5 สถาบันวิชาการเสนอทางออกเร่งด่วน รัฐทุ่มลงทุนกู้วิกฤตทักษะคนไทย เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มต้นที่คนไทยจบแค่ ม.3 กว่า 20 ล้านคนก่อน
เชื่อมีโอกาสออกจากวิกฤตเช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบใช้เวลาเพียง 3 ปี ปรับทักษะ 17.5 ล้านคนสำเร็จ

5 สถาบันวิชาการเสนอทางออกเร่งด่วน รัฐทุ่มลงทุนกู้วิกฤตทักษะคนไทย เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มต้นที่คนไทยจบแค่ ม.3 กว่า 20 ล้านคนก่อน

หลังจากที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ ธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่ผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยพบว่า  ไทยเผชิญวิกฤตเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะหรือมีทักษะพื้นฐานชีวิต ได้แก่ 1) การอ่านออกเขียนได้ (literacy) 2) ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill) และ 3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill)   ต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ‘ในสัดส่วนที่สูง’ โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1%

ล่าสุด  5 สถาบันวิชาการ ร่วมระดมสมอง หาทางออก ในเวทีวิชาการ “Fostering Foundation Skills in Thailand กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน” เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องสานพลัง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อาคารเอส พี ชั้น 12 โดยเป็นการระดมสมองนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน อาทิ กสศ. สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มจธ.  คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์นโยบายจากต่างประเทศในการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตทุกช่วงวัยที่ประสบความสำเร็จ และหารือกันถึงทางออกในการกู้วิกฤตทักษะคนไทย

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  กล่าวว่า การกู้วิกฤตทักษะคนไทยต้องทำเป็นระบบใหญ่ จริงจังและทุ่มเททรัพยากร ตัวอย่างรูปธรรมสำคัญ เช่น  การทำ National Skill Program เป็นวาระแห่งชาติ โดยโปรแกรมนี้ต้องมีลักษณะเป็นขนมชั้น 3 ชั้น เริ่มจากชั้นกลาง คล้ายกับที่อินโดนีเซียทำ คือมีคูปอง มีระบบกลไกตลาด ให้คนที่รู้เรื่องทักษะจริงหรือรู้ว่าตลาดต้องการอะไรเป็น Suply Side  เป็นผู้แจกคูปอง เป็นทักษะเฉพาะทาง ทักษะอาชีพต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องทำขนานใหญ่ ต้องกล้าลงทุน  อินโดนีเซียทำเรื่องนี้ เริ่มต้น 5 ล้านคน ของไทยต้องวางเป้าหมายมากกว่านั้น อาจกำหนดกลุ่มเป้าหมายเลยว่าคนไทยทุกคนที่เรียนไม่เกิน ม.3 ความรู้ไม่มากนัก ตามโลกไม่ทัน เข้าใจว่าน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านคน  แน่นอนว่าต้องค่อย ๆ เริ่ม และมีการประเมินระหว่างทาง  โดยประเภทของทักษะอาจเป็นเฉพาะทางก็ได้ แต่ต้องมีความหลากหลายรองรับเพียงพอ

ส่วนชั้นล่าง หรือชั้น 1 ควรมีโครงการที่เป็น Skill Program ที่ส่งเสริมเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับทุกคน ‘ชั้นกลาง’ หรือ ทักษะเฉพาะทาง สำหรับ ‘ชั้นบน’ ต้องเป็นพื้นที่เฉพาะของกลุ่มเปราะบาง เช่น ประชากรนอกระบบ เด็กที่ออกนอกระบบ กลุ่มคนจน 15% ล่างสุดของประเทศ คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ กลุ่มนี้ต้องการการดูแลพิเศษด้วยโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะ โดยการเสริม Foundation Skills ที่โยงกับกลุ่มคนยากจนขาดแคลนโอกาสที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรเป็น 3+2 ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะรู้หนังสือ และทักษะอารมณ์และสังคม แล้วควรเพิ่ม ‘ความรู้ทางการเงิน’ financial literacy และมีตัวย่อยคือ ‘ความรู้ในการลงทุน’  (Investment literacy)  เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ในการลงทุนจะลดการใช้จ่ายเงิน ลดการซื้อหวย ลดการดื่มเหล้า จะทำให้เงินนี้ออกดอกออกผลได้   นอกจากนี้ยังมีตัวแถมที่สาม คือเรื่อง สุขภาพ และมาตราเสริมเรื่องอินเทอร์เน็ต  โดยการมีอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง  เพราะจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้อย่างมาก 

ดร.สมชัย  กล่าวว่า คำถามที่ว่าเราต้องลงทุนอย่างไรหรือใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ เพื่อกู้วิกฤตทักษะประชากร คำตอบคือ ‘ใช้ให้เต็มที่ที่สุด’ แต่ใจความสำคัญคือเราต้องใส่อย่างชาญฉลาด ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

“ผมคำนวณดู  อินโดนีเซียใช้ 9,000 บาทต่อคน ลองใช้ตัวเลขนี้กับคนไทย ด้วยตัวเลขผู้ที่การศึกษาต่ำกว่า ม. 3 ราว 20 ล้านคน ใช้เงินน่าจะไม่ถึงแสนล้าน จริง ๆอาจไม่ต้องใช้ถึงแสนล้าน เพราะทักษะแบบนี้โดยหลักการไม่จำเป็นต้องถูกฝึกใหม่ทุกปี ดังนั้น งบประมาณจะประมาณ 60,000 ล้าน ประเด็นเรื่องเวลา คนจนไม่มีเวลาเรียนถึง 16 ปี ถ้าเราทำ platform ดี ๆ เด็กจากครอบครัวยากจนเรียน 6 ปี ไม่ถึง 10 ปี สามารถเก่งเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิต ก็สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองได้” ดร.สมชัย กล่าว 

ดร.แบ๊งค์​ ​งาม​โชติ​อรุณ ​ผู้​อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร.แบ๊งค์ งามโชติอรุณ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียสามารถพัฒนา​ทักษะ​แรงงาน​หลังวิกฤตโควิด​19 ระบาดด้วยโครงการชื่อ Kartu Prakerja (Pre-employment card) หรือเรียกย่อ ๆ​ ว่า Prakerja โดยโครงการนี้ คือ ความร่วมมือที่ภาครัฐและเอกชน ช่วยกันสร้างเครื่องมือพัฒนา​ทักษะ​แรงงานที่สามารถแรงจูงใจให้​ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อยากเข้ามาเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของตัวเองอย่างเป็นระบบ และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถปรับทักษะของประชาชนได้มากถึง 17.5 ล้านคน​  ในเวลาเพียง 3 ปี และเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด19

ดร.แบ๊งค์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โครงการนี้สามารถสร้างทักษะที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคเอกชน สามารถสร้างระบบตลาดความรู้หรือแพลตฟอร์ม (Platform and Marketplace) ที่มีคุณภาพช่วยจัดการเรียนรู้ ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ มีระบบคัดสรรผู้ให้บริการอบรมทักษะ ทั้งภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน โดยระบบดังกล่าว มีความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ  มีระบบฐานข้อมูลประชาชนแยกตามรายได้ และข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการประเมินทักษะก่อนเรียนและแนะนำวิชาเรียนที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกเรียนอะไรหรือปรับทักษะใด และสามารถสร้างแนวทางกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วม เรียนจนจบหลักสูตรและสอบผ่าน โดยการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินเครดิตทุนการศึกษาให้กับผู้สอนเพียง 30% และกำหนดให้ได้รับเครดิตอีก 70% ได้หากสามารถผลักดันให้ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบหลักสูตรและสอบผ่านมีการจ่ายเงินให้ผู้เรียนเพื่อระบบประเมินและติดตามผล

“หลังดำเนินโครงการ Prakerja​ เพียงปีเดียว ก็สามารถสร้างกลไกในการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง​ที่อยู่ล่างสุดของสังคม​ และดึงเอกชนมาร่วมทำงาน​ มีผู้ผลิตเนื้อหามากถึง 181 หน่วยงาน สามารถสร้างสรรค์วิชาทั้งสิ้น 1,957 รายการสำหรับผู้เรียนราว 5.9 ล้านคนต่อปี” ดร.แบ๊งค์กล่าว

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้  กสศ.

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้  กสศ. ระบุว่า เวลาพูดถึงภาพรวมระบบการศึกษาจะพูดถึงเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนภายใต้ระบบการศึกษาภาคบังคับ 15 ปีเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคน แต่ไทยยังมีเด็กเยาวชนวัยแรงงานที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนจำนวนมากถึง 20.2 ล้านคน และมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน อยู่บ้านเฉย ๆ เรียกว่ากลุ่ม NEET (Youth not in education , employment , or training) ราว 1.3 ล้านคน หรือราว 14.8% การจะทำให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางนโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แผนการพัฒนาการศึกษาต้องมีมุมมองกว้างกว่าเขตรั้วโรงเรียน การศึกษาตลอดชีวิตเรื่องการทำงานต้องมีการเชื่อมโยงทั้งแนวตั้ง เช่น หน่วยจัดการเรียนรู้ มาตรฐาน การประเมิน คุณภาพผู้สอน และแนวนอน เช่น หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ รัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น หลักสูตร โอกาสของตลาดแรงงาน

“โจทย์นี้ใหญ่มาก คงทำงานด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ไทยต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่มาทำเรื่องนี้เหมือนอินโดนีเซียที่มี Prakerja เป็นเจ้าภาพทำงานกับดีมานด์ซัพพลาย ใช้กลไกตลาดสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากปรับทักษะ มีการคัดเลือกหลักสูตรต่าง ๆ เชื่อมโยงการทำงานทั้งแนวนอนและแนวตั้ง คือทำทุกช่วงวัย มองตั้งแต่เด็กเยาวชนที่อยู่ในระบบ 15 ปีแรก จนถึงกลุ่มที่ต้องมีชีวิตอยู่อีก 50 ปีหลัง การออกแบบกลยุทธ์ของประเทศไทยต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างช่วงวัยและระบบการศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทั้ง ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และอื่น ๆ”