เปิดโรงเรียนอีกครั้งดีไหม? เปิดงานวิจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษา

เปิดโรงเรียนอีกครั้งดีไหม? เปิดงานวิจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษา

ก้าวเข้าสู่ปีการศึกษาที่ 2 ที่เด็กนักเรียนตั้งแต่เด็กเล็กจนไปถึงนิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต้องอพยพจากการจ้องกระดานในห้องเรียนทางกายภาพไปเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากผลลัพธ์และประสบการณ์การเรียนการสอนของปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าการเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอกลับไม่เป็นผลดีนัก ทั้งฉายชัดถึงความเหลื่อมล้ำ ผู้เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ไปจนถึงสภาพความเป็นอยู่และโภชนาการของนักเรียนเมื่อขาดสถาบันสำคัญอย่างโรงเรียนคอยช่วยเหลือ

แม้ที่ผ่านมา มาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลกจะมีการขอความร่วมมือปิดสถานศึกษาชั่วคราวและเรียนออนไลน์ทดแทนห้องเรียนจริงตลอดปีการศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์ UNICEF ชวนตั้งคำถามผ่านรายงานการศึกษาจากงานวิจัยและหลักฐานอื่นๆ ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนในโรงเรียนกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 (IN-PERSON SCHOOLING AND COVID-19 TRANSMISSION:A REVIEW OF THE EVIDENCE) เพื่อช่วยผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกออกแบบมาตรการที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและสถานการณ์ของโรคระบาด โดยมีคำถามสำคัญในการศึกษา 3 หัวข้อใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรั้วโรงเรียนอีกครั้ง ได้แก่ การเรียนในโรงเรียนสัมพันธ์กับอัตราการแพร่กระจายของโควิด-19 ในชุมชนหรือไม่, เด็กมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงขึ้นจากการไปโรงเรียนหรือไม่ และบุคลากรในโรงเรียนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงขึ้นจากการไปโรงเรียนหรือไม่

ผลสรุปของงานชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2020 มีการอ้างอิงและรีวิววารสารที่ตีพิมพ์แล้ว 20 ฉบับ ทั้งจากการทบทวนวรรณกรรม (reviews of literature), งานวิจัยสังเกตการณ์การเปิดโรงเรียนอีกครั้งของหน่วยงานระดับชาติ (national surveillance studies of re-opened schools), การศึกษาด้านนิเวศวิทยา(ecological studies), การศึกษาการจำลองการแพร่ระบาด (transmission modelling simulation studies) และการศึกษาติดตามกรณีตัวอย่าง (case tracing studies) โดยหยิบยกจากงานของผู้เขียนหลากหลายกลุ่ม ทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิจัยเชิงวิชาการ และองค์กรวิจัยอิสระ

ทั้งนี้ ขอขีดเส้นใต้ไว้ว่าที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ประเทศรายได้สูง และในการวิจัยช่วงต้นยังค่อนข้างมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนโรงเรียนที่กลับมาเปิดอีกครั้ง


เปิดโรงเรียนไม่มีผลกับการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่


จากการศึกษาพบว่าข่าวการรายงานผู้ติดเชื้อในสถานศึกษามีปรากฏเป็นระยะๆ แต่หากเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว การติดเชื้อในโรงเรียนยังไม่ถือว่าเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหญ่ที่มีการระบาดเป็นพิเศษ ยกเว้นกรณีโรงเรียนมัธยมศึกษาในเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอลในเดือนพฤษภาคม 2020 อันเป็นผลจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการลดความรุนแรงในการแพร่ระบาด ขณะที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาพบว่าอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงหลังการปิดโรงเรียนจริง แต่ไม่สามารถแยกออกจากการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่วงกว้างได้  หรือกระทั่งข้อมูลจากการศึกษาการออกแบบกึ่งทดลอง (quasi-experimental design study) ในเยอรมนี พบว่าการปิดและเปิดโรงเรียนอีกครั้งไม่มีหลักฐานว่าอัตราการติดเชื้อลดลงหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

เมื่อดูจากการศึกษาทั่วโลกที่ติดตามการปิดโรงเรียนและข้อมูลการเปิดโรงเรียนใหม่อีกครั้งใน 191 ประเทศ พบว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการเปิดโรงเรียนกับอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน สอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อและการเปิดโรงเรียนใน 32 ประเทศในยุโรปของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (ECDC) ที่เผยว่า “หลักฐานจากการติดตามโรงเรียน และข้อมูลจากการสังเกตหลายประเทศในสหภาพยุโรป สะท้อนว่าการเปิดโรงเรียนไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดในชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ”

นอกจากนี้จากการรีวิวงานวิจัย 47 ชิ้นที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับการแพร่เชื้อจากเด็กสู่ผู้ใหญ่อย่างเป็นระบบ ยังพบว่าความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากเด็กสู่ชุมชนค่อนข้างต่ำอีกด้วย


นักเรียนไม่ใช่กลุ่มหลักในการส่งต่อเชื้อถึงกัน


เมื่อเกิดการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กทำกิจกรรมอยู่ร่วมกัน หลายคนคงวิตกกังวลว่าจะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 แบบแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่จากการศึกษาพบว่า ในรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเพียง 8% เท่านั้น

หลักฐานการเฝ้าสังเกตการณ์ (Surveillance evidence) ในประเทศแถบยุโรปยังสะท้อนให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ติดเชื้อในเด็กยังคงต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากอัตราการติดเชื้อที่ต่ำ อาการไม่รุนแรงหรือเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ดี รายงานของรัฐบาลซึ่งอิงตามระบบเฝ้าระวังระดับประเทศยังพบว่าหลังจากโรงเรียนเปิดใหม่ช่วงซัมเมอร์ในอังกฤษและเวลส์ อัตราการติดเชื้อในหมู่นักเรียนไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรทั่วไป ทั้งนี้ ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อการเปิดเทอมภาคฤดูร้อนในอังกฤษและเวลส์อยู่บนฐานของการเปิดโรงเรียนในจำนวนจำกัด

เอกสาร ECDC ที่อิงจากข้อมูลหลักฐาน 32 ประเทศในยุโรปสรุปว่าการติดต่อระหว่างนักเรียนกับนักเรียนเป็นเรื่องผิดปกติและไม่ใช่สาเหตุหลักของการติดเชื้อในเด็ก ด้านการศึกษาติดตามหลากกรณีตัวอย่างเด็กนักเรียนผู้ติดเชื้อในโรงเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ประเทศฟินแลนด์ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศไอร์แลนด์ และประเทศสิงคโปร์ รวมถึงบางส่วนที่คัดกรองเด็กที่ไม่มีอาการ ก็พบข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในกลุ่มนักเรียนที่ติดเชื้อในโรงเรียน  ยกเว้นรายงานกรณีการระบาดในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งของอิสราเอลที่ไม่ปฏิบัติมาตรการสาธารณสุขอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น และกรณีประเทศอินเดียที่พบว่าการถ่ายทอดจากเด็กสู่เด็กอาจสูงขึ้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในโรงเรียนหรือที่อื่นๆ


ครูยิ้มได้ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ


ไม่เพียงแต่ผู้เรียนที่ถูกเข้าใจผิดว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่ในโรงเรียน คุณครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานศึกษาก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่คนระแวดระวังเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 แต่จากงานศึกษาหลายฉบับพบว่าพวกเขามีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่ที่โรงเรียนเมื่อเทียบกับประชากรผู้ใหญ่ทั่วไป

ยิ่งไปกว่านั้น แม้งานวิจัยจะชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่นั้นสูงกว่าการถ่ายทอดจากเด็กสู่เด็กหรือจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ แต่จากกรณีศึกษาในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อของคุณครูในโรงเรียนยังไม่ได้มีนัยสำคัญ เช่น ข้อมูลของรัฐบาลอังกฤษชี้ให้เห็นว่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วง การติดเชื้อของบุคลากรในโรงเรียนมีจำนวนใกล้เคียงกับแรงงานจากภาคส่วนอื่นๆ  และกรณีศึกษาของผู้ดูแลเด็ก 57,000 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ดูแล

อย่างไรก็ตาม ถึงจะดูเหมือนว่าการติดเชื้อในโรงเรียนมีค่อนข้างต่ำ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการแง้มรั้วโรงเรียนอีกครั้ง คือการดำเนินงานภายใต้มาตรการลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดอย่างไม่ประมาท ไม่ว่าจะผ่านการใช้มาตรการการเปิดทีละขั้น (phased opening), มาตรการสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น เช่น การล้างมือ การใช้เจลทำความสะอาดมือ การใช้หน้ากากอนามัย, การคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิ มาตรการเว้นระยะห่างและการงดกิจกรรมรวมกลุ่มนอกห้องเรียน

สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 อย่างรุนแรง มีการตรวจพบคลัสเตอร์ที่มาจากโรงเรียน โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาและสถานประกอบศาสนกิจในศูนย์มัรกัสยะลา หรือศูนย์ดะวะห์ จังหวัดยะลา ซึ่งเชื่อมโยงกับคนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักร้อย การเปิดโรงเรียนใหม่จึงอาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจเรื่องวิธีจัดการเรียนรู้ไปควบคู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world