เด็กฝึกงาน = แรงงานฟรีถูกกฎหมาย(?) : เปิด พ.ร.บ.ฝึกงานเพื่อปูทางให้ผู้ฝึกงานมีตัวตน
โดย : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพถ่าย : อุชุกร เกาะสมุทร / ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

เด็กฝึกงาน = แรงงานฟรีถูกกฎหมาย(?) : เปิด พ.ร.บ.ฝึกงานเพื่อปูทางให้ผู้ฝึกงานมีตัวตน

เป็นแค่นักศึกษาก็ไม่ใช่ จะมีสถานะเทียบเท่าพนักงานก็ไม่เชิง ทุ่มเททำงานแทบตาย สุดท้ายไม่ได้ค่าตอบแทนสักบาท หรือไปฝึกงานเพราะอยากได้ประสบการณ์ต่อยอดหลังเรียนจบ แต่งานที่ได้ทำจริงกลับมีแค่ชงกาแฟ ช่วยยกของ และถ่ายเอกสาร เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ใครหลายคนที่ผ่านการมีสถานะเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ต้องพบเจอกันมาไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง

ขึ้นชื่อว่าเป็นการฝึกงาน นักศึกษาหลายคนย่อมคาดหวังว่าจะได้ลองทำงานจริงในบริษัทที่ใฝ่ฝัน ทว่าเมื่อไม่มีกฎหมายระบุสถานะของนักศึกษาฝึกงาน ซ้ำยังไม่มีข้อกำหนดเป็นมาตรฐานชัดเจนในการดูแลและให้ค่าตอบแทนผู้ฝึกงาน สถานประกอบการ (ไม่ใช่ทั้งหมด) จึงใช้ช่องโหว่นี้รับเอานักศึกษาฝึกงานมาเป็นแรงงานฟรีที่ถูกกฎหมาย สุดท้ายกลายเป็นว่านอกจากจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน นักศึกษาบางคนยังได้รับบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจกลับไปใส่เป็นหนึ่งในผลงานบนพอร์ตโฟลิโออีกต่างหาก

เมื่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ฝึกงานนับวันยิ่งย่ำแย่ลง จึงนำมาสู่การร่วมมือกันจัดทำข้อเสนอการยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย ระหว่างทีมงานจากปีกแรงงานพรรคก้าวไกลกับศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ที่จะผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการฝึกงานเพื่อให้คุณภาพชีวิตและมาตรฐานการฝึกงานในประเทศไทยดียิ่งขึ้นกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในช่วงกลางปีอันเป็นเวลาเปิดฉากมหกรรมการฝึกงาน 101 พูดคุยกับ เกศนคร พจนวรพงษ์ ผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย จากพรรคก้าวไกล, ณปกรณ์ ภูธรรมะ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ถึงหลักคิดและเป้าประสงค์ของการจัดทำข้อเสนอดังกล่าว ไปจนถึงการสนทนากับอดีตนักศึกษาฝึกงาน ถึงร่องรอยบาดแผลที่การฝึกงานภายใต้ช่องโหว่ทางกฎหมายได้ฝากไว้กับพวกเขา

เสียงสะท้อนจากเด็ก(เคย)ฝึกงาน

คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า ‘การฝึกงาน’ เป็นบันไดก้าวแรกสู่การทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานแบบเก็บหน่วยกิตตามหลักสูตร ฝึกงานแบบสหกิจศึกษา หรือฝึกงานด้วยความสมัครใจของตัวนักศึกษาเอง และคงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าเมื่อความต้องการฝึกงานของเด็กใกล้เรียนจบเพิ่มมากขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ก็มีบางองค์กรที่เลือกใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่ได้นับรวมเอา ‘นักศึกษาฝึกงาน’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ระบบแรงงาน’ มาใช้เอารัดเอาเปรียบผู้ฝึกงานมากเท่าที่จะทำได้

แพรวา (นามสมมติ) นักศึกษา(เคย)ฝึกงานตำแหน่งนักเขียน บอกเล่าถึงบาดแผลที่การฝึกงานฝากไว้ในความทรงจำของเธอ จากความคาดหวังก่อนเริ่มฝึกงานว่าจะได้รับโอกาสฝึกปรือฝีมือการเขียนของตัวเอง กลับกลายเป็นบาดแผลในใจและประสบการณ์ที่บั่นทอนความมั่นใจที่เธอมี

“เรารู้สึกว่าตัวเองโดนเอาเปรียบมากๆ เพราะเกินครึ่งของจำนวนงานทั้งหมดที่เราต้องเขียนให้บริษัท เป็นบทความโฆษณา (advertorial) ทั้งหมดเลย ซึ่งบทความแบบนี้คืองานที่หาเงินเข้าบริษัท เราเลยรู้สึกไม่โอเคที่เราเป็นคนเขียนงานนั้นทั้งหมด แต่เราไม่ได้ค่าตอบแทนจากงานเหล่านั้นสักบาทเลย”

“การที่เราต้องทำงานที่บริษัทสั่งมาโดยที่เราไม่ได้ค่าตอบแทนสักบาท พูดตรงๆ มันคือการเอาเปรียบเด็กฝึกงานนะ เพราะงานแบบนี้คือการออกแรงของเราเหมือนกัน ที่สุดแล้วมันคืองานที่เอาไปส่งลูกค้าเพื่อจะได้เงินเข้าออฟฟิศ อีกอย่างคือสถานะของเรากับพี่ฝึกงานไม่เท่ากันอยู่แล้ว อำนาจต่อรองก็ไม่มีทางเท่ากับเขา ตอนนั้นเราไม่มีสิทธิต่อรองเลยด้วยซ้ำว่าเราไม่อยากทำหรืออยากทำอะไร”

“เรารู้สึกว่าอย่างไรการฝึกงานก็ควรได้ค่าตอบแทน จะได้มากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม แต่อย่างน้อยบริษัทต้องให้บ้าง อย่างงาน advertorial ที่เราทำ ให้ค่าตอบแทนเราสัก 50% จากเรตค่าจ้างทั่วไปเราก็โอเคแล้ว ในแง่หนึ่งการให้ค่าตอบแทนคือการให้คุณค่าแรงงาน เพราะสุดท้ายเด็กฝึกงานก็คือแรงงานคนหนึ่ง”

“บางคนบอกว่าผลตอบแทนของการฝึกงานก็คือประสบการณ์ไง แต่ประสบการณ์ที่เราได้รับจากการฝึกงานคือประสบการณ์ที่โคตรซัฟเฟอร์และส่งผลต่อสภาพจิตใจเรามาก พูดได้เต็มปากว่าเรารู้สึกกดดันและเครียดเพราะต้องทำงาน advertorial ที่มีความคาดหวังต่างจากงานเขียนทั่วไป มันเป็นงานที่มีกรอบปิดกั้นความคิดของเราอยู่ สุดท้ายการฝึกงานครั้งนั้นทำให้เราไม่มั่นใจกับความสามารถในการเขียนของตัวเองไปเลย แล้วนี่หรือคือประสบการณ์ที่คุณบอกว่าเราควรได้”

กวิน (นามสมมติ) นักศึกษาจบใหม่ผู้เคยฝึกงานตำแหน่ง content creator และ graphic designer แลกเปลี่ยนความในใจถึงความยากลำบากในการฝึกงานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายใดๆ จากสถานประกอบการ แม้ต้องลงทุนลงแรงในการทำงานนานกว่าสามเดือนเต็ม รวมถึงความเห็นของเขาถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาฝึกงานควรได้รับ

“เราฝึกงานคาบเกี่ยวกับช่วงเลือกตั้งพอดี โปรเจ็กต์ที่เรารับผิดชอบเลยต้องทำแข่งกับเวลา ช่วงใกล้เลือกตั้งเราต้องทำงานดึกดื่น ได้กลับบ้าน ตี 1-2 และต้องเรียกรถกลับบ้านเอง บริษัทไม่ให้เราแม้แต่ค่าเดินทางกลับบ้าน”

“เรารู้สึกว่าอย่างน้อยการฝึกงานควรได้เงินค่าตอบแทนบ้าง สำหรับเราไม่จำเป็นต้องให้ถึงหลักหมื่นแบบพนักงานประจำ เราไม่ได้อยากได้เยอะแยะเลยด้วยซ้ำ เอาจริงๆ บริษัทให้ขั้นต่ำวันละ 100 เราโอเคแล้ว ขอแค่ค่าเดินทางก็ได้ ทุกคนก็รู้กันดีว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ ทั้งค่าแท็กซี่หรือรถไฟฟ้าแพงขนาดไหน แค่จะนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปหน้าปากซอยก็จ่ายอย่างต่ำ 20 บาทแล้ว”

“การทำงานของเราเป็นแค่การฝึกงานก็จริง แต่สิ่งที่เราทำทั้งหมด ผลงานทุกชิ้นที่เราทำมันออกไปสู่ตลาดจริงๆ และบางชิ้นให้ผลกำไรทางธุรกิจกับบริษัทด้วย แต่เงินตรงนั้นมาไม่ถึงเราเลย พอเป็นแบบนี้บอกตรงๆ เรารู้สึกไม่แฟร์ เท่ากับว่าเรากำลังทำงานฟรีให้บริษัท ซึ่งในโลกของการทำงานทุกคนคงคิดเหมือนกันว่าการทำงานฟรีเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตราบใดที่ระหว่างฝึกงานเรายังต้องกินข้าว ยังต้องเดินทาง มิหนำซ้ำบางคนต้องเช่าหออยู่เพื่อจะฝึกงาน เราก็ยังต้องการเงินจากการทุ่มเททำงาน”

“การที่เราต้องอยู่ในองค์กรหนึ่งเป็นเวลา 2-3 เดือน คือการที่เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงของการทำงานนะ บริษัทอาจมองว่าเราเป็นแค่เด็กฝึกงาน ไม่ใช่พนักงานของเขา แต่อย่าลืมว่าเด็กฝึกงานที่ก้าวเข้าไปในออฟฟิศของคุณต้องสวมบทบาทของพนักงานจริง เราต้องทำงานจริงๆ ต้องปรับตัวกับองค์กรนั้น ต้องศึกษางานของบริษัท นี่ไม่เรียกว่าเป็นการทำงานจริงๆ อีกหรือ แต่ทำไมเรากลับไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย”

“และการที่เราได้รับค่าตอบแทนจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทางจิตใจให้เราอยากทุ่มเททำงานเพื่อองค์กรมากขึ้น เพราะยิ่งบริษัทปฏิบัติกับเราดีเท่าไหร่ เราก็ยิ่งอยากทำงานให้เขามากขึ้นเท่านั้น”

สายฟ้า (นามสมมติ) นักศึกษาที่เคยฝึกงานตำแหน่ง art director ของบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่ง สายฟ้าเล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องเช่าหอพักบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไปจากต่างจังหวัด ทว่าเมื่อเขาต้องไปฝึกงานตามหลักสูตรบังคับของสถาบัน ปรากฏว่าสายฟ้าต้องไปเช่าหอพักที่อยู่ใกล้กับที่ฝึกงานต่างหากอีกที่หนึ่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้เขาต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองทั้งสิ้น เนื่องจากบริษัทที่ฝึกงานไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แม้แต่ค่าเดินทาง

“ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ตอนเรียนเราก็ต้องเช่าหอแถวมหาวิทยาลัย ทีนี้ตอนฝึกงาน บริษัทที่เราฝึกไม่ได้อยู่แถวมหาวิทยาลัย เราเลยต้องออกไปเช่าหออีกที่หนึ่งที่อยู่ใกล้บริษัท หารค่าหออยู่กับเพื่อนอีกสี่คนที่ฝึกงานแถวนั้นเหมือนกัน แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าหอแถวมหาวิทยาลัยที่เดิมต่อไปด้วย เพราะตอนนั้นยังเรียนไม่จบ”

“เราต้องยอมจ่ายค่าหอทั้งสองที่พร้อมๆ กัน เพราะเราไม่สามารถเดินทางไกลๆ เป็นชั่วโมงทุกวันได้ มันเหนื่อยมาก ค่าน้ำมันก็แพง ค่าเดินทางในกรุงเทพฯ จะทางไหนก็แพง อย่างน้อยที่สุดเราอยากให้บริษัทมีค่าเดินทางให้”

แม้ประสบการณ์จากแพรวา กวิน และสายฟ้า จะเป็นเพียงเสียงสะท้อนเล็กๆ จากจำนวนนักศึกษาฝึกงานทั้งหมด ทว่าเรื่องราวของพวกเขานับเป็นความจริงอันน่าเศร้าที่เด็กฝึกงานอีกหลายคนได้พบเจอไม่ต่างกัน และในความเป็นจริงยังมีนักศึกษาฝึกงานอีกมากที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งยังอาจไม่มีพลังมากพอจะส่งเสียงเรียกร้องของตัวเองออกมา การผลักดันข้อเสนอยกระดับมาตรฐานการฝึกงานจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเหลือบรรดาผู้ฝึกงานในไทย

‘พ.ร.บ.การฝึกงาน’ มีมากกว่าแค่การให้เงิน

จากการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานาของผู้ฝึกงาน สู่วันที่มีการร่างข้อเสนอเพื่อยกระดับมาตรฐานการฝึกงาน เกศนคร พจนวรพงษ์ ผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย พรรคก้าวไกล เริ่มต้นอธิบายว่าข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทยเริ่มต้นจากข้อร้องเรียนของนักศึกษาฝึกงานและนักเรียนอาชีวะที่คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของผู้ฝึกงานที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เธอจึงเล็งเห็นว่าถึงเวลาเสียทีที่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ฝึกงาน ทางพรรคก้าวไกลจึงนำข้อร้องเรียนเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นมาตรฐานข้อเสนอยกระดับคุณภาพการฝึกงานในประเทศไทย โดยมีทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.จัดทำพระราชบัญญัติการฝึกงาน เพื่อคุ้มครองผู้ฝึกงานทั้งนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี และนักเรียนอาชีวศึกษา

2.นายจ้างจะต้องทำประกันคุ้มครองให้แก่ผู้ฝึกงาน เพื่อรับรองความปลอดภัยและเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตการฝึกงาน

3.ผู้ฝึกงานสามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านแรงงานสัมพันธ์และการรวมกลุ่มกันของผู้ฝึกงานในการต่อรองกับนายจ้าง

4.มีการลงทะเบียนเป็นสถานประกอบการที่สามารถเปิดรับผู้ฝึกงานได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบให้สถานประกอบการมีคุณภาพเพียงพอที่จะสามารถรับผู้ฝึกงานได้ และมีการตรวจสอบการฝึกงานให้เป็นไปตามมาตรฐานตลอดกระบวนการฝึกงาน จากทางสถานศึกษาที่เป็นผู้ประสานกับทางสถานประกอบการนั้นๆ

5.มีการจัดสอบเพื่อวัดผลของผู้ฝึกงานภายหลังเสร็จสิ้นการฝึก เพื่อรับรองว่าผู้ฝึกงานมีคุณภาพเพียงพอในการประกอบอาชีพ และเป็นการประเมินผลการฝึกงานของแต่ละสถานประกอบการอีกด้วย

6.โครงการค่าจ้างผู้ฝึกงานคนละครึ่ง รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการในการจ่ายค่าจ้างงานให้แก่ผู้ฝึกงาน

เกศนคร พจนวรพงษ์
ผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย พรรคก้าวไกล

“ปัญหาที่เด็กฝึกงานเจอคือการที่กฎหมายไทยไม่เคยบัญญัติว่า ‘ผู้ฝึกงาน’ คือใครและอยู่ในสถานะไหนในสังคม ทำให้ทุกวันนี้เด็กฝึกงานในประเทศไทยเหมือนไม่มีตัวตน พอไม่มีตัวตนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ไม่เคยมีการกำหนดว่าเด็กฝึกงานควรทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน ควรมีเวลาพักเท่าไหร่ หรือถ้ามีกรณีที่เด็กฝึกงานถูกล่วงละเมิดขึ้นมา เราจะใช้กฎหมายหรือข้อบังคับตัวไหนมาช่วยเหลือเขา คำตอบตอนนี้คือไม่มีเลย เพราะแม้แต่กฎหมายแรงงานก็ไม่สามารถใช้กับเด็กฝึกงานได้” 

“เรื่องร้องเรียนที่อันตรายที่สุดเท่าที่เราได้รับฟังมา คือกรณีที่นักเรียนอาชีวะฝึกงานในโรงงาน แล้วเกิดความผิดพลาดในการทำงานบางอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขานิ้วขาดและไม่ได้รับการดูแลจากบริษัท เพราะในไทยไม่มีกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าบริษัทต้องชดเชยอย่างไร แล้วลองคิดดูว่ายังมีอีกกี่กรณีที่เด็กฝึกงานได้รับอุบัติเหตุหรือแม้แต่เสียชีวิตแล้วไม่ปรากฏออกมาหน้าสื่อ ยังมีเด็กฝึกงานอีกกี่คนที่ตกหล่นจากการคุ้มครองแล้วเราไม่รู้” เกศนครกล่าว

นอกจากนี้ เกศนครเสริมว่าข้อเสนอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาในสี่ด้าน ได้แก่ การคุ้มครองผู้ฝึกงาน พัฒนาประสิทธิภาพในการฝึกงาน เพิ่มโอกาสให้กับผู้ฝึกงานในการเข้าถึงสถานประกอบการ และการลดอัตราการว่างงานในประเทศไทย เพราะนอกจากการยกระดับการฝึกงานในประเทศไทยจะส่งผลดีโดยตรงต่อตัวผู้ฝึกงานเองแล้ว ก็มีผลให้สถานประกอบการมีโอกาสได้รับผู้ฝึกงานที่มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมีผลต่อสังคมในการลดอัตราว่างงานของนักศึกษาจบใหม่

เกศนครคาดหวังว่าข้อเสนอนี้จะทำให้สังคมให้คุณค่ากับผู้ฝึกงานในฐานะแรงงานคนหนึ่งมากขึ้น และช่วยขจัดความคิดที่ว่าผู้ฝึกงานเป็นเสมือนแรงงานฟรีที่ถูกกฎหมาย เพราะแม้แต่ผู้ฝึกงานก็ล้วนมีต้นทุนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ทักษะที่ฝึกในระหว่างเรียน หรือแม้กระทั่งร่างกายที่ต้องใช้ทำงาน เธอเชื่อมั่นว่าการพัฒนามาตรฐานการฝึกงานจะสะท้อนผลในวงกว้างได้ คือการเพิ่มอำนาจให้กับผู้ฝึกงาน และทำให้สังคมตระหนักมากขึ้นว่าทุกการทำงานล้วนควรได้รับค่าตอบแทน

“มีข้อเสนอที่ให้นักศึกษาฝึกงานรวมตัวเป็นสหภาพได้ เพื่อป้องกันกรณีเด็กฝึกงานไม่กล้าเรียกร้องเมื่อตัวเองถูกละเมิดสิทธิ เพราะกลัวว่าพูดไปแล้วบริษัทจะไล่ออก แล้วเขาจะเรียนไม่จบ เรามองว่าบริษัทมีข้อต่อรองเยอะมากที่จะทำให้เด็กฝึกงานไม่กล้าส่งเสียงตัวเองออกไป ดังนั้นกลไกสหภาพแรงงานจึงจำเป็นมากๆ เพราะสามารถปกป้องคุ้มครองคนที่อยู่ในสหภาพไม่ให้ถูกรังแกได้”

“ทุกวันนี้เราจะเห็นกันบ่อยๆ ว่านายจ้างเอาเด็กฝึกงานไปชงกาแฟหรือถ่ายเอกสารไปวันๆ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์กับใครเลย หรือในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นบางบริษัทไม่มีลูกจ้างประจำ มีแต่เด็กฝึกงาน พอฝึกงานเสร็จก็รับเด็กฝึกงานชุดใหม่เข้าเรื่อยๆ ซึ่งพื้นฐานของการที่ผู้ฝึกงานถูกปฏิบัติเหมือนแรงงานฟรีจะส่งต่อวัฒนธรรมแปลกๆ เช่น ความคิดว่าการฝึกงานเป็นการทำงานที่ไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ แค่ได้ประสบการณ์ก็พอ ซึ่งเรายืนยันว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง” เกศนครเสริม

ณปกรณ์ ภูธรรมะ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ เสริมต่อว่าข้อเสนอการจัดทำ พ.ร.บ.การฝึกงาน เป็นข้อเสนอที่จะดึงให้ผู้ฝึกงานได้รับการคุ้มครองเทียบเท่ากับแรงงานในระบบ โดยณปกรณ์สรุปใจความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติไว้ทั้งหมด 9 ข้อ 

1.ต้องให้มีหลักประกันให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ฝึกงาน สถานประกอบการ และสถานศึกษา ต้องระบุขอบเขตการทำงานในสัญญาให้ชัดเจน โดยระบุถึงรายละเอียดการทำงานเช่นเดียวกับสัญญาจ้างในการทํางานจริง

2.ระยะเวลาการฝึกงานไม่น้อยกว่า 2 เดือนและไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นนักศึกษาฝึกงานที่มีเงื่อนไขเฉพาะ โดยมีเวลาทํางานไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง และไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากลูกจ้างทํางานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง

3.วันหยุดประจําสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน 

4.นักศึกษาฝึกงานสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้โดยไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ หากระยะเวลาการลาไม่เกิน 3 วัน 

5.ความปลอดภัยในการฝึกงาน ห้ามมิให้ผู้ฝึกงานทํางานในพื้นที่และรายละเอียดงานที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย และกำหนดสถานที่ห้ามฝึกงาน เช่น บ่อนการพนัน

6.ค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คิดเป็นรายชั่วโมง ขั้นต่ำ 50 บาทต่อชั่วโมง 

7.ผู้ฝึกงานต้องมีสิทธิได้รับการประกันภัยเทียบเท่ากับแรงงานในระบบ

8.ผู้ฝึกงานสามารถรวมตัวหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้

9.ต้องมีการประเมินการฝึกงานอย่างชัดเจนและเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกงาน

ณปกรณ์ ภูธรรมะ
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ

“เวลาพูดถึง พ.ร.บ.การฝึกงาน ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงแค่ประเด็นการให้เงินนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งในความเป็นจริงผมอยากให้สังคมให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า พ.ร.บ.การฝึกงาน จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้นักศึกษาฝึกงานอยู่ในการคุ้มครองแบบเดียวกับแรงงานทั่วไปในระบบ” 

“ประเด็นหลักของ พ.ร.บ.การฝึกงานมีสองอย่าง คือการเปลี่ยนให้หัวใจหลักของฝึกงานเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างสำนึกการให้ความสำคัญกับแรงงานในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ” ณปกรณ์เน้นย้ำถึงหลักสำคัญของการเสนอ พ.ร.บ.การฝึกงาน

ให้เด็กฝึกงานเป็นเหมือนแรงงานคนหนึ่ง

“ประเทศไทยมีวัฒนธรรมฝึกงานแปลกๆ เยอะมาก เช่น การมองบริษัทเป็นผู้มีบุญคุณที่ทรงโปรดยอมให้เราเข้ามาฝึกงานด้วย เป็นพระคุณที่เราต้องตอบแทนบริษัทนี้อย่างงามด้วยการทำงานหนัก ซึ่งเป็นความคิดที่ประหลาดมาก มิหนำซ้ำยังเป็นมายาคติของผู้ประกอบการที่จะใช้แรงงานฟรีต่อไปได้เรื่อยๆ อีก” 

“สถานประกอบการกับเด็กฝึกงาน เรารู้กันดีว่าใครใหญ่กว่าใคร อำนาจในการต่อรองไม่เท่ากันอยู่แล้ว ทุกวันนี้มีเด็กฝึกงานหลายคนยอมแลกทุกอย่างเพื่อจะได้ฝึกงาน จึงเกิดกรณีคนที่มีความสามารถแบบ multitasking ต้องทำงานมากเกินไป ผู้ประกอบการถือโอกาสใช้งานนักศึกษานอกขอบเขตที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก แล้วก็ใช้วัฒนธรรมที่ว่า ‘น้องทำให้พี่หน่อย เราอยู่กันแบบครอบครัว’” 

นี่คือคำตอบของเกศนครและณปกรณ์ เมื่อเราถามความเห็นของพวกเขาถึงวัฒนธรรมอันบิดเบี้ยวของการฝึกงานในประเทศไทย จากมุมมองของผู้ที่รับฟังเรื่องร้องเรียนและดำเนินการผลักดันข้อเรียกร้องนี้

หากจะมองให้ลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหาในเชิงโครงสร้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจต่อรองและสถานะทางสังคมระหว่างผู้ประกอบการกับนักศึกษาฝึกงานต่างกันมากโข เมื่อเป็นเช่นนั้น การกำหนดข้อกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการใช้อำนาจที่มีกดขี่แรงงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึงขับเคลื่อนให้คุณภาพชีวิตของผู้ฝึกงานดีขึ้น และต่อให้จะมีการต่อรองอื่นใดจากผู้ประกอบการ ก็ต้องไม่กดขี่ตัวผู้ฝึกงานต่ำไปกว่าบาร์ที่กฎหมายกำหนด

“เราคิดว่าโครงสร้างบริษัทไม่ต่างอะไรจากโครงสร้างประเทศ จะมีคนอยู่บนยอดพีระมิดที่มีอำนาจสูงสุด เขาก็จะกดขี่พนักงานที่มีอำนาจต่ำลงมา ซึ่งเด็กฝึกงานเป็นคนที่มีอำนาจต่ำที่สุด เพราะเขาไม่มีสถานะ และต่อรองอะไรก็ไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เขาก็ทำงานไม่ต่างจากทุกคน”

“จริงๆ มันเป็นปัญหาตั้งแต่สังคมมองคนไม่เท่ากันแล้ว เรามองเด็กฝึกงานระดับหนึ่ง มองผู้ประกอบการขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สังคมจะมองนายจ้างอยู่เหนือกว่าแรงงานเสมอ ซึ่งน่าเศร้ามาก เพราะฉะนั้นการผลักดันกฎหมายเพื่อเสริมอำนาจให้คนตัวเล็กจึงมีผลอย่างยิ่งในการสร้างทัศนคติการให้คุณค่ากับแรงงาน” เกศนครเสริม

ทั้งนี้ ตัวข้อเสนอยกระดับการฝึกงานที่ระบุว่าต้องมีการลงทะเบียนสถานประกอบการที่จะรับนักศึกษาฝึกงาน เกิดจากปัญหาที่ว่าในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกสถานประกอบการจะมีคุณภาพเพียงพอจะรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานได้อย่างมีคุณภาพ โดย ‘คุณภาพ’ ในที่นี้ เกศนครให้คำจำกัดความถึงคุณภาพของบริษัทที่มีความพร้อมมากพอจะมาช่วยสอนงานผู้ฝึกงาน รวมถึงทรัพยากรที่เพียงพอจะดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษา ไปจนถึงการประเมินสภาพการทำงานของบริษัทนั้นๆ ว่ามีความปลอดภัยสำหรับการฝึกงานหรือไม่

หากมองในอีกแง่มุมสำหรับผู้สวมหมวกผู้ประกอบการ แน่นอนว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ฝึกงานย่อมมาพร้อมกับความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นต่อฝีมือการทำงานของนักศึกษา หรืออาจมองได้ว่าการสอนงานให้นักศึกษาถือเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่สถานประกอบการกับผู้ฝึกงานแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น บริษัทมอบผลตอบแทนเป็นเวลาและความรู้เพื่อสอนงานผู้ฝึกงาน ส่วนผู้ฝึกงานก็มอบผลงานให้กับบริษัท เป็นต้น

ข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในไทยจึงจำเป็นต้องหาจุดพอดีระหว่างผู้ประกอบการและผู้ฝึกงาน หากเกิดเหตุการณ์ที่นักศึกษาฝึกงานทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่ตกลงกับบริษัทไว้ ก็เป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะประเมินไม่ให้นักศึกษาผ่านฝึกงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกงานต้องรับผิดชอบจากผลการทำงานตัวเอง เพื่อเป็นการพยายามหาจุดกึ่งกลางให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด ดังข้อเสนอที่ระบุว่า ต้องมีการประเมินการฝึกงานอย่างชัดเจนและเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หรือมองในภาพกว้างกว่านั้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทในการรับนักศึกษาฝึกงานหนึ่งคนอาจกลายเป็นการบีบให้บริษัทต้องรับเด็กฝึกงานน้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในก็เป็นได้ ต่อประเด็นนี้ เกศนครชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในข้อเสนอฯ ระบุว่าหากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การฝึกงาน ขึ้นจริง จะมีการผลักดันโครงการค่าจ้างผู้ฝึกงานคนละครึ่งตามไปด้วย โดยรัฐบาลจะร่วมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการในการจ่ายค่าจ้างงานให้แก่ผู้ฝึกงานในช่วงแรกที่เริ่มมีการบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวต่อค่าตอบแทนเพิ่มเติมในการรับนักศึกษาฝึกงาน

นอกจากนี้ ณปกรณ์ยังอ้างอิงถึงผลสำรวจที่ระบุว่าการทำงานของแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนนั้นมีศักยภาพสูงกว่าแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน เขากล่าวว่าผลสำรวจนี้สะท้อนว่าหากผู้ประกอบการปฏิบัติกับนักศึกษาฝึกงานในฐานะที่แรงงานคนหนึ่ง จะส่งผลให้ศักยภาพในการทำงานของผู้ฝึกงานดียิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักศึกษาฝึกงานที่ผู้ประกอบการเองก็จะได้รับผลดีไปด้วย

“นอกเหนือจากการที่เรามองเรื่องนี้เป็นแค่ พ.ร.บ. ที่ให้เงินเด็กฝึกงาน การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. นี้ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ไปจนถึงการสร้างแรงงานที่ดีให้ระบบเศรษฐกิจ เราควรจะมองให้เป็นองคาพยพเดียวกัน เพราะในความเป็นจริงไม่ได้มีแค่ตัวผู้ฝึกงานที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ยังส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม” ณปกรณ์ให้ความเห็น

มหาวิทยาลัย – อีกหนึ่งกลไกที่ต้องช่วยเหลือนักศึกษาฝึกงาน

ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีการฝึกงานตามหน่วยกิตหรือการฝึกงานแบบสหกิจ ณปกรณ์ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของการฝึกงานลักษณะนี้ คือทางสถาบันที่นักศึกษาสังกัดอยู่ไม่มีการสนับสนุนหรือดูแลการฝึกงานของนักศึกษาอย่างเป็นระบบ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างฝึกงานจึงล้วนแล้วแต่เป็นภาระที่นักศึกษาต้องรับผิดชอบเอง ทั้งยังไม่มีสวัสดิการหรือการคุ้มครองใดๆ จากทางมหาวิทยาลัย การดูแลคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานจึงควรเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของสถาบันการศึกษาที่บรรจุการฝึกงานเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร

ต่อประเด็นนี้ เกศนครเสนอว่า หากการฝึกงานเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจบการศึกษา มหาวิทยาลัยเองควรต้องสนับสนุนการออกไปฝึกงานของผู้เรียน รวมไปถึงแก้ไขมาตรฐานการดูแลนักศึกษาฝึกงานที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบัน เพราะบางสถาบันไม่มีการประเมินและไม่มีการตรวจสอบความเป็นอยู่ของนักศึกษาระหว่างฝึกงาน ด้วยเหตุนี้ เกศนครมองว่ามหาวิทยาลัยและสถานประกอบการควรร่วมมือกันออกแบบการฝึกงานและการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือหากมีกรณีที่นักศึกษาโดนปฏิบัติมิชอบจากที่ฝึกงาน มหาวิทยาลัยควรเป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปช่วยเหลือนักศึกษา

“บางที่ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยไม่ให้เงินสนับสนุน แต่ยังเก็บค่าเทอมนักศึกษาระหว่างฝึกงานอีก ซึ่งเรามองว่าถ้าคุณบังคับให้เด็กต้องไปฝึกงานเพื่อที่จะเรียนจบ คุณก็ต้องสนับสนุนเขาบ้าง เช่น ถ้าสถานประกอบการที่เด็กไปฝึกงานไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาว่าควรจะมีกองทุนของมหาวิทยาลัยมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเด็กบ้างไหม”

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งปัญหาใต้พรมที่สะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมการฝึกงานในไทย คือการที่สถานประกอบการชั้นนำอันเป็นที่ใฝ่ฝันของนักศึกษาหลายคนล้วนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นเหตุให้ใครหลายคนต้องดิ้นรนเดินทางมาพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ หลายต่อหลายเดือน เพื่อให้ได้ฝึกงานในสถานประกอบการที่มีคุณภาพ 

เช่นนั้นแล้ว การที่ผู้ฝึกงานได้รับค่าตอบแทน ในแง่หนึ่งก็คือการลดความเหลื่อมล้ำสำหรับนักศึกษาที่อาจไม่มีต้นทุนมากพอจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักทั้งหมดด้วยตนเองได้ การจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ฝึกงานจะเป็นการอุดช่องว่างให้ทุกคนเข้าถึงการฝึกงานในสถานประกอบการที่มีคุณภาพ ได้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้จำเป็นต้องแก้ไขในระยะยาว ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ความเจริญในด้านต่างๆ แม้กระทั่งการฝึกงานล้วนกระจุกตัวแต่ในเมืองหลวง

“เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ความเจริญกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ หมดเลย ที่ฝึกงานดีๆ ที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพอยู่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ทั้งนั้น สำหรับเด็กฝึกงานหลายคน การฝึกงานในกรุงเทพฯ ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล ต้องคำนวณว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าหอ ไหนจะค่าเดินทางอีก เอาง่ายๆ แค่จะนั่งรถไฟฟ้าไปกลับก็หมดเงินไปเป็นร้อยแล้ว” เกศนครกล่าว

ณ เวลานี้ คงยังไม่มีใครตอบได้ว่าสุดท้ายแล้วข้อเสนอยกระดับการฝึกงานและร่าง พ.ร.บ.การฝึกงานจะได้บังคับใช้เมื่อไหร่ และเมื่อถึงวันนั้นจะมีรายละเอียดเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อเสนอนี้ก็เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญที่เราจะได้เห็นภาพแห่งความหวังที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับผู้ฝึกงานในฐานะแรงงานคนหนึ่ง

ที่สำคัญกว่าการที่สังคมตั้งจุดโฟกัสแค่ว่าผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้นักศึกษาฝึกงาน จุดมุ่งหมายที่ใหญ่ที่สุดของผู้จัดทำข้อเสนอยกระดับการฝึกงานในไทย คือการที่สังคมจะเข้าใจและตระหนักได้ว่าการให้สวัสดิการที่เหมาะสมกับแรงงาน สุดท้ายแล้วจะเป็นการลงทุนที่สร้างผลดีให้กับสถานประกอบการในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนกับนักศึกษาฝึกงานที่มีพร้อมทั้งแรงกาย แรงใจ และแพสชันในการทำงาน ทั้งยังพร้อมจะเป็นแรงงานรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนศักยภาพของบริษัทต่อไปในอนาคต

“คนชอบดูถูกสถานะของเด็กมากเลยว่าเขาจะทำงานไม่ได้ อันดับแรกเราต้องเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ก่อน ว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ตราบใดที่เขาได้รับเทรนเนอร์ที่ดี อีกจุดสำคัญคือพลังของเด็กสามารถเปลี่ยนสถานประกอบการนั้นให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะพลังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีไอเดียอยู่เต็มหัวไปหมด บางทีถ้าเราไม่ได้รับเด็กฝึกงาน เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าบริษัทนั้นจะพัฒนาขึ้นในมุมมองของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไรบ้าง” 

“เวลาไหลไปข้างหน้าเสมอ ถ้าบริษัทไม่ปรับตัวกับคนรุ่นใหม่ วัฒนธรรมการทำงานก็จะล้าสมัยไปทั้งเทคนิคการตลาดและการบริหาร การรับเด็กฝึกงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาก็เหมือนการรับพลังงานของคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งไฟและแพสชันในการทำงาน ซึ่งจะกระตุ้นองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้เหมือนกัน” เกศนครกล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world