บทเรียนจากจีนถึงไทยเมื่อความยืดหยุ่นคือหัวใจของการเรียนรู้ในยุคโควิด-19

บทเรียนจากจีนถึงไทยเมื่อความยืดหยุ่นคือหัวใจของการเรียนรู้ในยุคโควิด-19

เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 เป็นแห่งแรกของโลก นอกจากต้องเดินหน้าหามาตรการรับมือ แนวทางป้องกันรักษา และการสกัดกั้นยับยั้งการระบาด

อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลจีนก็คือ การต้องหาวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนให้เด็กนักเรียนหลายร้อยล้านคนทั่วประเทศ ให้สามารถเรียนหนังสือได้ตามปกติ แม้ในวันที่ห้องเรียนไม่อาจเปิดได้ตามปกติอีกต่อไป 

เพราะตระหนักดีว่า ห้องเรียนที่ต้องชะงักงันไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้จะต้องหยุดชะงักตามไปด้วย (Disrupted Classes, Undisrupted Learning)

ศาสตราจารย์ ดร.หรง เหว่ยหวาง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด (Smart Learning Institute) แห่ง Beijing Normal University ในกรุงปักกิ่งของจีน ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์วิธีการการเรียนการสอนของจีน ตลอดช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์กับทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

โจทย์ใหญ่ที่ได้รับก็คือ ทำอย่างไรเด็ก ๆ จึงจะสามารถศึกษาหาความรู้ และครูก็สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุดเพราะโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น 

คำตอบที่ได้ก็คือ “ความยืดหยุ่น” โดยมี “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” เป็นอาวุธหรือเครื่องมือในการทำงาน ควบคู่กับนโยบายทางการศึกษาที่มุ่งเน้นดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของครูและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แนวทางคุ้มครองสนับสนุนครู มาตรการช่วยเหลือเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และจัดพื้นที่มหาวิทยาลัยเปิดเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ศาสตราจารย์ ดร.หรง เหว่ยหวาง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด (Smart Learning Institute) แห่ง Beijing Normal University ในกรุงปักกิ่งของจีน

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษาจีน

ทั้งนี้ ดร.หรง เหว่ยหวาง อธิบายว่า ระบบการศึกษาจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการของจีน (MOE) ต้องเร่งปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอน ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรอิสระ บริษัทเอกชน และภาคประชาสังคม 

เมื่อไม่สามารถไปเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้ สิ่งที่ทางการจีนทำก็คือการหันเข้าหาระบบการเรียนทางไกลหรือการเรียนออนไลน์  โดยอาศัยหลักคำแนะนำของ Tony Bates ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษา ประกอบด้วย 

1) รับฟังคำแนะนำช่วยเหลือจากมืออาชีพ 2) เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 3) ทำงานอย่างเป็นระบบ 4) เลี่ยงการบรรยายยาวนาน 5) ควบคุมปริมาณงานและการบ้านเด็กไม่ให้มากเกินไป 6) แบ่งบทเรียน ไม่บรรยายเนื้อหาทั้งหมดในคราวเดียว 7) อุทิศทุ่มเทพยายามในทุกสถานการณ์ และ 8) เสาะหาทรัพยากรเพิ่มเติม 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็หันกลับมาดูเทคโนโลยีและระบบทางการศึกษาที่ตนเองมี ก่อนพบว่า สิ่งที่จีนมีพร้อมอยู่แล้วก็คือคลังความรู้ออนไลน์ที่เรียกว่า ทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิด (Open Educational Resources: OER) ทำให้ครูและนักเรียนมีแหล่งความรู้ให้เข้าไปศึกษาได้ และระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ช่วยให้เด็กในทุกพื้นที่ ครอบคลุมถึงหมู่บ้านตามชนบทห่างไกลและยากจน มีช่องทางในการเข้าถึงคลังความรู้จากนอกห้องเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเข้าใจดีว่าบริบทเงื่อนไขของผู้เรียนและผู้สอนมีไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน  การเรียนออนไลน์จึงไม่อาจมีแนวทางปฏิบัติที่ตายตัวได้ จำเป็นต้องใช้การเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมของผู้เรียนเป็นหลัก พร้อมด้วยรูปแบบการสอนหลากหลาย เนื้อหาข้อมูลที่คัดสรรมาแล้ว และทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิด ภายใต้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่นำโดยรัฐบาล  และเน้นโรงเรียนเป็นฐาน โดยมีทุกหน่วยในสังคม รวมถึงโรงเรียน ชุมชน และครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม

หลักการสอนแบบยืดหยุ่นด้วย 3E

เมื่อถูกถามว่าหลักการสอนแบบยืดหยุ่นต้องเป็นอย่างไร? ดร.หรง เหว่ยหวาง อธิบายด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ Easy, Engaged และ Effective คือ สะดวก มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ 

โดยเป็นยุทธศาสตร์การศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ให้ผู้เรียนมีทางเลือกเพิ่มเติมในปัจจัยสำคัญของการศึกษา เช่น เวลาและสถานที่เรียน ทรัพยากรการเรียนการสอน แนวทางการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ โดยที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

สำหรับคำว่า สะดวก (Easy) สื่อถึงความง่ายในการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากไม่สามารถเดินทางมายังห้องเรียนได้  ตัวโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายการสื่อสาร ระบบออนไลน์ และอินเทอร์เน็ตต้องครอบคลุมและทั่วถึง

รัฐบาลจีนได้ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ทั้งหมด (China Mobile, China Telecom, China Unicom) ในการขยายพื้นที่ให้บริการสัญญาณ เดินหน้าเพิ่มแบนด์วิธเครือข่ายของมหาวิทยาลัยและโรงเรียน และใช้หลักสูตรทางไกล (Tele-courses) ผ่านสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแห่งชาติจีน (China Education Television: CETV) 4 ช่องเพื่อเผยแพร่เนื้อหาหลักสูตรสำหรับห้องเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาในกลุ่มผู้เรียนห่างไกลที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือเคเบิลทีวี ตลอดจนการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงห้องเรียนออนไลน์หรือคลังความรู้ออนไลน์ ขณะที่การมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพ (Engaged และ Effective) ทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ แนวทางการเรียนการสอนที่มีอยู่นั้นสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลและโรงเรียนต้องจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผสมผสาน และประยุกต์ให้เข้ากัน โดยมีทั้งการบรรยายออนไลน์ การประชุมหารือออนไลน์ การอภิปรายใน Webinar การใช้เกมและการแข่งขัน การทดลองและระบบจำลองเสมือน การฝึกปฏิบัติเป็นกลุ่ม กรณีศึกษา และการระดมความคิด

ดร.ชาล

ปรับบทบาทผู้เรียนสู่โหมด Active Learner

แม้จะเตรียมทุกอย่างให้พร้อมเพียงใด แต่ ดร.หรง เหว่ยหวาง ยอมรับว่า เมื่อได้ลงมือทำแล้วก็มีประเด็นข้อติดขัดให้ต้องคอยปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยเก็บข้อมูล เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่จะกลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตัวผู้เรียนรายบุคคลอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีระบบ หลักสูตร เทคโนโลยี เครื่องมือ และสื่อการสอนที่ดีเพียงใด สิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่ควรลืมก็คือ ตัวผู้เรียนเอง เพราะการเรียนออนไลน์ที่บ้าน สุดท้ายแล้วก็ไม่เหมือนการเรียนที่ห้องเรียน จำเป็นจะต้องมีวินัยในการเรียนที่สูงมาก  ต้องปลุกพลังให้ตัวเองมีความกระตือรือร้น มีความกระหายใคร่รู้ที่จะเรียนหนังสือได้ด้วยตนเอง

คุณบัณฑิต ปัททวีคงคา

Active Learner จะต้องลงมือจัดตารางการเรียนและการพักผ่อนคลายด้วยตนเอง เป็นผู้เลือกทรัพยากรการเรียนรู้แบบออนดีมานด์ (On Demand) รู้จักเรียนรู้และเล่นเป็นทีม ลงมือทำกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ เดินหน้าตรวจสอบคุณภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง และทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปอย่างสม่ำเสมอ

ลำพังกระทรวง โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนผู้เรียน ย่อมไม่อาจเข้าสู่โหมด Active Learner อย่างที่ตั้งใจไว้ หากปราศจากความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน และคนรอบข้าง ดังนั้นตลอดช่วงเวลาที่เด็กต้องเรียนทางไกล ทางการและโรงเรียนยังได้เข้ามาสนับสนุนให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม ทำความเข้าใจกับการเรียนของเด็ก และรับบทบาทสนับสนุนการเรียนของบุตรหลาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดร.หรง เหว่ยหวาง ย้ำว่า การเป็น Active Learner ที่ดีก็คือ การสร้าง Inner Learner คือทำให้ผู้เรียนปรารถนาที่จะเรียนจากภายใน แม้ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน ตัวผู้เรียนก็สามารถสร้างสภาวะการเรียนรู้ที่ดีสำหรับตนเองขึ้นมาได้ รัฐต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนไม่คิดยอมแพ้เมื่อเผชิญอุปสรรค และทำให้เห็นว่า การเผชิญหน้ากับปัญหาและพยายามหาทางแก้ไข จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จได้มากขึ้น 

คุณวิริยะ ลือชัยพาณิชย์

“ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบแอคทีฟ (Active Learning) จะทำกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้ การสื่อสาร และการเล่นสนุกเป็นศูนย์กลางหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งในส่วนนี้ทางภาครัฐได้มีความร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เรียนอย่างเต็มที่” 

นอกจากนี้รัฐยังจัดทำคู่มือเพื่อให้คำแนะนำในเรื่องของวิธีการ สถานการณ์ หรือรูปแบบการเรียนรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ ให้ผู้เรียน ครูผู้สอน และพ่อแม่ผู้ปกครองได้ทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถประเมินความพยายามของผู้เรียนและให้รางวัลความสามารถของผู้เรียนในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยพัฒนา หล่อหลอมพฤติกรรมการเป็นคนใฝ่รู้จากภายในในระยะยาวต่อไป

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงและองค์ประกอบสนับสนุนความยืดหยุ่นทางการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา โดยเฉพาะรูปแบบที่จะต้องดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง มีประเด็นหลักที่ต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบรอบด้านอยู่ 7 ประการด้วยกัน 

1) พื้นที่เรียนรู้ที่ผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ 
2) สถานศึกษาที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน
3) ต้นแบบหลักสูตรสำหรับการสอนแบบยืดหยุ่น 
4) บทบาทของครูในสภาพแวดล้อมที่คนและเครื่องจักรทำงานร่วมกัน
5) การประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้ Big Data, Blockchain และ AI 
6) การพัฒนาความรู้เท่าทันและทักษะการใช้สารสนเทศในยุคดิจิทัล  
7) ระบบการศึกษาแบบใหม่บนพื้นฐานของการตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน  

คุณสนิท แย้มเกสร

องค์ประกอบที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์แบบยืดหยุ่น 

1) ใช้ออนไลน์สร้างความยืดหยุ่น 
2) สร้างโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายออนไลน์ที่เสถียรและเชื่อถือได้ 
3) หาและใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน 
4) เลือกใช้ทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างเหมาะสม 
5) อำนวยความสะดวกให้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
6) สนับสนุนและให้บริการครูและนักเรียนอย่างเต็มที่ 
7) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล หน่วยงาน และโรงเรียนต่าง ๆ อย่างเต็มที่

นอกจากนี้เพื่อให้รูปแบบการเรียนการสอนได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ดร.หรง เหว่ยหวาง ยังได้กล่าวถึงการเปิดพื้นที่ความร่วมมือระหว่างจีนกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ 

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ฝากถึงข้อควรระวัง  ที่อาจเป็นปัญหาแฝงตัวมากับการเรียนออนไลน์ ก็คือการใช้ช่องทางออนไลน์มุ่งเน้นไปที่การกวดวิชาเป็นหลัก ทำให้แทนที่จะสร้าง Active Learner ก็กลายเป็นการทำให้ผู้เรียนเป็นเครื่องจักรเพื่อการสอบแข่งขันแทน 

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลีย เสริบุตร

ท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และการสร้างระบบนิเวศแบบ Smart Education ที่ผู้เรียนผู้สอนมีความเข้าใจดิจิทัลและสังคมโลกยุคดิจิทัล ภายใต้ระบบการศึกษาแบบเปิดที่ใช้นวัตกรรม ได้รับการสนับสนุนโดย AI และ Big Data และมีการประเมินการเรียนการสอนที่หลากหลายและแม่นยำได้


(หมายเหตุ: ประมวลสรุปและเรียงเรียงจากงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้หัวข้อ Reviewing the quality and Resilience of Education: Chinese Experience on Flexible learning in the time of COVID-19 (Reviewing the quality and Resilience of Education: Chinese Experience on Flexible learning in the time of COVID-19)  

(วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564  13.30-15.30 น.)