หน้าที่ (การศึกษาแด่) พลเมือง: เด็กบังเอิญไม่ฉลาด หรือการศึกษาต่างหากที่เหลื่อมล้ำ

หน้าที่ (การศึกษาแด่) พลเมือง: เด็กบังเอิญไม่ฉลาด หรือการศึกษาต่างหากที่เหลื่อมล้ำ

คาบเรียนแรกในวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ ของนักเรียน ม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ครูภาคินเอ่ยถามนักเรียนด้วยคำถามง่ายๆ “คุณมาทำอะไรที่นี่ ทำไมถึงมาโรงเรียนนี้” 

คำตอบมีหลากหลาย บ้างว่า “หอพักสวย” บ้างว่า “ไม่อยากอยู่บ้าน” และบ้างว่า “เพราะที่นี่เรียนฟรี”

“เราแต่ละคนมาด้วยเหตุผลที่ต่างกัน มีความปรารถนาที่ต่างกัน อนาคตก็คิดไม่เหมือนกัน แต่เคยสงสัยไหมว่า จริงๆ แล้วมีอะไรบางอย่างในหมู่พวกเราที่คล้ายคลึงกัน” 

ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ถามต่อ ก่อนชวนให้นักเรียน 18 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในคำถามที่ว่า “เราต่างมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?”

  • นักเรียน 1: พ่อแม่เราเป็นเพื่อนกัน
  • นักเรียน 2: เราชอบดาราเกาหลีเหมือนกัน
  • นักเรียน 3: เราชอบเล่นเกมเดียวกัน

คำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดถูก หลังจากนั้นครูภาคินชวนตั้งคำถามอีกครั้งว่า นอกเหนือจากคุณลักษณะของแต่ละคน มีอะไรอีกไหมที่นักเรียนทั้งโรงเรียนมีร่วมกัน 

“ผมโชว์กราฟ โชว์สถิติต่างๆ ไล่ย้อนกลับไป 5 ปี ว่าเด็กๆ มาจากกี่โรงเรียนในประเทศไทย เพราะปีหนึ่งๆ มีคนสอบเข้าโรงเรียนกำเนิดวิทย์ประมาณ 3-4 พันคน สุดท้ายคัดมาได้ปีละ 72 คน เด็กเหล่านี้มาจากกี่โรงเรียนของประเทศไทย มาจากกี่จังหวัดของประเทศไทย”

ข้อค้นพบจากตัวเลขทางสถิตินับแต่การก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์เข้าสู่ปีที่ 6 นั่นคือ ตลอดมามีเด็กที่สามารถสอบเข้าเรียน ณ ที่แห่งนี้ได้ มาจาก 30 กว่าจังหวัดเท่านั้น ทั้งที่ทุกปีมีการจัดศูนย์สอบทั่วทุกภาคของประเทศ 

“ทุกคนมีโอกาสสอบได้ ถ้าไม่มีเงินเดินทางมาสอบ โรงเรียนก็ออกค่าเดินทางให้ หรือถ้าไม่มีเงินมาสอบรอบสอง เด็กก็สามารถมาขอเบิกได้ พูดง่ายๆ ว่าเงินไม่ใช่ข้อจำกัดหากคุณอยากมาสอบที่นี่ คำถามคือ ขนาดโรงเรียนทำถึงขนาดนี้ ทำไมเด็กที่เข้ามาได้ในรอบสุดท้ายจึงมาจากโรงเรียนใน 30 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ หายไปไหนอีกกว่าครึ่ง”

ครูภาคินเอ่ยถามนักเรียนอีกครั้ง “มันคือความบังเอิญหรือเปล่า?”

นักเรียนยังคงยกมือตอบอย่างเเข็งขัน “บังเอิญว่าในบางจังหวัด เด็กไม่เก่งหรือเปล่าครับ” หรือ “เด็กบางจังหวัดเขาไปเรียนเตรียมอุดมกันหมดหรือเปล่า” ครูภาคินเล่าไปหัวเราะไป คำตอบที่หลากหลายนับเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเขา 

แต่ไปให้ไกลกว่านั้น ครูภาคินชวนเด็กๆ มาดูข้อมูลอื่นๆ เพื่อหาคำตอบร่วมกัน ว่าใช่ความบังเอิญแน่หรือ หรือในอีกด้าน มีข้อเท็จจริงใดซ่อนอยู่อีกบ้าง

“ผมชวนเด็กๆ ดูข้อมูลอื่นๆ ที่มาซัพพอร์ตเรื่องนี้ เช่น จำนวนนักเรียนที่มาจากจังหวัดต่างๆ หากเอามาทาบกับสถิติคะแนนสอบ O-NET พบว่า จังหวัดที่มีคะแนน O-NET ดี มักเป็นจังหวัดที่เด็กสามารถมากำเนิดวิทย์ได้ มันมีความเกี่ยวพันกันบางอย่าง หรือจังหวัดที่คะแนนสอบ O-NET อันดับต่ำๆ ของประเทศ ก็จะไม่มีเด็กมาที่โรงเรียนนี้ได้เลย ยังไม่เคยมีเลย”

อีกครั้ง นี่ล่ะบังเอิญไหม อะไรคือข้อเท็จจริง? 

เพื่อให้กระจ่าง ครูภาคินนำข้อมูลทางสถิติมากางอีกครั้ง ว่าในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชามากน้อยต่างกันอย่างไร ก่อนพบว่านักเรียนในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากจังหวัดที่มีจำนวนโรงเรียนกวดวิชาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้น เขาคลี่ตัวเลขอีกชุดเพื่อแสดงให้เห็นว่า คนจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายของประเทศ โอกาสที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยอาจเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

คำถามคือ ดูจากสถิติแล้ว ทำไมพ่อแม่ของเด็กๆ ที่นั่งอยู่ในห้องนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ เรียนจบมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น นี่คือความบังเอิญหรือไม่ 

“สุดท้ายจึงถึงจุดที่ไม่ใช่ความบังเอิญ มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ในบางจังหวัดมีความเจริญมากกว่าที่อื่น บางจังหวัดเด็กหัวกะทิจากพื้นที่รอบข้างจะมาอยู่ที่นี่ บางจังหวัดมีศักยภาพในการผลักดันเด็กมากกว่าที่อื่น

“หรือผมอาจชวนเขาเปิดข้อมูลงบประมาณของโรงเรียนให้ดูว่า คุณคิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทย เงินอุดหนุนต่อหัวเท่าไหร่ โรงเรียนที่ขนาดใหญ่กว่าได้เท่าไหร่ หรือโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ได้เท่าไหร่”

เมื่อถึงตรงนี้ นักเรียนตอบอย่างฉะฉาน “สรุปแล้ว พวกเรารวยค่ะ/ครับ” 

เล่าถึงตรงนี้ เราถามครูภาคินอย่างตรงไปตรงมา – การออกแบบการเรียนการสอนเช่นนี้ กำลังจะนำไปสู่อะไร

“ผมรู้สึกว่า เราต้องให้เขายอมรับข้อเท็จจริงนี้ก่อน แล้วที่เหลือก็จะง่ายแล้ว เพราะถ้าเขายอมรับว่า ความสำเร็จนี้ไม่ใช่แค่ความสามารถของปัจเจกเท่านั้น แต่ประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ ด้วย ที่เหลือเราคุยต่อกันได้สบาย”

เมื่อนักเรียนตั้งต้นจากการรับรู้แล้วว่า โอกาสทางการศึกษาของเด็กในประเทศไทยนั้นไม่เท่ากัน ผ่านข้อมูลและตัวเลขที่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง นั่นหมายความว่า บนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่เด็กๆ เข้าใจว่า พวกเขาล้วนมีฝีมือและเก่งกาจ ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่น อย่างครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ การกระจายงบประมาณของรัฐ ทรัพยากรที่ไม่เท่ากันของจังหวัดต่างๆ จำนวนของโรงเรียนกวดวิชา ​โอกาสที่ได้เข้าเรียนพิเศษ  ลักษณะของโรงเรียน จำนวนนักเรียนแต่ละโรงเรียน คุณภาพของครู ฯลฯ ทุกอย่างซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นอย่างแนบเนียน 

“ระหว่างนั้น ผมเคยเอาคลิปของคนที่หลุดออกจากระบบมาให้เขาดู แบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม แล้วถามว่า คุณเห็นอะไร คุณคิดอย่างไร คุณรู้สึกอย่างไร

“คำตอบของเด็กๆ ก็เช่น เห็นหม้อ เห็นกระทะ เห็นผู้หญิง เห็นผู้ชาย เห็นความไม่เป็นธรรม เห็นชีวิต เด็กจะค่อยๆ เห็นว่า ไอ้ความสำเร็จและล้มเหลวของคนคนหนึ่งนั้น อาจจะเร็วไปหากจะพูดว่า…ชีวิตคนคนหนึ่งเป็นอย่างนั้นเพราะความสามารถของตัวเขาเอง” 

ครูสังคมแห่งกำเนิดวิทย์

ตั้งแต่เด็กจนโต โลกการเรียนของครูภาคินดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ เขาเจอครูที่เก่ง มีสังคมที่ดี ในโรงเรียนชั้นนำตั้งแต่อนุบาลกระทั่งจบมัธยมปลาย 

“พ่อแม่ผมเป็นครอบครัวคนจีนที่แยกออกมาจากครอบครัวใหญ่เพื่อสร้างครอบครัวเล็กๆ อยู่กันเอง เขาขยันทำงานโดยคาดหวังว่าจะเอาเงินทั้งหมดที่ได้ทุ่มไปกับการดูแลลูก เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตดี ผมโชคดีที่พ่อแม่ผมเห็นความสำคัญ อยู่ในจุดที่ดีกว่าชาวบ้านเขา แล้วเราก็ไม่มีโอกาสไปเห็นชีวิตของชาวบ้านอื่นๆ ด้วย”

จวบจนเรียนจบมัธยม โลกของมหาวิทยาลัยในคณะรัฐศาสตร์นั้นแตกต่างจากความคุ้นเคยเดิมๆ ของเขา ผู้คนที่แตกต่างกันในแง่เศรษฐานะนั้นปรากฏชัด เขานิยามภาพความแตกต่างของชีวิตนักศึกษาขณะนั้นว่า ‘มีตั้งแต่ลูกทูตถึงรากหญ้า’ นำมาซึ่งความสงสัยต่อสังคมในหลายประการ ‘ความแตกต่างนี้คืออะไร เรายืนอยู่จุดไหนในความแตกต่างนี้’

“ส่วนตัวผมเอง ถ้าถามว่ายืนตรงไหน ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าชนชั้นกลางด้วยซ้ำ อาจจะอยู่กลางๆ ค่อนไปล่างเลย เพราะครอบครัวเราเดือนชนเดือน เงินเก็บแทบไม่มี ช่วงที่ผมเรียนจบ ทำงานมาได้ 4-5 ปี ถึงเพิ่งรู้สึกว่า อ้าว…เงินเก็บที่ผมมีช่วงทำงาน แทบจะเท่าเงินเก็บทั้งชีวิตของพ่อแม่” เขาหัวเราะเบาๆ ให้กับความหลัง

ส่วนโลกของการทำงาน แม้เขาไม่ได้ฝันถึงการเป็นครูมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เพราะชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องที่เดาได้ เขาจึงกลายเป็น ‘คุณครูสังคม’ ในโรงเรียนกำเนิดวิทย์​ จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ถูกขนามนามว่าสอบเข้ายากและโหดหิน ด้วยเพราะกำเนิดวิทย์ คือโรงเรียนที่เน้นในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป และมีจำนวนนักเรียนเพียงห้องละ 18 คนเท่านั้น 

“ผมถือว่าตัวเองเป็นแรงงานที่เหมือนอยู่บนยอดพีระมิด มีความสุขอยู่พอสมควร แม้แดดจะร้อน ในแง่คุณภาพการเรียนการสอนนั้นก็ดีกว่าชาวบ้านเขาไปหมด ทั้งห้องเรียน สเกลของจำนวนเด็กก็น้อย 18 คนต่อห้อง ห้องสมุดก็ดี สื่อการเรียนการสอนก็ดี อยากได้อะไรก็เบิกได้”

แต่ในอีกด้าน เขาเห็นภาพของปัญหาทางการศึกษาในสเกลที่ใหญ่กว่านั้น 

“ในทุกปี โรงเรียนจะจัดค่ายให้เด็กๆ ไปสอนหนังสือน้องๆ โรงเรียนรอบข้างในชุมชน เชื่อไหมว่า เคยมีบางครั้งที่งบประมาณในการจัดค่าย มากกว่างบประมาณทั้งปีของโรงเรียนที่เราไปจัดค่ายเสียด้วยซ้ำ เงินจำนวนนั้นไม่ได้มหาศาลนะครับ แต่เพราะโรงเรียนที่เราไปทำค่ายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ได้งบประมาณรายหัว บวกกับเงินสนับสนุนของรัฐบาลนิดหน่อย เนี่ย…เราเห็นสิ่งเหล่านี้”

ขณะยืนอยู่หน้ากระดานไวท์บอร์ด เขาพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กๆ เห็นถึงภาพของสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อยอมรับถึงข้อเท็จจริงว่าสังคมนั้นเหลื่อมล้ำ และเพื่อให้เด็กๆ เห็นชีวิตและความเป็นมนุษย์ของ ‘คนอื่น’ บ้าง 

ในอีกหน้างาน เขายังทำงานทางวิชาการ ทั้งในฐานะนักแปล นักเขียน นักพูด ทำเวิร์คช็อปกับเพื่อนครูต่างสถาบัน เพราะเขาเชื่อว่า โลกใบนี้มีองค์ความรู้อยู่มหาศาล การหยิบความรู้เหล่านี้มาแปลสู่สาธารณะ คือการทลายข้อจำกัดทางภาษา แล้ววันใดวันหนึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะถูกหยิบใช้โดยใครก็ตามที่มองหาการศึกษาที่ดีกว่าเดิม 

“การทำงานตรงนี้ ผมเห็นประเด็นหลายอย่าง เช่น คนจำนวนหนึ่งมีมายาคติเกี่ยวกับการศึกษาที่ยากจะแก้ไขได้ แล้วไม่รู้ตัวว่ามันคือความเข้าใจผิด เช่น ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่เราน่าจะทำตาม เพราะว่าเขามีระบบการศึกษาที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เด็กๆ เรียนที่ไหนก็ได้ คุณภาพมันดีทั้งหมด ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะเขามีความเชื่อใจกัน แล้วทำไมเขาถึงเชื่อใจกัน ก็เพราะโดยทั่วไปแล้วเขาเป็นคนดี จบแล้ว…

“กลายเป็นว่า ถ้าเราอยากมีการศึกษาเหมือนฟินเเลนด์ เราต้องสร้างคนดีไง เพราะเมื่อทุกคนเป็นคนดี ก็จะเชื่อใจกัน…นี่มันช่างผิวเผินเหลือเกิน เพราะลึกไปกว่านั้น กว่าที่ฟินแลนด์จะเป็นอย่างนี้ได้ โครงสร้างทางสังคมของเขาต้องแข็งแกร่งขนาดไหนถึงทำให้คนเชื่อใจกันได้ 

  ‘เราสร้างคนดี ทุกอย่างจะดีเอง’ คือหนึ่งในมายาคติขนาดใหญ่ของสังคมไทย ที่ครูภาคินมองว่า คือรากของปัญหาที่หากไม่ถูกแตะต้องและตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา การศึกษาไทยก็จะวนอยู่ในวัฏจักรที่มองว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยากและไม่อาจทำได้’ 

กระทั่งมายาคติที่ว่า ‘การศึกษาไม่เกี่ยวกับการเมือง’ หรือเมื่อใดที่ครูพูดถึงคำว่า ‘การเมือง’ ก็ถูกเหมารวมไปว่าเป็นการล้างสมองนักเรียนหรือชี้นำให้เด็กแข็งกร้าว 

ในทัศนะของเขา ครูทุกคนกำลังทำกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่รู้ตัว 

“ทุกสิ่งที่เรากำลังสอนนักเรียน เรากำลังปั้นให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ แล้วผู้ใหญ่คนนั้นก็จะมีวิธีคิดเสมอว่า ตกลงคนในสังคมควรจะเท่าเทียมกันไหม ทรัพยากรประเทศควรจะจัดสรรอย่างไร ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราควรจะช่วยเหลือใครก่อน ควรปล่อยให้บริษัทใหญ่ล้ม หรือปล่อยให้เขาเจ๊งไป เราช่วยคนจนดีไหม หรือปล่อยให้คนจนดูแลตัวเอง

“โดยที่เราไม่รู้ตัวว่า ตลอดเวลาเราสอนเขาให้กลายเป็นผู้ใหญ่แบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ซึ่งมีทัศนคติการเมืองแบบหนึ่งแน่ๆ ต่อให้เราไม่พูดเรื่องการเมืองเลยก็ตาม แม้กระทั่งวิชาเบสิคอย่างภาษาอังกฤษที่ดูไม่เห็นเกี่ยวกับการเมืองเลย แต่การสอนภาษาอังกฤษบางแบบ คุณได้คนเก่งภาษาอังกฤษที่คิดว่าการเก่งของเขาเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยู่เหนือกว่าคนอื่น แล้วคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้คือคนโง่”

หากสอนภาษาอังกฤษแบบหนึ่ง นักเรียนอาจเห็นได้ว่า ภาษาคือเครื่องมือในการทำให้คนมีชีวิตที่ดี แต่โดยไม่รู้ตัว ครูอาจกำลังสร้างคนคนหนึ่งให้เป็น ‘อีลีททางภาษา’ และมองมนุษย์ผู้อื่นด้อยค่า

“แม้แต้วิชาภาษาไทย เบสิคง่ายๆ หากสอนดีๆ คุณจะได้คนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง การอ่านวรรณกรรมแล้วคิดกับมันเยอะๆ คือการสร้าง emphaty แต่หากสอนไม่ดี คุณจะได้คนที่คลั่งในความเป็นไทย…

“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะวิชาใดก็ตาม คุณกำลังสร้างมนุษย์ให้มีทัศนคติทางการเมืองบางอย่างแน่นอน”

การศึกษาไทย อะไรเหลื่อม อะไรล้ำ

สำหรับครูภาคิน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานิยามได้ 2 แบบ

หากนิยามว่า ความเหลื่อมล้ำคือการที่นักเรียนไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน เขามองว่า ปัญหานี้แม้แก้ยาก แต่แก้ได้ ผ่านกลไกของรัฐในการปรับวิธีคิดของการกระจายงบประมาณ และจัดสรรครูให้ทั่วถึง 

ในแง่ของความเหลื่อมล้ำเชิงวัตถุและบุคลากร ครูภาคินมองว่า เป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิค แต่หากนิยามความเหลื่อมล้ำนี้ในมิติของความไม่เท่ากันทางความรู้ และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งหลังจากเรียนจบไปแล้ว นั่นสิเรื่องยาก และจำเป็นอย่างมากที่สังคมต้องตีโจทย์นี้ให้แตก

“แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะลดความเหลื่อมล้ำในความหมายกว้างนี้โดยที่คุณไม่ไปเเตะเรื่องอื่นๆ ว่ากันตามตรง การลดความเหลื่อมล้ำคือการเปลี่ยนวิธีกระจายทรัพยากรอย่างแฟร์ๆ ซึ่งต้องเกิดจากหลักคิดพื้นฐานที่ว่า คนทุกคนควรจะได้ทรัพยากรที่ใกล้เคียงกัน คุณต้องเชื่อก่อนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน และทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ

“การจะคิดเช่นนั้นได้ จึงต้องไปคิดเรื่องอื่นอีกมากมายเต็มไปหมด โยงไปถึงเรื่องการเมือง อำนาจที่อยู่ในคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ สุดท้ายแล้วก็คือเรื่องเดียวกันทั้งหมด การศึกษาจึงเป็นปลายเหตุของเรื่องทั้งหมด”

การศึกษาไทยในปัจจุบันในทัศนะของครูภาคิน กำลังผลักผู้คนออกไปใน 3 ความหมาย คือ หนึ่ง-เด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย คือคนกลุ่มแรกที่ถูกผลักออกจากระบบ สอง-การศึกษาผลักความฝันของเด็ก และสาม-การศึกษาผลิตให้คนเชื่อว่ามนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน 

ในข้อที่ว่า การศึกษาไม่เอื้อให้คนได้ฝัน แน่นอนว่า สิ่งที่การศึกษาไทยมีอยู่ไม่อาจเพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ใฝ่ฝัน แต่อีกด้านที่ต้องระวัง ครูภาคินมองว่า ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครที่เป็นเพียงอย่างเดียวไปตลอดชีวิต 

“มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง เช่น เด็กบอกว่าอยากเป็นนักกีฬา ถามว่าการศึกษาที่ดีควรทำอะไร ก็สร้างโรงเรียนกีฬาสิ เด็กอยากเป็นนักดนตรี ก็สร้างโรงเรียนดนตรีสิ เด็กอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็สร้างโรงเรียนสำหรับนักโปรแกรมเมอร์สิ แล้วสมมุติเด็กเข้าไปเรียนในโรงเรียนกีฬา แล้ววันหนึ่งเขารู้สึกว่า ไม่ใช่ แล้วทำไง?

“จริงอยู่ว่าการศึกษาไม่เอื้อให้คุณไปถึงสิ่งที่ฝัน แต่มนุษย์เองก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้ มันไม่ใช่ธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” 

การศึกษาที่ดีสำหรับเขา จึงไม่ใช่เพียงการสร้างช่องทางที่หลากหลายเพื่อผลักดันเด็กไปสู่สายพานต่างๆ แต่ไม่ว่าเด็กจะอยากเป็นอะไร การศึกษาก็พร้อมผลักเขาไปด้วยความเชื่อที่ว่า เขาเปลี่ยนแปลงได้ วันใดที่เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่า สิ่งที่สนใจนั้นไม่ใช่แล้ว การศึกษาจะมีทางใหม่ให้เขาไปโดยไม่ทำให้ชีวิตย่ำแย่

“ผมคิดว่านั่นคือการศึกษาที่คนควรจะคาดหวังในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่สร้างคนไปเป็นนักโน่นนักนี่ มันหมดยุคนั้นแล้ว แต่ยุคนี้ผมคิดว่า วันหนึ่งเด็กอาจไปเป็นยูทูบเบอร์ ไปเป็นเกมเมอร์ ไปเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ ไปทำนู่นนั่นนี่ มันทำได้ และการศึกษาต้องไม่จบแค่ที่โรงเรียนเท่านั้น การเรียนรู้คือทักษะที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต”

ด้านหนึ่ง เด็กไทยกำลังถูกผลักเพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาจากปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง และอีกด้านเด็กจำนวนมหาศาลกำลังถูกตัดโอกาสทางความคิด ถูกตัดโอกาสในการเป็นสิ่งอื่นที่ดีกว่า 

“คนในปัจจุบันที่ยังเชื่อว่ามนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านระบบการศึกษามาแล้ว แล้วยังพูดได้อย่างมั่นใจว่า ‘มนุษย์ไม่เท่าเทียมกันนี่หว่า’ เขาเหล่านี้ถูกผลักออกไปในความหมายที่ว่า การศึกษาที่ดีควรยกระดับความคิด ความเข้าใจโลก การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และยอมรับข้อเท็จจริงบางอย่างของธรรมชาติ 

“แต่ระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนคนที่ควรจะคิดแบบนี้ให้เลิกคิดอย่างเป็นเหตุผล และเชื่อในความเชื่อ ความศรัทธา มากกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์​ และปฏิเสธแม้กระทั่งประโยคพื้นฐานของสังคม เช่น ไม่มีอะไรในโลกที่คงทนถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนได้เสมอ อะไรที่คุณคิดว่าสำคัญ คิดว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ ไม่จริง มันเปลี่ยนได้หมด”