ้นมา แล้วจัดโปรแกรมส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับการทำงานได้ขึ้นมาว่า ถ้าแรงงานต้องไปประกอบอาชีพและทำงาน ต้องรู้หนังสือเรื่องอะไร ไม่ใช่เป็นแค่อ่านออกเขียนได้

อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ภาคการศึกษา พอเราเห็นวิกฤตคงต้องมองว่าระบบการศึกษาเป็นอย่างไร ธนาคารโลกบอกว่าวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตที่ประเทศไทยเจอ มาจากโครงสร้างหรือรากฐานความไม่เข้มแข็งทางการศึกษาของไทยที่มีปัญหาอยู่ แล้วประเทศต่าง ๆ ทำอะไร

ฝรั่งเศส เวลส์ และสิงคโปร์ สร้างบัญชีการเรียนรู้ หรือ Learning Accounts สำหรับแต่ละบุคคลขึ้นมา Learning Accounts คือเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าเกิดเราบอกว่าให้แรงงานหรือเยาวชนไปเรียนรู้แต่ไม่ได้มีการเก็บสะสมทักษะที่ส่งผลประโยชน์ต่ออาชีพหรือรายได้ของเขา ก็คงไม่ใครอยากเรียน ดังนั้น Learning Accounts จึงเป็นการสะสมการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สามารถให้คูปองพัฒนาการเรียนรู้ได้ แต่ไม่ได้ให้แบบหว่านแจก เน้นไปเฉพาะกลุ่มคือกลุ่มด้อยโอกาสกับกลุ่มว่างงาน เป็นต้น 

สโลวาเกีย มองภาพใหญ่ไปเล่นกับกฎหมาย กฎหมายของเขายังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับแรงงานและเยาวชนที่ดีพอ จึงแก้ พ.ร.บ.การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เพิ่มเติมประเด็นการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษาของแรงงานวัยผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่ลงทุนกับกลุ่มเด็ก

อินเดีย ฝรั่งเศส กรีซ อิสราเอล เม็กซิโก สวีเดน และเบลเยียม มีการทำงานกับคุณครู โดยกำหนดว่าหากรู้ปัญหาแล้วการศึกษาในระบบทำอะไรต่อ โดยขอให้คุณครูทุกคนผ่านการพัฒนาอย่างน้อย 50 ชั่วโมง เรื่องทักษะดิจิทัล ทักษะอารมณ์และสังคม ให้มีผลเรื่องการประกอบวิชาชีพด้วย

อีกมุมหนึ่งที่จะทำให้กู้วิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตได้ ก็คือ ภาคท้องถิ่น จริง ๆ แล้วรายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย เราไม่ได้รายงานผลเฉพาะระดับชาติ แต่มีการรายงานผลระดับภูมิภาคด้วยว่าระดับภูมิภาคของประเทศไทย ก็มีทักษะทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้นภาคท้องถิ่นสามารถที่จะวิเคราะห์ทักษะแรงงานของท้องถิ่น ตนเองได้แล้ว และสามารถเลือกกลุ่มที่ต้องการระบุความช่วยเหลือได้ เช่น กลุ่มที่วิกฤตก่อนอย่างกลุ่มเปราะบาง กลุ่มทักษะต่ำ ซึ่งภูมิภาคที่มีความท้าทายของไทยตอนนี้ก็คือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ทั้ง 3 ทักษะอยู่ในระดับที่แย่กว่าภาคอื่น หากท้องถิ่นรู้ผลตรงนี้แล้วสามารถไปออกแบบกระบวนการได้ด้วยตัวท้องถิ่นเอง ซึ่งในต่างประเทศมีตัวอย่างที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เขามีการออกแบบเลยว่าที่โซลมีปัญหาทักษะดิจิทัล ก็มีการส่งเสริมทำเป็น Smart Seoul 2030 initiative ขึ้นมา แล้วก็มีการทำศูนย์ Digital Education Centers มีการรณรงค์การพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับทุกคน ใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต 

“จริง ๆ เรื่องนี้สำคัญนะคะ เพราะว่าบางทีเราไปมองว่ายูนิตของการพัฒนาอยู่ที่สถานศึกษา อยู่ที่กระทรวง แต่จริง ๆ แล้ว ชุมชนสามารถเป็นฐานในการพัฒนาได้ แล้วก็ต้องบอกว่าวิกฤตทักษะที่เรากำลังพูดถึง เรากำลังพูดถึงกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มนอกระบบ เพราะฉะนั้นคำตอบของการพัฒนากลุ่มนี้คงไม่ใช่เพียงแค่เป็นยูนิตสถานศึกษา แต่จะเป็นการดึงรังของชุมชนและท้องถิ่นมากู้วิกฤตด้วยกันอย่างไร ซึ่งเกาหลีใต้ก็มีตัวอย่างว่าเขาใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับกลุ่มนี้ด้วย”  คุณธันว์ธิดาชวนมองอนาคต

จากข้อค้นพบต่างประเทศ สู่ข้อเสนอทางออกวิกฤตทักษะพื้นฐานคนไทยทุกช่วงวัย

ข้างต้นเป็นตัวอย่างการกู้วิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตจากหลาย ๆ ประเทศ ที่เมื่อผู้กำหนดนโยบายรู้สถานการณ์แล้วไม่ได้นิ่งเฉย แต่ว่าพยายามที่จะหาคำตอบแล้วก็แก้ไขปัญหา จะเห็นว่าสามารถมีรูปแบบกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันบนสถานการณ์และบริบทแต่ละประเทศ ไทยเองก็เช่นกัน ต้องมาดูว่ารู้สถานการณ์แล้ว บริบทของเราเป็นอย่างไร วิธีการไหนที่จะเหมาะสมมากที่สุด

คุณธันว์ธิดามองว่า เราเห็นสถานการณ์ที่เผชิญอยู่กันแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นกลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันแรงงานเพื่อทำให้ไทยหลุดจากรายได้ปานกลาง คือ “ให้ความสำคัญในการพัฒนาคน” แล้วคนที่เรากำลังพูดถึงหมายถึงใครบ้าง

คำตอบคือ นโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แผนการพัฒนาการศึกษาต้องมีมุมมองกว้างกว่าเขตรั้วโรงเรียน  เพราะตอนนี้เวลาพูดถึงภาพรวมระบบการศึกษาจะพูดถึงเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนภายใต้ระบบการศึกษาภาคบังคับ 15 ปีเป็นลำดับแรก ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคน แต่ไทยยังมีเด็กเยาวชนวัยแรงงานที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนจำนวนมากถึง 20.2 ล้านคน และมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน อยู่บ้านเฉย ๆ เรียกว่ากลุ่ม NEET (Youth not in education , employment , or training) ราว 1.3 ล้านคน หรือราว 14.8% 

ล่าสุดรัฐมนตรีสิงคโปร์เพิ่งพูดในสภาบอกว่าเขาไม่ได้มองแค่ 15 ปีแรกของเด็กแล้ว เขาจะมอง 50 ปีของประชากรที่ยังอยู่ นี่น่าจะเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยเอามาใช้ได้ เราไม่ได้มองแค่เด็กที่อยู่ในรั้วโรงเรียน 15 ปี แต่กำลังจะพูดถึงที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนซึ่งต้องมีชีวิตอีก 50 ปีด้วย เราคงไม่อยากเห็นประชากรของเรามีความรู้ด้วยทักษะสูงที่สุดเพียงแค่วันที่จบการศึกษา ถ้าเราสามารถทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีพื้นฐานชีวิตที่ดีในเรื่องทักษะก็จะทำให้เศรษฐกิจเรามีพื้นฐานที่แข็งแรง

การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการทำงานต้องมีการเชื่อมโยงทั้งแนวตั้ง เช่น หน่วยจัดการเรียนรู้ มาตรฐาน การประเมิน คุณภาพผู้สอน และแนวนอน เช่น หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ รัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น หลักสูตร โอกาสของตลาดแรงงาน

“โจทย์นี้ใหญ่มาก คงทำงานด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ไทยต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่มาทำเรื่องนี้เหมือนอินโดนีเซียที่มี Prakerja เป็นเจ้าภาพทำงานกับดีมานด์ซัพพลาย ใช้กลไกตลาดสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากปรับทักษะ มีการคัดเลือกหลักสูตรต่าง ๆ เชื่อมโยงการทำงานทั้งแนวนอนและแนวตั้ง คือทำทุกช่วงวัย มองตั้งแต่เด็กเยาวชนที่อยู่ในระบบ 15 ปีแรก จนถึงกลุ่มที่ต้องมีชีวิตอยู่อีก 50 ปีหลัง การออกแบบกลยุทธ์ของประเทศไทยต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างช่วงวัยและระบบการศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทั้ง ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และอื่น ๆ”

ทักษะพื้นฐานชีวิตกับผลตอบแทนขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ

ใน 57 ประเทศที่มีการวิจัยผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment) ที่พูดถึงทักษะพื้นฐานชีวิต 3 เรื่อง 1) การอ่านออกเขียนได้ (literacy) 2) ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill) และ 3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill) ผลจาก 32 ประเทศพบว่า ถ้าเราได้เพิ่มการรู้หนังสือเพียง 1% ผล GDP ต่อหัวก็เพิ่มแล้ว 3% ฉะนั้นนี่คือหลักประกันโอกาสว่าประเทศไทยจะได้ Return กลับมาเป็นอย่างไร ส่วนกำไรที่ได้จากการลงทุนทักษะด้านอารมณ์และสังคมพบว่า ลงทุน 1 บาท ได้กลับมา 11 บาท อันนี้มีผลชัดเจนว่าถ้าเราส่งเสริมให้เยาวชนและแรงงานของเรามีเรื่องนี้ GDP ก็เพิ่ม แล้วผลตอบแทนก็สูง

ถ้ากลับมาที่สถานการณ์ประเทศไทย เรายังเจอความท้าทายในแง่ที่ว่าแรงงานของเรามีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์กว่า 70% ในเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิต นี่คือการส่งผลต่อเศรษฐกิจ ถ้าเราช่วยกันส่งเสริมให้กับกลุ่มทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ให้มี 3 ทักษะที่สูงขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่า รายได้ของเขาจะเพิ่มขึ้นทันทีคนละ 6,700 บาทต่อเดือน รายได้ที่เเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ในระดับบุคคลที่ทำให้คน 1 คนหลุดออกจากความยากจน แต่ส่งถึงผลลัพธ์ระดับชาติที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ภายใต้รายได้ที่เพิ่มขึ้นถึงคนละ 6,700 บาทต่อเดือน นี่คือสิ่งที่เรามองว่ามันมีศักยภาพในการทำงาน ทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศ และระดับตัวบุคคลที่ยังขาดทักษะและมีรายได้น้อยอยู่