‘บอร์ดเกม’ เวทมนตร์ที่เสกการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องสนุก: เอ็ก – พีรัช ษรานุรักษ์
โดย : ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

‘บอร์ดเกม’ เวทมนตร์ที่เสกการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องสนุก: เอ็ก – พีรัช ษรานุรักษ์

เมื่อพูดถึง ‘บอร์ดเกม’ หลายคนอาจนึกถึงภาพการล้อมวงกับเพื่อน พูดคุยกันบ้าง แกล้งหยอกกันบ้าง ขณะที่เกมบนกระดานดำเนินไปอย่างไม่มีใครทักท้วงหาเวลาจบ เป็นช่วงเวลาที่ความสนุกทำงานพร้อมกับการปฏิสัมพันธ์ แม้ในบางเกมความเอาจริงเอาจังจะเข้าแทรกแซง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบอร์ดเกมมอบประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์และช่วยสร้างเวลาดีๆ ให้ใครหลายคน

ปัจจุบันบอร์ดเกมมีมากมายหลายประเภท แตกต่างทั้งวิธีเล่น จำนวนคนเล่น และเรื่องราวที่สื่อสาร นอกจากการสร้างความสนุกสนานให้ผู้เล่นแล้ว บอร์ดเกมหลายเกมก็ช่วยสร้าง ‘การเรียนรู้’ ไปพร้อมกัน คุณสามารถพบบอร์ดเกมที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์โลก การเมืองการเลือกตั้ง การจัดการทรัพยากร และอีกมากมายที่คุณอาจคาดไม่ถึง – คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า เมื่อบอร์ดเกมบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างไม่จำกัด เพดานโลกการเรียนรู้ก็ถูกทลายไปพร้อมกันด้วย

บอร์ดเกมสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร เบื้องหลังเกมกระดานแสนสนุกนี้ ผู้พัฒนาจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และบอร์ดเกมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกการศึกษาได้ไหม 101 สนทนากับ เอ็ก – พีรัช ษรานุรักษ์ ผู้พัฒนาบอร์ดเกมแห่ง ‘Wizards of Learning’ กลุ่มออกแบบบอร์ดเกมสัญชาติไทย และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Deschooling Game กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้

คุณนิยาม การเรียนรู้ อย่างไร

แต่ก่อนผมมองว่าการเรียนรู้คือการศึกษา เท้าความก่อนว่าผมเคยเป็นเด็กที่ไม่ชอบเรียนในห้องเลย รู้สึกว่าวิชาเรียนน่าเบื่อ พอผมไปเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็คิดว่าตัวเองน่าจะได้ทำอะไรมากขึ้น แต่ปรากฏว่าบางวิชาก็ยังต้องเรียนแบบเลกเชอร์อยู่ดี (หัวเราะ) สาขาที่เรียนคือ product design ทำให้ผมได้ทำงานออกแบบ ก็เลยรู้สึกว่างานออกแบบสามารถสร้างความสนใจให้คนได้ และตั้งคำถามว่าทำไมความสนใจถึงไม่สามารถเกิดในวิชาเรียนสักที ทำไมเราต้องรู้สึกว่าวิชาเรียนมันน่าเบื่อ ผมก็เลยไปเรียนต่อที่อังกฤษในสาขาที่เรียกว่า Design Futures ที่มหาวิทยาลัย Goldsmiths, University of London

จากที่สนใจเรื่องการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเรียน Design Futures เลยตั้งโจทย์ว่าเราจะออกแบบอนาคตของเราเองผ่านการศึกษาได้อย่างไร ประสบการณ์ในการเรียนต่อทำให้เห็นนิยามของการเรียนรู้ที่มากไปกว่าการศึกษา ตอนนี้ผมมองว่าการเรียนรู้เป็นร่มใหญ่ที่มีการศึกษาเป็นหนึ่งในช่องทางการเรียนรู้ จริงๆ แล้วการเรียนรู้คืออะไรก็ตามที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลง เช่น สมมุติเรามองกลับไปในอดีตเมื่อสองวันที่แล้วหรือหนึ่งปีที่แล้ว แล้วเรารู้สึกชอบตัวเองในตอนนี้มากกว่า เรามาลองดูซิว่าอะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงไป นี่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ การศึกษาก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง แต่เป็นการเรียนรู้ที่คนอื่นเขียนหลักสูตรมาให้โดยเรามีบทบาทบางอย่างที่ต้องทำตาม การเรียนรู้บางเส้นทางก็มีคนตัดถนนไว้ให้ แต่บางทีเราก็อยากไปลุยป่าและสร้างการเรียนรู้ของเราเอง

นิยามการเรียนรู้ของคุณ มาบรรจบกับการทำบอร์ดเกมได้อย่างไร

ก่อนหน้าที่จะทำบอร์ดเกม ผมพยายามทำสื่ออบรมการเรียนรู้ เช่น อินโฟกราฟิก แล้วก็พบว่าวิธีการเหล่านี้ทำให้การเรียนรู้น่าสนใจขึ้นได้ ระหว่างที่ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้น่าสนใจขึ้น ก็ได้ไปรู้จักบอร์ดเกม และพบว่ามันมีเวทมนตร์ที่สามารถเปลี่ยนมิติของการเรียนรู้แบบที่เราเคยไม่ชอบได้ มันแก้ pain point ในหลายจุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเปรียบเทียบกับการเรียนแบบเลกเชอร์ บางครั้งพอพูดถึงเนื้อหาไปได้สักพัก หลายคนจะเริ่มเบลอและไม่เข้าใจ แต่บอร์ดเกมสามารถสื่อสารเรื่องราวอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เนื้อหาจับต้องได้ เนื้อหาในบอร์ดเกมถูกย่อยมาแล้วในระดับที่คนสามารถทำความเข้าใจระบบและกระบวนการต่างๆ ได้เลยด้วย

อีกด้านหนึ่ง ผู้เล่นบอร์ดเกมสามารถกำหนดความช้า-เร็วในการรับข้อมูลได้ ปกติถ้าเรียนในห้องเรียน อาจารย์หนึ่งคนจะสอนเด็กประมาณห้าสิบคนในความเร็วเดียวกัน บางคนตามไม่ทัน บางคนเบื่อ แต่เวลาเล่นบอร์ดเกม เราอาจจะอินกับเรื่องราวเหล่านี้และเลือกได้ว่าจุดนี้เราช้าหน่อยนะ หรืออาจจะไปหาข้อมูลเพิ่มก็ได้ คล้ายกับการอ่านหนังสือที่จังหวะความช้า-เร็วแตกต่างกับการดูหนัง

จุดเด่นอีกอย่างของบอร์ดเกมคือการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองได้ เวลาเราเล่นบอร์ดเกม ถ้าเชื่อแบบไหน ก็ลองเล่นไปแบบนั้น เล่นแล้วเราอาจจะเจ๊งไปเลย แต่เจ๊งแล้วก็เล่นใหม่ได้ ถ้าเราสนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ จุดเด่นนี้สอดคล้องกับการฝึกทักษะและการฝึกการวิเคราะห์ที่ต้องอาศัยการทำซ้ำ การได้ทดลองทำอาจทำให้เราเจออะไรที่มากไปกว่าทฤษฎี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมมองว่าเกมสามารถให้ได้

ระหว่างที่ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้น่าสนใจขึ้น ก็ได้ไปรู้จักบอร์ดเกม และพบว่ามันมีเวทมนตร์ที่สามารถเปลี่ยนมิติของการเรียนรู้แบบที่เราเคยไม่ชอบได้

ช่วยเล่าประสบการณ์การเล่นบอร์ดเกมและวินาทีที่ค้นพบเวทมนตร์ของมันให้ฟังหน่อย เกมแบบไหนที่ทำให้รู้สึกว่า ‘ใช่เลย’

จุดที่ผมรู้สึกประทับใจบอร์ดเกมคือขณะที่เราเล่นอยู่ แล้วเรารู้สึก ‘เอ๊ะ’ กับมุมมองที่เกมนำเสนอมา แล้วก็ตื่นเต้นว่าเรื่องนี้มันเล่าแบบนี้ได้ด้วยหรอ มีมุมมองแบบนี้ด้วยหรอ ทำให้ผมเชื่อว่าบอร์ดเกมคือการเรียบเรียงเนื้อหาในรูปแบบที่นักออกแบบหรือคนทำเกมเชื่อ อย่างตอนที่ผมเริ่มเล่นบอร์ดเกม ผมไม่ได้เริ่มจากเกมง่ายๆ เพราะผมตั้งต้นว่าเราจะหาวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ก็เลยเริ่มเล่นเกมที่ชื่อว่า Suburbia เป็นเกมเกี่ยวกับการสร้างเมือง อารมณ์คล้ายๆ เกม Simcity ในคอมพิวเตอร์เลย แต่จะเป็นเกมที่สื่อสารเนื้อหาหรือฟังก์ชันผ่านแอ็กชันของการเล่น เวลาเล่นเราจะได้เรียนรู้ว่าเมื่อลงแอ็กชันต่างๆ ไปจะมีผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างไร

อีกเกมหนึ่งที่ชอบคือเกม Evolution เป็นเกมเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ตอนเริ่มเล่นผู้เล่นจะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เหมือนกันหมด แต่ทุกคนสามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ไม่เหมือนกัน การเลือกวิวัฒนาการก็จะต้องดูว่ามันเหมาะกับสิ่งแวดล้อมแบบไหน ถ้าเลือกวิวัฒนาการพลาด ก็ตาย ซึ่งการเล่นเกมนี้เปลี่ยนมุมมองของผมมาก เพราะแต่ก่อนผมเกลียดวิชาชีววิทยามาก ไม่รู้ว่าเราจะรู้ชื่อไฟลัม ชื่อวิวัฒนาการ ชื่อสายพันธุ์ต่างๆ ไปเพื่ออะไร มันมีผลอะไรกับชีวิตเรา แต่พอเล่นเกมนี้จะเห็นเลยว่า อ๋อ การเลือกวิวัฒนาการมันมีผลต่อชีวิตจริงๆ และเห็นความเชื่อมโยงต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต

เรียกว่าบอร์ดเกมทำให้การทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เป็นมิตรมากขึ้นได้ไหม

ใช่ครับ สมมุติเรามีเนื้อหาอะไรบางอย่าง เราอาจจะเคยมองเห็นมันเพียงแค่มุมเดียว ซึ่งอาจเป็นมุมที่เราไม่ชอบก็ได้ แต่การออกแบบการเรียนรู้ผ่านเกมอาจทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ว่ายังมีมุมอื่นๆ นะ เราเลือกได้ว่าจะขยับเข้าหาเนื้อหาเหล่านี้ในมุมไหน

การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมเหมาะกับคนแบบไหน จะสร้างการมีส่วนร่วมได้จริงไหม คนเป็น introvert เรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมได้หรือเปล่า

ได้ครับ ที่ยกตัวอย่างการเรียนรู้ของผมไป ก็โคตรจะเป็นมุมของ introvert เลยนะ (หัวเราะ) เพราะมันคือการเล่นและทำความเข้าใจตัวเอง แล้วก็แฮปปี้ไปกับการเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้

โอเค มันมีบอร์ดเกมที่ช่วยให้เราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น มีบอร์ดเกมที่ต้องตอบสนองกับสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือประเภทที่ต้องพูดคุยกัน บลัฟกัน แต่บอร์ดเกมไม่ได้แค่ประเภทที่ต้องเล่นกับเพื่อนเท่านั้น ยังมีเกมที่เล่นอยู่บนเนื้อหาประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์การค้าทาสหรือการหลบหนี ประวัติศาสตร์ของยุโรป หรือบอร์ดเกมที่เล่าเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองหลังผ่านภัยพิบัติ บางบอร์ดเกมก็เล่าเนื้อหาที่เฉพาะมาก เช่น เรื่องเกี่ยวกับเซลล์ บอกเล่าปฏิกิริยาภายในเซลล์ และยังมีบอร์ดเกมที่เน้นความสนุกในการแก้ไขปัญหาด้วย

ผมคิดว่าบอร์ดเกมไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าเหมาะกับคนแบบไหน เพราะมันมีบอร์ดเกมหลากหลายมาก เราเป็นแบบไหน ก็ลองหาเกมที่เหมาะกับตัวเราได้ ผมว่ามันมีอยู่แน่นอน มีอยู่มากกว่าที่เราคิดด้วยครับ

ในการสร้างบอร์ดเกมสักเกมเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ ต้องตั้งต้นจากอะไร มีกระบวนการอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นเกมที่ผมทำจะเริ่มจากการรีเสิร์ชเนื้อหาก่อน ผมขอยกตัวอย่างผ่านเกมเกมหนึ่งที่ผมออกแบบแล้วกัน เกมนี้ถูกใช้ในการอบรมเกี่ยวกับความอันตรายของแหล่งน้ำและประเด็นเด็กจมน้ำ ผมเพิ่งรู้จากการทำเกมนี้เหมือนกันว่า ประเทศไทยมีเด็กจมน้ำเป็นอันดับต้นๆ และการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับแรกๆ ของเด็กไทย พอรู้ปุ๊บ ก็เริ่มไปดูว่าแล้วเขาสอนเรื่องนี้ยังไง ก็พบว่าเขามักจะใช้วิธีให้เด็กทบทวนว่าอะไรหรือตรงไหนอันตรายบ้าง ผมเลยลองรีเสิร์ชต่อและตั้งคำถามว่า แล้วสถานที่อย่างโรงงานอุตสาหกรรมหรือไซต์ก่อสร้างที่ดูอันตรายกว่าแหล่งน้ำ ทำไมถึงมีจำนวนคนเสียชีวิตน้อยกว่า สุดท้ายก็ตกตะกอนว่าความอันตรายคือความเสี่ยง ซึ่งจะถูกลบด้วยการระมัดระวังหรือวิธีการป้องกันตัวเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องสอน ไม่ใช่แค่การชี้ว่าสิ่งไหนอันตรายบ้าง แต่ต้องสอนว่าอันตรายก็จริง แต่เราจะมีสติหรือป้องกันตัวเองอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างของการรีเสิร์ชเนื้อหา ว่าเราจะบิดเนื้อหาไปทางไหนถึงจะเหมาะสม

หลังจากรีเสิร์ช เราก็ต้องดูว่าจะออกแบบรูปแบบเกมอย่างไร อย่างเกมเกี่ยวกับอันตรายของแหล่งน้ำ ก็มาคิดว่าเกมแบบไหนบ้างที่เราต้องเล่นโดยใช้ความระมัดระวัง เช่น เกมไม้จังก้า ที่ต้องผลัดกันดึงไม้ออก หรือเกมที่ต้องวางของจัดของไม่ให้ล้ม เหล่านี้คือกลไกง่ายๆ ที่ทำให้เรารู้จักการระมัดระวัง ผมก็เลยเปลี่ยนเนื้อหาเกี่ยวกับความอันตรายของแหล่งน้ำมาอยู่ในกลไกทำนองนี้โดยใช้กระดาษ เราต้องวางกระดาษแบบไหน ถ้ากระดาษร่วงลงไปข้างล่าง ก็เหมือนการตกน้ำ ถ้าตกน้ำแล้วมีเสื้อชูชีพ ถือว่ายังปลอดภัยอยู่ เป็นต้น นี่คือการเรียบเรียงเนื้อหาที่มีหัวใจหลักคือการระมัดระวัง แต่ในเกมก็อาจจะใส่องค์ประกอบอื่นๆ ได้เพื่อเป็นพระรองที่ช่วยทำให้เนื้อหากลมกล่อมขึ้น

ส่วนถัดมาคือดีไซน์และกราฟิก ต้องเป็นการออกแบบที่สอดคล้องกับผู้ใช้ กระบวนการนี้ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ยังเชื่อมโยงกับการสื่อสารเนื้อหาและวิธีการเล่นด้วย บางเกมภาพสวยมากเลย แต่ดูแล้วไม่รู้ว่าเล่นยังไง ขณะที่บางเกมอาจจะดูไม่น่าสนใจ แต่พอเล่นไปแล้วกราฟิกสามารถช่วยสื่อสารได้ ดังนั้น การออกแบบบอร์ดเกมจะต้องใส่ใจทั้งฝั่งภาพประกอบ และฝั่งออกแบบประสบการณ์การเล่น

และส่วนสุดท้ายคือการผลิต ซึ่งการผลิตในไทยก็จะมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เพราะไม่มีอุตสาหกรรมบอร์ดเกมแบบจริงจัง

ในการทำบอร์ดเกมกระบวนการไหนที่ยากที่สุด

จริงๆ ยากทุกส่วนเลยเพราะอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน แต่ส่วนที่ยากและคิดว่าเป็นปัญหาอย่างแรกๆ ในการออกแบบคือการเลือกบิดเนื้อหาให้น่าสนใจ

ผมได้ทำงานกับกลุ่ม Deschooling Game (กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้) และได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณครู ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ ครูคือคนที่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ แต่ด้วยความบีบบังคับของเวลา และเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ทำให้ครูมีเวลาเตรียมการสอนหรือหามุมมองการเล่าเรื่องที่สั้นมากๆ บางทีทำได้แค่เปิดสไลด์แล้วชวนคุย นี่คือวิธีการที่เขาถนัดที่สุด พอเรามาทำงานออกแบบเกมก็เลยยิ่งได้เห็นว่าพาร์ทการเล่าเนื้อหาให้น่าสนใจค่อนข้างยากสำหรับหลายๆ คน แต่ผมกลับรู้สึกสนุกกับพาร์ทนี้มาก เวลาทำงานแต่ละชิ้น ผมใช้เวลากับการหาคอนเซปต์ในการเล่าเรื่องนานที่สุดเลย ก็คงเหมือนกับการทำหนังสักเรื่อง เราอยากจะทำบทหรือส่วนของเรื่องราวให้เคลียร์ ให้ดีที่สุดก่อน

เวลาออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ‘ความสนุก’ เป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน

เกมต้องสนุกครับ นิยามคำว่าเกมสำหรับผมคือกิจกรรมที่เราเอนจอยจะเล่น มีกติกาบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากจะทำ อยากจะท้าทาย เพราะฉะนั้นเกมต้องสนุก แต่สนุกแบบไหน แต่ละคนก็มีคำจำกัดความความสนุกไม่เหมือนกันอีก บางคนความสนุกคือการได้แกล้งเพื่อน บางคนสนุกที่ได้ครุ่นคิด เช่น คนที่ชอบเล่น sudoku หรือหมากรุก เป็นความสนุกแบบเงียบๆ หรือบางคนก็สนุกกับการเข้าใจเรื่องราว

สิ่งที่ตามมาคือ แล้วความสนุกนั้นสอดคล้องกับเนื้อหาขนาดไหน สมมุติว่าเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เครียดมาเลย แต่ทำกราฟิกให้ดูหวานแหววน่ารัก ดูอ่านง่ายๆ มันก็ไม่ควร ไม่สอดคล้องกับเนื้อหา ดังนั้นคำถามที่สำคัญมากๆ คือ เราจะสนุกกับการเข้าถึงเนื้อหานี้ในมุมที่เหมาะสมได้อย่างไร

จากที่มีประสบการณ์ได้แลกเปลี่ยนและทำงานกับครู คนเป็นครูเชื่อในการเรียนรู้ผ่านเกมมากน้อยขนาดไหน หลายคนอาจมองว่าผู้ใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจว่าเกมกลายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้อย่างไร จริงหรือไม่

โห อันนี้ผมเถียงสุดใจเลยครับ ผมเคยจัดอบรมเยอะมาก หลายครั้งที่ผมเห็นว่าคุณครูวัยเกษียณ อายุประมาณ 60 ปี เขาก็มาอบรมด้วย แล้วยังเป็นคนที่เสียงดังที่สุดในการเล่นเกมเลย อินมาก สนุกมากกับการได้ค้นพบว่าเกมทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ ผมมองว่าอายุไม่ใช่ปัจจัย หลายคนอาจจะบอกว่าคนรุ่นใหม่เปิดรับอะไรๆ ได้มากกว่าแต่ผมมองว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ที่อายุช่วงไหน คุณก็สามารถแบบปิดรับความคิดใหม่ๆ เข้ามาได้ ยังสามารถลองผิดลองถูกได้เสมอ

การออกแบบใดๆ ก็ตามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามองว่าของเดิมยังใช้ได้ไม่ดี เราเลยต้องออกแบบ การออกแบบการเรียนรู้ก็เช่นกัน ถ้าเขาเชื่อว่าของเดิมดีอยู่แล้ว ก็อาจจะปิดโอกาสและวิธีการที่เราจะเรียนรู้ผ่านเครื่องมือใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เกมด้วย ผมคิดว่าหลายครั้งเป็นปัญหาที่ระบบครู ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ครูสามารถผิดพลาดได้ ไม่มีแล็บให้ครูทดลอง พอทดลองไม่ได้ ก็ต้อง play safe เสมอ ผมจึงเชื่อว่าการอบรมหรือกิจกรรมที่ทำให้ครูได้ทดลอง ลองคิดลองเล่น ลองผิดลองถูกนอกห้องเรียน จะทำให้ครูได้เปิดมุมมองและนำวิธีการใหม่ๆ ไปใช้ได้

หลายครั้งเป็นปัญหาที่ระบบครู ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ครูสามารถผิดพลาดได้ ไม่มีแล็บให้ครูทดลอง พอทดลองไม่ได้ ก็ต้อง play safe เสมอ

คุณมีกระบวนการ ‘test’ หรือนำเกมไปทดลองใช้อย่างไร อะไรเป็นจุดวัดที่ทำให้คุณรู้ว่าเกมนั้นๆ ตอบโจทย์การเรียนรู้แล้ว

จริงๆ ก่อนที่เราจะทำเกมต้นแบบ (prototype) ขึ้นมาเราจะต้องรู้ว่าจะเทสต์อะไร เช่น อยากรู้ว่าสนุกไหม วิธีการเล่นเกมเข้าใจง่ายไหม คือต้องมีคำถามและมีสมมุติฐานอยู่ในใจว่าแบบนี้น่าจะเวิร์ก แล้วก็ทำเกมออกมาแบบที่เราคิด แล้วเราค่อยไปเทสต์ เพราะฉะนั้นถามว่าจะวัดยังไง ก็วัดตามคำถามหรือสมมติฐานที่เราตั้งในตอนแรก โดยผมจะแบ่งเทสต์เป็นสามขั้นตอน

ขั้นแรก ผมเทสต์กับคนภายใน หรือคนที่รู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไรก่อน ในขั้นตอนนี้จะไม่เทสต์เรื่องอื่นเลยนอกจากว่า ตกลงการเรียบเรียงเนื้อหาแบบนี้ มุมมองแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ มันพอจะเข้าเค้า พอมีกลิ่นอายของเป้าหมายปลายทางที่เราต้องการหรือเปล่า บางครั้งเกมอาจจะยังเล่นไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เราอาจจะเทสต์องค์ประกอบ คอนเซปต์ หรือบางทีอาจต้องลองเอาเกมอื่นมาเทียบเคียงด้วย

ขั้นที่สอง เทสต์กับคนที่เล่นเกมเป็น คือหลังจากที่เราได้คอนเซปต์ของเกมมาแล้ว เราจะเอามาประยุกต์ปรับใช้เพื่อให้เกิดตัวต้นแบบ ที่ต้องเทสต์กับคนเล่นเกมเป็นเพราะเราจะไม่ต้องเสียเวลาอธิบายความไม่สมบูรณ์ของเกมนี้เยอะ คนกลุ่มนี้จะคุ้นชินกับการเล่นเกม เราจะสามารถได้พุ่งเป้าไปได้เลยว่าเกมนี้สามารถสื่อสารเป้าหมายของเราได้จริงรึเปล่า อีกด้านหนึ่ง เวลาเทสต์กับคนที่มีประสบการณ์การเล่นเกมเยอะ เราจะได้คอมเมนต์ทำนองว่า ทำไมไม่ลองทำแบบนี้ล่ะ ขั้นตอนนี้เหมือนการท้าทายว่าเราคิดว่าเกมที่เราทำน่าจะสนุกแล้ว แต่ปรากฏว่าคนเล่นอาจจะเคยเล่นเกมคล้ายๆ แบบนี้อีกเกมนึง เขาอาจจะมีมุมมองว่าองค์ประกอบแบบไหนน่าสนใจ เราจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดได้ ผมเชื่อว่าทุกการเทสต์คือกระบวนการการหาข้อผิดพลาด เพราะฉะนั้นผมจะยินดีมากเลยที่เจอข้อผิดพลาดระหว่างการเทสต์เกม ถ้าเทสต์แล้วคนบอกว่าไม่สนุก ก็เหมือนกับมีเครื่องหมายตกใจขนาดใหญ่โผล่มา แล้วเราก็ต้องถามต่อว่าตรงไหนที่เรารู้สึกเบื่อ หรือตรงไหนที่มันยาก เพื่อเอามาปรับให้ดีขึ้น หรือบางครั้งก็ยกเครื่องใหม่ไปเลยเพราะไม่เวิร์ก

ขั้นที่สาม การเทสต์ที่ดีที่สุดก็คือการเทสต์กับผู้ใช้จริง ที่เราไม่เทสต์กับผู้ใช้แต่แรกเพราะบางครั้งก็คนอาจจะไม่คุ้นชินกับการเรียนรู้ผ่านเกม บางคนอาจจะแอนตี้ และยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดไม่ตรงเป้าหมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการเทสต์แต่ละขั้นตอนจะทำให้เราค่อยๆ ก่อรูปก่อร่าง แล้วก็ค่อยๆ ปรับ ขยายเพิ่ม หรือทำให้เหมาะสมที่สุด

ชวนคุณมองย้อนกลับไปต้อนเป็นนักเรียน มีบทเรียนเรื่องอะไรไหมที่รู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุกและเห็นว่าน่าจะนำเกมเข้ามาช่วยสร้างการเรียนรู้ได้

เยอะมากเลย (หัวเราะ) จริงๆ เกมสามารถใช้ในห้องเรียนได้กับทุกเรื่องเลย อยู่ที่ว่าคนสอนจะสามารถถอดบทเรียนจากการเล่นเกมได้หรือเปล่า การเรียนรู้ผ่านเกมไม่ใช่แค่การจับเด็กมาเล่นเกมแล้วจบนะ แบบนี้ไม่เกิดการเรียนรู้แน่ๆ แต่เกมคือการสร้างประสบการณ์จำลอง และครูคือคนที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์จำลองเหล่านั้นมาสู่บทเรียนหรือโลกแห่งความจริง ดังนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของครูแล้วว่าครูจะถอดบทเรียนจากหนังสือ เกม ภาพยนตร์ สื่ออื่นๆ กระทั่งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของนักเรียนได้ไหม ผมมองว่าเกมที่ดีจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่เฉียบคม ถอดบทเรียนได้ง่าย ขณะที่ครูที่ดีจะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นเข้ากับเนื้อหา แม้ว่าประสบการณ์ของเกมจะไม่เกี่ยว หรือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเนื้อหานั้นๆ ก็ยังสามารถหาแง่มุมหยิบยกมาใช้ได้

แต่ในประสบการณ์ของผม ถ้ากลับไปแก้อะไรในอดีตได้สักอย่าง ผมคงอยากเรียนวิชาสังคมผ่านการเล่นเกม วิชาสังคม-ประวัติศาสตร์ เป็น pain point ของผมเลย ตอนนั้นผมไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าจะรู้เรื่องเหล่านี้ไปทำไม แต่พอเราเล่นเกม เราจะเข้าใจจังหวะของเหตุและผลในการกระทำต่างๆ เราได้ empathy คนในประวัติศาสตร์ว่าเขาทำไมเขาคิดอย่างนั้น ตัดสินใจอย่างนั้น หรือถ้าเราเป็นคนในประวัติศาสตร์แล้วเราอยากจะแก้ไขสถานการณ์ มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้ น่าจะสนุกเลย

เกมที่ดีจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่เฉียบคม ถอดบทเรียนได้ง่าย ขณะที่ครูที่ดีจะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นเข้ากับเนื้อหา

หากครูในโรงเรียนสนใจนำบอร์ดเกมไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน จากเดิมที่ครูมีหน้าที่ ‘สอน’ พอเปลี่ยนเป็นบอร์ดเกมแล้ว ครูจะมีบทบาทอย่างไร จะใช้บอร์ดเกมอย่างไรให้เวิร์กที่สุด

สิ่งที่ครูควรทำอย่างแรกคือการหยิบประสบการณ์จำลองมาสู่ประสบการณ์จริงหรือประสบการณ์ในการเรียนรู้ แต่นอกจากนั้น มีครูหลายคนที่สร้างชมรมบอร์ดเกม ทำให้เด็กๆ หลายคนที่เขามีเวลาว่างและไม่ได้อยากจะออกไปเตะบอล เล่นอะไรกับเพื่อน ได้มีกิจกรรมสนุกๆ ทำ ผมเคยสัมภาษณ์คุณครูในโรงเรียนพลศึกษา เราเข้าใจว่าคนที่เลือกเรียนพละเขาก็คงจะอยากจะออกกำลังกายในเวลาว่าง หรือทำกิจกรรมกีฬาที่เขาชอบ แต่ปรากฏว่ามีคุณครูเปิดชมรมบอร์ดเกมขึ้นมา และมีนักเรียนเข้ามาเล่นเรื่อยๆ เลย

การเปิดชมรมบอร์ดเกมของคุณครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีงบซัปพอร์ต คุณครูต้องเอาเกมที่ตัวเองซื้อมาไว้ที่ห้องชมรมให้เด็กเล่นกัน คือใช้งบส่วนตัวทั้งนั้นเลย แต่พอชมรมรันไปได้ทุกคนก็ได้เห็นว่าเกมช่วยทำให้บรรยากาศหรือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กดีขึ้นด้วย จากแต่ก่อนครูอาจจะเป็นผู้ให้อย่างเดียว ดูเหมือนอยู่ในบทบาทเขาสูงกว่า เป็นคนคุมกฎระเบียบต่างๆ แต่พอเล่นเกมด้วยกันลักษณะความสัมพันธ์มันระนาบลงมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือนักเรียนกับครูสามารถพูดคุยเรื่องนอกเหนือจากการเรียนได้ ปัญหาของนักเรียนก็ถูกดึงมาอยู่ในความรับรู้ของครู ครูก็สามารถที่จะรับฟังและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้ นี่คือโครงสร้างความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจากการเล่นเกมด้วยกัน และเป็นบทบาทที่ผมพยายามผลักให้เกมเข้าไปสู่โรงเรียนมากขึ้น

หลายคนอาจเริ่มเห็นบอร์ดเกมที่หลากหลายมากขึ้น เห็นช่อง YouTube เกี่ยวกับบอร์ดเกมได้รับความนิยม ภายใต้สิ่งที่เราเห็นนี้ อุตสาหกรรมบอร์ดเกมเจออุปสรรคอะไรบ้าง

ก็ยังมีอุปสรรคในเชิงมายาคติหรือความเข้าใจในสังคม ทุกคนน่าจะพอรู้แหละว่ามายาคติไม่ได้แก้กันง่ายๆ หลายคนยังมองเกมเป็นอบายมุข เป็นของเล่น ครูยังริบเกมเด็กเพราะมองเป็นของพนัน สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบันนะ ขณะที่อีกด้านก็ยังมีมายาคติเรื่องการเรียนรู้ในไทย หลายคนมองว่าการเรียนต้องเข้มข้นจริงจัง ไม่ใช่อะไรที่จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ การเรียนต้องตอบข้อสอบให้ถูก ดังนั้นการเอาเกมไปใช้ในโรงเรียนก็เลยต้องพึ่งพาคุณครูที่สู้มากๆ เป็นเหตุผลที่ผมชื่นชมคุณครูหลายๆ คนที่เอาเกมไปใช้ในห้องเรียน หรือนำไปปรับกับหลักสูตร มันเป็นความกล้าและไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของอุตสาหกรรมนี้ ในประเทศไทยมันยังไม่ชัดเจน มันไม่เหมือนกับเวลาเราอยากสกรีนเสื้อสักตัว เราแทบจะคิดออกทันทีเลยว่านี้ทำยังไงบ้าง ต้องไปที่ไหน หรือเข้าเว็บไหน ส่งไฟล์แบบเสื้อไปให้คนผลิตปุ๊ป เสื้ออาจจะมาส่งถึงบ้านภายในเย็นวันนี้เลย เพราะอุตสาหกรรมมันตอบรับ แต่การทำเกมยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและไม่ง่าย อย่างในระดับอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเดียวเนี่ย ยอมรับเลยว่าทำที่จีนอาจจะดีกว่า ถูกกว่า แต่ว่าหลายๆ งานผมก็ต้องทำที่ไทย เพื่อให้โรงงานได้ซ้อมมือ โรงงานที่เปิดรับหลายแห่งเขาก็อยากจะทำนะ อยากเรียนรู้เพื่อทำงานลักษณะนี้ได้ดีขึ้น ถ้าอุตสาหกรรมมันโตขึ้นในสักวันหนึ่ง โรงงานเขาก็จะพร้อมทำงานเพิ่ม

อีกด้านหนึ่งคือเรื่องการใช้เกมเพื่อการเรียนรู้ มีการโต้กันว่าเกมต้องเป็นเกมสนุก ต้องให้ความบันเทิง คือพอเราเอาองค์ประกอบเกี่ยวกับการเรียนรู้เข้าไปใส่ หลายคนก็จะมองว่ามันไม่สนุก ยังมีคนบอกว่า โอ๊ย เกมที่สนุกเขาไม่ต้องสนใจการเรียนรู้หรอก แต่ผมมองว่ามันทำได้ทั้งคู่ อยู่ที่ศิลปะของคนออกแบบ ถ้าคุณมีศิลปะมากพอ คุณก็จะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่สนุกควบคู่กันไปได้ ก็เป็นความท้าทายแบบหนึ่ง ยังมีอะไรให้สำรวจและค้นพบอีกเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันทำให้สนุกได้ มันก็จะทำได้

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world