ระยองในศตวรรษใหม่ พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา สร้างพื้นที่นวัตกรรมทั้งจังหวัด

ระยองในศตวรรษใหม่ พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา สร้างพื้นที่นวัตกรรมทั้งจังหวัด

ในแต่ละพื้นที่นั้นล้วนแตกต่างด้วยพื้นเพและเหตุปัจจัยในการรวมตัวกันของผู้คน หลากหลายด้วยต้นทุนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ดังนั้นแนวทางการพัฒนาจึงต้องมีความหลากหลายตามแต่ละบริบท

เช่นเดียวกัน “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงไม่อาจแก้ไขจัดการได้ด้วยสูตรสำเร็จเพียงหนึ่งเดียว”

ข้อความนี้เป็นการอธิบายความฉบับย่อของ ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ (Area-based Education: ABE) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำงานร่วมกับพื้นที่นำร่อง เพื่อย่อส่วนการทำงานจากภาพใหญ่ระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค โดยค้นหารวบรวมความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ รวมถึงต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่หนึ่ง แล้วสร้างกลไกกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดหรือแต่ละพื้นที่มี ‘พลังภายใน’ ในการออกแบบวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับโจทย์เฉพาะของพื้นที่นั้น ๆ

เนื่องจากบุคลากรทางการศึกษาและคนในชุมชน คือผู้เข้าใจสภาพปัญหา คือเจ้าของเรื่อง และคือเจ้าของปัญหาที่มีทั้งเจตจำนงและบทบาทที่จะกระตุ้นคนในชุมชนให้เข้ามาขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน

‘การจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทุนมนุษย์’ ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายต้องสามารถประเมินความต้องการกำลังคนในอนาคต และพัฒนากลไกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการหาวิธีให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ทั้งการศึกษากระแสหลัก การศึกษาทางเลือก โดยผู้ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้นี้จะต้องยืนหยัดด้วยตนเองได้ในระยะยาว และต้องหาจุดเริ่มต้นให้ตรงเป้า แล้ว ‘ต่อจุด’ เชื่อมโยงให้แต่ละส่วนเกิดการทำงานบูรณาการร่วมกัน

บทความนี้ขอชวนทุกท่านลงพื้นที่สำรวจ การระดมความคิดเพื่อต่อจุดการทำงาน ABE จังหวัดระยอง ในวาระ ‘การเตรียมทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์และความพร้อมของคนระยองในศตวรรษใหม่’ ว่าในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมบนพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศไทย และมีรายได้ประชากรต่อหัว (GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยต้นทุนนี้ คนระยองจะมีแนวทางนำพาประชากรทุกช่วงวัยอย่างไร เพื่อให้โอกาสกระจายถึงทุกคนถ้วนหน้าและสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ขึ้นมาเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

เปลี่ยนโรงเรียนทั้งจังหวัดให้ไปในทางเดียวกัน

ปรัชญา สมะลาภา รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมที่ทุกคนควรเห็นร่วมกันคือ ภาคอุตสาหกรรมในวันนี้ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเดิมอีกแล้ว เราผ่านพ้นยุคสมัยของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมที่ต้องการกำลังคนคุณภาพสูง มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ โจทย์การศึกษา ณ ตอนนี้ จึงควรเริ่มด้วยคำถามว่า ‘เราจะสอนอะไร’ เพื่อให้เด็กนำไปใช้ได้ในอนาคต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขององค์ความรู้ 

บทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศที่พัฒนาด้านการศึกษาอย่างก้าวกระโดดจนก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ ล้วนนำความรู้และเทคโนโลยีจากต้นแบบมาต่อยอด ดังนั้นเราสามารถเรียนรู้แนวทางจากต้นแบบแล้วสังเคราะห์ส่วนที่ใกล้เคียงและจำเป็นกับพื้นที่ของเรา เพราะถ้าเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ด้วยตัวเองทั้งหมดก็เป็นไปได้ว่าอาจเดินไปผิดทาง กว่าจะตั้งหลักกลับมาได้ เราต้องสูญเสียโอกาส เวลา และทรัพยากรจำนวนนับไม่ถ้วน

ปรัชญา สมะลาภา รองประธานสภาหอการค้าไทย

“ส่วนเรื่องกลไกการพัฒนาคน เราอาจต้องเริ่มเซ็ตจากศูนย์ แล้วช่วยกันทลายกรอบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น ถ้าจะทำโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม ก็ต้องเปลี่ยนโรงเรียนทั้งจังหวัดให้ไปในทางเดียวกัน ทำให้ระยองเป็นพื้นที่ทดลองเต็มตัว และต้องช่วยให้ครูทำงานได้โดยสอดคล้องกับความก้าวหน้าในอาชีพด้วย 

“อีกเรื่องคือต้องเติมบุคลากรให้ตรงจุดที่ขาดและทำให้ความรู้คงอยู่ในพื้นที่ ลดการเคลื่อนย้ายของครู โดยมีแต้มต่อให้ครูในภูมิลำเนาได้บรรจุก่อน เหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่ผมมองว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมหาทางทำให้ดีขึ้น เราจะสามารถปลดล็อกข้อจำกัดและเดินไปในแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด แล้วระยองจะเป็นจังหวัดแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ได้สำเร็จ”

ดึงภาคอุตสาหกรรม ผลิตคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) กล่าวว่า ก่อนที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน เราต้องมีแผนพัฒนาเมืองที่สัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลากร เมื่อเหลียวมองดูว่าทุนมนุษย์ของเราเป็นอย่างไร สิ่งที่พบคือเรามีคนจำนวนมากที่ชำนาญทักษะอนาล็อก ขณะที่โลกไปถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มหมดแล้ว ดังนั้นโจทย์จึงเป็นเรื่องการผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 

“การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เราได้ไปดึงภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อผลิตคนตามโจทย์ความต้องการของภาคแรงงาน โดยสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการจะทำหลักสูตรและพัฒนาคนไปด้วยกัน ในโปรเจกต์ชื่อ EEC Type A”

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน
ประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร EEC HDC

ส่วนการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน และแรงงานนอกระบบ มีการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบการศึกษาในรูปแบบใหม่ โดยเข้าไปเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ครูอาจารย์ได้เติมความรู้ใหม่และสามารถปรับตัวให้ทันต่อความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโลก

“การจะ Upskill หรือ Reskill เราต้องเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ รวมถึงเตรียมพื้นฐานระดับมัธยมและประถมศึกษาให้สอดรับ ประการแรกคือ เด็กและเยาวชนใน 874 โรงเรียน ในเขต EEC ต้องเรียนอย่างน้อย 3 ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาธุรกิจ เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส 

“ประการที่สอง ต้องเรียน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) และประการที่สามคือ เรียน Coding (การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด) ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ EEC เรามีเด็ก 130,000 กว่าคน ที่ได้รับการพัฒนาในแนวทางดังกล่าว ร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย และ 20 สถาบันอาชีวศึกษา สิ่งเหล่านี้เราจะเอามาขยายผลต่อ เพื่อสร้างแนวทางพัฒนาระยะยาวที่เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าถึงได้” 

ดร.อภิชาติ กล่าวถึงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ว่า ข้อดีของพื้นที่ EEC คือสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างเป็นอิสระ ผ่านกฎหมายในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งสิทธิพิเศษตรงนี้ทำให้พื้นที่มีความคล่องตัว และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น

ทุ่มทรัพยากรลงไปให้ถูกจุด

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้แทนคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรม กล่าวว่า การเซ็ตเป้าหมายแล้วพุ่งไปตรง ๆ ทำให้ออกแบบกระบวนการง่าย เร็ว และตรงกับนิเวศของการพัฒนา ระยองจึงต้องกระโดดออกมาและสร้างกลไกเอง

“ระยองมีขนาดพอ ๆ กับประเทศสิงคโปร์ แต่เรามีทรัพยากรมากกว่า เราสามารถตามรอยสิงคโปร์ในการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ไปเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเมือง เราจึงก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง หรือ RILA (Rayong Inclusive Learning Academy) ขึ้น เพื่อมาแตะมือช่วยกันหารูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างออกไป และรองรับความหลากหลาย สิ่งที่การศึกษาต้องทำให้เกิดคือ ความรู้ในด้านที่ควรจะเป็น เช่น คณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ และดิจิทัล ความรู้เหล่านี้ต้องไปให้ถึงมาตรฐานสากล ซึ่ง RILA จะเป็นผู้ประสานให้เกิดแนวทางจากต้นทุนที่เรามี เป็นการทำงานแนวราบไปด้วยกัน สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ด้วยกัน

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
ผู้แทนคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรม

“สำหรับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือการเซ็ตเป้าหมายตามทิศทางโลก แต่ทำงานย่อลงในระดับจังหวัด ทำให้รู้ว่าต้องวางเป้าหมายตรงไหน ใช้วิธีใด ทำกับใครแล้วได้ผลเร็วที่สุด เพราะถ้าเราทุ่มเวลา บุคลากร พลังงาน และทรัพยากรถูกจุด เลือกทำในจุดที่มีความเป็นไปได้ของความสำเร็จสูง มีองค์ประกอบพอ หลังจากนั้นเราจะรู้เองว่าควรเดินไปทางไหน”

พัฒนาหลักสูตรให้พอดีกับเด็กทุกคน

ดร.วิโรฒน์ ชมภู คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Disruption ความรู้อยู่ในมือถือของทุกคน การศึกษาจึงมีการพัฒนารูปแบบเป็น Facilitator หรือ ‘อำนวยการเรียนรู้’ ที่ครูต้องเปลี่ยนจากการเป็น ‘เจ้าขององค์ความรู้’ มาเป็นผู้ดูแลกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจเนื้อหาและช่วยให้ผู้เรียนวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ไปใช้งาน

“ในภาพใหญ่ของการศึกษาจังหวัดระยอง เราต้องพัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ อะไรที่ไม่ใช้ก็เอาออก อะไรที่จำเป็นเราต้องบูรณาการให้เกิดการเรียนรู้จริง ไม่ใช่ห้อยไว้ในตัวชี้วัดแบบเสียไม่ได้ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ต้องเพิ่มชั่วโมงให้มากกว่าเดิม ไม่ใช่โยนความรู้อย่างเดียว 1,200 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งมันสวนทางกับการพัฒนาทักษะสมองของเด็ก หมายถึงหลักสูตรการศึกษาต้องพัฒนาให้พอดีกับเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลักสูตรต้องดีพอรองรับพรสวรรค์ของเด็กรายคน เพื่อให้เด็กมุ่งตรงสู่ความสำเร็จตามความถนัดของตัวเอง

ดร.วิโรฒน์ ชมภู คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ
ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

“การจัดการเรียนรู้วันนี้ต้องมีนวัตกรรมที่หลากหลายรองรับ มี Learning Style หลายแบบ ทุกคนไม่ต้องเรียนเหมือนกัน รูปแบบเดียวกัน หัวใจสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารต้องย้อนดูว่า EEC ต้องการอะไร ทักษะพื้นฐานเปลี่ยนไปแค่ไหนแล้วจากการศึกษาในโลกยุคเก่า แล้วหลักสูตรของจังหวัดเราต้องแข็งแรงถึงขนาดที่ถ้ามีครูใหม่ย้ายเข้ามาในระยอง จะต้องมาปรับพื้นฐานก่อนถึงจะทำงานได้ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าทิศทางการศึกษาของระยองเป็นแบบใด”

เปลี่ยนวิทยาลัยเป็นสถานประกอบการ

กิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ต้องไม่ใช่แค่ทำให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพ แต่ต้องมองถึงการก่อรายได้ เพราะนี่คือความมั่นคงของการดำรงชีวิต ทัศนคติสำคัญในโลกการศึกษาและการทำงานในปัจจุบันคือ การพัฒนาศักยภาพกำลังคนในระยะยาว เราจะรอให้เด็กจบมหาวิทยาลัยไม่ได้ ดังนั้นสถานประกอบการต้องช่วยระบุความต้องการแรงงานที่จะทำงานได้จริง และมีส่วนร่วมจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาแผนการเรียนรู้รายบุคคล

สิ่งที่อาชีวศึกษาทำแล้วคือ การเปลี่ยนวิทยาลัยให้เป็นสถานประกอบการ มีการเปิดศูนย์ยานยนต์ให้คนทั่วไปเข้ามาใช้บริการ มีนักศึกษาระดับ ปวช. 2-3 ทำงานจริง ส่วนระดับ ปวส. จะมีสถานประกอบการมาช้อนเด็กไปฝึกงาน เป็นการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เด็ก ปวส. ไปฝึกงานบางที่มีรายได้เดือนละ 20,000 พออายุ 18 เรียนจบบรรจุทำงานต่อทันที นี่คือการจัดการศึกษาแบบ Work-integrated Learning (WIL) เพื่อบูรณาการการทำงานกับการเรียนไปด้วยกัน ผู้เรียนจึงได้รับทั้งประสบการณ์และรายได้ มีแผนการเรียนและการถอดบทเรียนรายบุคคล

(ซ้าย) กิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง

“นอกจากนี้ ภาคอาชีวศึกษายังผลักดันเรื่องการนำเด็กนอกระบบกลับมาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง โดยร่วมกับ พมจ.ระยอง (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะอาชีพส่งเข้าสถานประกอบการและเชื่อมโยงไปถึงการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา นี่คือการที่ทุกภาคส่วนมาช่วยกันจัดการทรัพยากรซึ่งระยองมีพร้อม เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม และอาชีวศึกษาจะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานต่อไป”

สร้างทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต ก้าวทันเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลง

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ เสณีตันติกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง กล่าวว่า ภาคอุดมศึกษาระยองได้สำรวจภาควิชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC พบว่ามี 3 คณะสำคัญที่รองรับการพัฒนาทุนมนุษย์ตามโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะผลิตกำลังคนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ที่มุ่งพัฒนาความรู้ด้านยานยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการเรียนการสอนจะเน้นสร้างทักษะ ทุกหลักสูตรสอนโดยครูจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง และมีการเรียนรู้ในสถานประกอบการร่วมด้วย

“หลักการสำคัญคือผู้เรียนจะต้องตระหนักได้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นเพียงปราการด่านสุดท้ายก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้นผู้เรียนต้องมีทักษะต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก้าวทันต่อเทคโนโลยีและความต้องการกำลังคนในทุกความเปลี่ยนแปลง เราจึงมีครูภาคอุตสาหกรรมที่คอยอัพเดทเทคโนโลยีทุกปี มีสหกิจศึกษาคอยติดตามดูว่านักศึกษาจบไปแล้วเป็นอย่างไร แล้วนำข้อมูลกลับมาปรับพัฒนาหลักสูตร

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ เสณีตันติกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
วิทยาเขตระยอง

“สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ การพัฒนาเด็กแรกเกิดถึง 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงของการพัฒนาบทบาท (New Role) ที่จะส่งผลต่อการเรียนในระดับสูงต่อไป ซึ่งเราอาจต้องเทงบประมาณลงไปที่ทุนมนุษย์ในช่วงวัยนี้อย่างเต็มที่ เพราะถ้าเริ่มต้นมาดี การพัฒนาในช่วงกลางจะทำได้เร็วและเมื่อถึงปลายทางก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามไปด้วย”

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อทุกภาคส่วนมองไปยังเป้าหมายเดียวกันและขยับตัวไปพร้อมกันทั้งจังหวัด ระยองจึงหลุดพ้นจากรูปแบบวิธีการเดิม ๆ ที่ต้องพึ่งพิงนโยบายจากส่วนกลาง หรือเป็นนโยบายแบบ ‘บนลงล่าง’ มาสู่การส่งต่องานกันในแนวระนาบ ‘ล่างสู่ล่าง’ และจะเป็นต้นทางของการค้นพบโมเดลการทำงานหรือนวัตกรรมการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาคน เพื่อประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้ตามบริบทความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่และตามเจตนารมณ์ของคนคนหนึ่งได้จริง