PLC Coaching เปิดห้องเรียนนอกตำรา เรื่องเล่าจาก ‘ครูวิทยาศาสตร์’ สู่การเป็น ‘ครูนักออกแบบ’ มือใหม่

PLC Coaching เปิดห้องเรียนนอกตำรา เรื่องเล่าจาก ‘ครูวิทยาศาสตร์’ สู่การเป็น ‘ครูนักออกแบบ’ มือใหม่

ฟังเรื่องเล่าจากครูต้นเรื่องในโครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) ที่นำเอาประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ ‘วิทยาศาสตร์’ ในรูปแบบใหม่มาเล่าสู่กันฟัง

จากกรอบคิดเดิมๆ ที่วัดผลประเมินความรู้เด็กๆ ด้วยเกณฑ์ความถูกต้องตามตำรา แต่กระบวนการ PLC ทำให้ ‘ครูก้อย’ ได้ค้นพบวิธีการสอนแบบบูรณาการนอกห้องเรียน โดยมีทีมโค้ช (PLC Coaching ) จากโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ในวันนี้วิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นเสมือนยาขมสำหรับเด็กประถม จึงกลายเป็นเรื่องสนุกที่การมาเรียนก็เหมือนมาเล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ

เพราะความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ ‘โอกาส’ ในการได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘คุณภาพ’ การศึกษาที่ทัดเทียมกันด้วย การเติมทักษะ แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ระหว่างกันของครู ไม่ว่าในสาขาเดียวกันหรือหลากหลายสาขาจะยิ่งเป็นการเสริมสมรรถนะให้การเรียนการสอน เพราะเมื่อครูมีศักยภาพที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าด้านองค์ความรู้ หรือกระบวนความคิด ไม่ว่าจะอยู่ที่กรุงเทพ ต่างจังหวัด หรือโรงเรียนเล็กๆ ในหมู่บ้านห่างไกล การมีครูที่มีศักยภาพจะช่วยให้เด็กๆ ไดัรับการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ต่างกัน ถือเป็นความเสมอภาคด้านการศึกษาที่ควรทำให้เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่

จากกระบวนทัศน์นี้ จึงนำไปสู่โครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ และกระบวนการ PLC Coaching  ที่คอยสนับสนุนให้ครูมีที่ปรึกษาทางความคิดและการออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดศักยภาพมากที่สุด โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่มูลนิธิสยามกัมมาจล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การสนับสนุน

จาก ‘ครูวิทย์’ สู่ ‘ครูนักออกแบบ’

2 ปีก่อน มยุรี ดวงจันทร์ หรือ ‘ครูก้อย’ ย้ายจากโรงเรียนเดิมเพื่อมาสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 1 – 6 ที่โรงเรียนเทศบาล 4  บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121 จังหวัดศรีสะเกษ แต่สิ่งที่แตกต่างไป คือโรงเรียนแห่งนี้นำกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน นี่จึงเป็นเหมือนปฐมบทบนเส้นทางสายใหม่ในฐานะครูของครูก้อยเช่นกัน

“ก่อนย้ายมาที่นี่ เราเป็นครูวิทยาศาสตร์ก็จัดการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนทั่วไป เรียนในห้องเรียนเป็นหลัก มีสื่อแบบอื่นช่วยบ้างบางชั่วโมงเช่นให้ดูวิดีโอ การจัดทำแผนการสอนก็เอาตัวครูเป็นหลัก จนลืมนึกไปว่าบางครั้งอาจทำให้เด็กไม่ได้รู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ หรือไม่ได้กระตุ้นให้เขาอยากรู้ในสิ่งที่ควรรู้ นานๆ เข้าเด็กๆ ก็เบื่อไม่อยากเรียน นั่งคุยง่วงเหงาหาวนอนกันไป”

วิชาวิทยาศาสตร์บางทีก็เหมือนยาขมสำหรับเด็ก ครูก้อย ยอมรับว่า บางทีเนื้อหาในตำราที่ใช้วัดผลประเมินก็ยากและเยอะเกินไปจนทำให้เด็กไม่อยากเรียน ยิ่งต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกวิชายิ่งน่าเบื่อ หรืออย่างการเปิดวิดีโอให้ดูเขาก็แค่มอง แค่นั่งฟังจอ แต่เขาได้ความรู้จากตรงนั้นแค่ไหน ไม่สามารถทราบได้เลย

พอมาที่นี่ โรงเรียนใช้กระบวนการ PLC อยู่แล้ว จึงให้ครูก้อยเริ่มจากสังเกตการณ์ ซึ่งโรงเรียนจะมีการ PLC เพื่อแลกเปลี่ยนออกแบบและวางแผนการสอนร่วมกันทุกวันศุกร์ในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นทางโรงเรียนก็ให้ไปอบรมกับสถาบันอาศรมศิลป์ 

สิ่งที่ได้กลับมาคือการที่การมององค์ความรู้และการถ่ายทอดในลักษณะที่เป็นธีมมากขึ้น และจะเป็นสิ่งที่ครูในโรงเรียนต้องมาค้นหาร่วมกัน จากนั้นจึงเป็นการเขียนแผนการสอน ระหว่างนั้นก็จะมีการปรึกษากับทางโค้ชจากสถาบันอาศรมศิลป์เป็นระยะ ทำให้ได้มุมมองคำแนะนำต่างๆ เพราะแผนบางอย่างอาจจะคิดจากมุมของตัวเองเป็นหลัก เมื่อมีที่ปรึกษาก็เหมือนมีคนช่วยชี้ให้เห็นมุมอื่นๆ มากขึ้น เช่น เรื่องนี้ตัวบ่งชี้ยังไม่ออก หรือบางอันก็เยอะเกินไป จะมีการปรับแผนและก็นำไปสู่กระบวนการสอน

“พอเข้าสู่การมองแบบนวัตกรรมองค์รวม ทำให้เราได้ปรับสู่วิถีการสอนใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือการวิเคราะห์โรงเรียนของเราว่ามีอะไรที่เหมาะสำหรับเด็กๆ บ้าง จะมีการค้นหาธีม จัดทำแผนและออกแบบกิจกรรมไปตามธีมโดยเอาหลายวิชามาบูรณาการกัน วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเอง แต่สามารถเอาสังคม เอาภาษาไทยมาประยุกต์ได้โดยเป็นขาออกด้านการสื่อสาร เพื่อให้เด็กๆ ได้คิดจนครบกระบวนการ เมื่อเรียนรู้มา เขาก็ต้องถ่ายทอดได้ด้วย”

ด้วยกระบวนทัศน์นี้ จึงทำให้ครูวิทยาศาสตร์ในแบบที่คุ้นเคย เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น ‘ครูนักออกแบบความรู้’ วิชาวิทยาศาสตร์ที่ถูกออกแบบให้กลายเป็นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ทำให้เด็กประถมสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานเหมือนการเรียนเป็นการเล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ

ห้องเรียน ป.2 ‘วิทยาศาสตร์’ เรียนกันในแปลงผัก

ครูก้อย ได้เล่าถึงตัวอย่างล่าสุดสำหรับนักเรียนชั้น ป. 2 ที่เพิ่งนำมาใช้ในภาคเรียนนี้ โดยได้มีการกำหนดธีมเรื่อง ‘ผักสวนครัวรั้วเรา’ ขึ้น ซึ่งห้องเรียนแบบนี้ ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ความรู้ที่ถูกต้องตามตำรา อาจไม่ได้หมายความว่าเด็กๆมีความรู้ในเรื่องนั้นจริงก็เป็นได้

“ช่วงโควิดที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ มีการสอนเรื่องผักสวนครัว เวลาถามเรื่องผักสวนครัว เขาตอบได้หมด กระเพรา แตงกวา โหระพา พริก ถ้าประเมินตามนี้อิงกับเกณฑ์จากส่วนกลางตามรูปแบบการศึกษาทั่วไป หลายคนได้คะแนนเต็มด้วยซ้ำ แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาตอบมาจากความรู้ของเขาเองหรือเปล่า หรือผู้ปกครองบอก แต่พอเปิดเทอม เรานำธีมนี้มาทำแผนและ PLC กันใหม่ เพื่อใช้ในการเรียนแบบ Onsite เพราะโรงเรียนมีพื้นที่เหมาะสม มีแปลงผัก มีพืชพรรณอยู่ไม้น้อยที่สามารถให้เด็กๆ เรียนรู้จากของจริงได้”

ครูก้อย อธิบายว่า สำหรับเด็ก ป.2 จะมีวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องเรียนอยู่ประมาณ 20 ชั่วโมง เฉพาะในธีม ‘ผักสวนครัวรั้วเรา’ ออกแบบให้เขาเรียนรู้ 5 ชั่วโมง โดยทยอยเรียนรู้ไปทีละประเด็นในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยผ่านไปเรียนรู้ในธีมอื่น

“แผนการสอนของผักสวนครัวรั้วเรา ตอนแรกจะให้เด็กๆ เข้าสู่การปลูกเลย แต่โค้ชมองว่าน่าจะเริ่มจากการสำรวจก่อนดีกว่า เพื่อประเมินพื้นฐานของเด็กๆ ด้วย พอลองให้สำรวจดู เราพบว่าสิ่งที่เขาเคยตอบได้ฉะฉานตามตำรา พอไปเจอผักจริงๆ เจอองค์ประกอบของพืชจริง หลายคนไม่รู้จัก บางคนรู้จักแต่พริกสีแดงเพราะเห็นบ่อยๆ ในภาพ แต่ไม่รู้ว่ามีพริกสีเขียวด้วยซ้ำ เราก็เริ่มต้นปูพื้นฐานความสำคัญของการเก็บข้อมูล เขาได้เห็น ใบ ดอกผล ลำต้นราก จากนั้นก็จะนำไปสู่คำถามเพื่อไปสู่ขั้นตอนลึกต่อไป เช่นว่า ทำไมผักถึงเจริญเติบโตได้แล้วก็ชวนกันหาคำตอบ”

หลังการสำรวจ ในสัปดาห์ถัดมาจึงเป็นเรื่องของการรู้จักสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้แต่ละชนิดเติบโต เช่น ต้องมีดิน มีน้ำ มีอากาศ และแต่ละชนิดก็ชอบต่างกันไป เมื่อเรียนรู้แล้วก็ให้เขาทดลองปลูก ตั้งแต่เตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและแปรรูปเป็นอาหารในสัปดาห์สุดท้าย

“เด็กๆ ก็ว้าวเลย บอกว่าเรียนแบบนี้สนุก ชอบกันมาก สิ่งที่เราเห็น เขามีความสนใจ มีความตั้งใจ มีความกล้ามากขึ้น กล้าคุย กล้าตอบ กล้าแลกเปลี่ยน เป็นผลที่เกิดเกินคาดเลย มีทักษะการสื่อสารไม่ว่ากับเพื่อนร่วมทีมหรือการนำเสนอในห้อง เราเองก็ประเมินเขาได้จริง เพราะคราวนี้เขารู้จักชื่อผักนั้นๆ จริง รู้ว่าส่วนประกอบของผักคืออะไร รู้ประโยชน์ หรือบางคำถามเราไม่คิดว่าจะถาม แต่ก็ทำให้เราไปต่อยอดได้ด้วย คือเป็นครูให้กับครูเองด้วย

“คำว่า อ๋อ ของเด็กๆ ที่แปลงผักไม่เหมือนในห้องเรียน ผักเดียวกันที่เขาตอบถูกในห้อง แต่พอมาอ๋อกับของจริงเป็นความรู้สึกคนละแบบ คำว่าวิทยาศาสตร์คือการสังเกต การทดลอง ทุกอย่างถ้าเราใช้หลักวิทยาศาสตร์มาสอนจริงๆ เด็กต้องได้ลงมือทำถึงจะเกิดเป็นทักษะที่ติดตัวเขา เมื่อมีแล้วก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ บางอย่างอาจเกิดจากตัวเขาเอง หรือบางอย่างเกิดจากการที่เขาได้สังเกต สำรวจ ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในหนังสือเรียนเท่านั้น”

ครูก้อย ยังย้ำว่า ความจริงวิทยาศาสตร์ก็คือสิ่งรอบตัว แต่บางทีพอไปยึดติดกับตำราก็ไม่สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ เรียนรู้กับธรรมชาติได้ เพราะตำราเขาเขียนมาตามบทว่าต้องสอนอะไรก็ทำไปแค่นั้น  แต่ถ้าการสอนเกิดขึ้นโดยการเป็นครูนักออกแบบ ในเรื่องเดียวกันหนึ่งเรื่อง ก็จะสามารถวิเคราะห์เด็กได้หลายเรื่องมากกว่าในตำรา

“การที่เราจะพัฒนาอะไรสักอย่างต้องเริ่มจากครูเอง ถ้าครูไม่เปิดใจ หรือผู้บริหารไม่กล้าเปลี่ยนการศึกษาก็ไม่เปลี่ยน  ดังนั้น จึงอยู่ที่ตัวเรากล้าที่จะเปลี่ยนหรือไม่ ตำราจะเป็นแค่เครื่องชี้แนะ แต่เราสามารถจัดการเรียนการสอน ทำเป็นแผนได้ด้วยตัวเอง เราสามารถนำความรู้ต่างๆ มาบูรณาการ มาตกแต่งได้ ครูอยากให้เด็กเป็นอย่างไรก็พาเขาไปสู่เป้าหมายตามที่หวังไว้ ไม่ใช่พาไปตามที่ตำราหวังไว้ ครูจึงมีความสำคัญที่สุดว่าจะกล้าเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองหรือไม่” ครูก้อย กล่าวทิ้งท้าย