‘การศึกษาคือการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน’ บทบาทภาคเอกชนสามารถสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียน
สมัชชา พรหมสิริ : บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

‘การศึกษาคือการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน’ บทบาทภาคเอกชนสามารถสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียน

ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 29 เมษายน 2567 คุณสมัชชา พรหมสิริ ผู้บริหารบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมนำเสนอถึงบทบาทภาคเอกชนในการสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียน โดยกล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนผู้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าทุกภาคส่วนล้วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และพร้อมเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นำมาซึ่งความตั้งใจของแสนสิริในการเดินหน้าโครงการ ‘ราชบุรี Zero Dropouut’ ร่วมกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อจุดประกายให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไปด้วยกัน

คุณสมัชชา นำเสนอว่า กลไกสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่แสนสิริร่วมออกแบบกับ กสศ. โครงการราชบุรี Zero Dropouut นั้น เป็นการทำงานในลักษณะพื้นที่นวัตกรรม หรือ Sand Box โดยเริ่มจากการออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาทนำมาใช้ขับเคลื่อนงานตามเป้าหมาย พร้อมใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับงานด้านการศึกษาจาก กสศ. ในการระดมทุนเพื่อสร้างระบบดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในจังหวัดราชบุรี ภายในกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยหวังว่าจะพบแนวทางสร้างโอกาสทางการศึกษา และลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘ศูนย์’

“ตลอดสามปีเราพบว่าหนทางที่ยั่งยืนและเป็นไปได้ที่สุด คือต้องมีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบโจทย์ชีวิตของเด็กเยาวชนที่หลากหลาย รวมถึงสามารถเชื่อมโลกการเรียนรู้กับการทำงานเข้าด้วยกัน หรือเป็นการสร้างและพัฒนาโครงข่ายของระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ไม่เพียงสอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้เรียน หากยังต้องตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคธุรกิจเอกชนด้วย โดยนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็น 1 นวัตกรรมที่ กสศ. ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดราชบุรีนำมาใช้ และทำให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเสียสละของเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงครูทุกท่าน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างไม่ต้องยึดติดอยู่กับการศึกษาเพียงลู่เดียว หรือการวัดประเมินผลด้วยมาตรฐานเพียงแบบเดียว”

คุณสมัชชา กล่าวว่า โมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบที่เกิดขึ้นผ่านโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดราชบุรี เป็นนวัตกรรมความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาที่หลายฝ่ายช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น (Co – Creation For Education) โดยหวังว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและขยายผลออกไปทั่วประเทศ

“ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ขอขอบคุณไปยังภาคนโยบายคือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนนวัตกรรมการศึกษาที่ทุกคนในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีส่วนพัฒนาขึ้น แสนสิริยินดีอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยร่วมกับทุกฝ่าย และยังคงเชื่อมั่นในเป้าหมายว่า อนาคตประเทศไทยจะไม่มีเด็กเยาวชนคนไหนร่วงหล่นจากระบบการศึกษา และจะมีระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กทุกคนให้ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพต่อไป”