อาชีวะเรียนออนไลน์อย่างไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ได้เหมาะกับทุกคน
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

อาชีวะเรียนออนไลน์อย่างไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ได้เหมาะกับทุกคน

แม้จะขลุกขลักอยู่บ้าง แต่การเรียนวิชาอย่างคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับการเรียนออนไลน์ ขณะที่ยังมีอีกหลายวิชาที่เราอาจนึกไม่ออกว่าจะสอนทางไกลกันอย่างไร เช่น การนวดกดจุด ดูแลเครื่องจักร หรือเชื่อมเหล็ก ฯลฯ ซึ่งวิชาเหล่านี้ล้วนสอนอยู่ในสถาบันวิชาสายอาชีพ

ตลอดหลายช่วงในปีที่ผ่านมา นักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศต้องเรียนออนไลน์เพราะมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ไม่มียกเว้นตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยหนุ่มสาว แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องสมาธิในการเรียนของเด็ก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านอุปกรณ์การเรียน พัฒนาการของเด็กเล็ก ไปจนถึงโลกกว้างที่ถูกหดแคบของคนหนุ่มสาว ฯลฯ 

แต่ละกลุ่มมีปัญหาของตัวเอง และนักเรียนสายอาชีพก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ยิ่งเมื่อการเรียนของพวกเขาเน้นปฏิบัติ การเรียนรู้ทางไกลจึงเป็นเรื่องยากขึ้นอีกเท่าตัว ยังไม่นับว่ามีนักเรียนที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ซึ่งหมายถึงการห่างไกลสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในเรียนออนไลน์ด้วย 101 คุยกับนักเรียนสายอาชีพที่ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากเหล่านี้ เพื่อให้เห็นมิติปัญหาที่หลากหลายของการเรียนออนไลน์

“พวกเราต้องเน้นปฏิบัติ แต่เรียนทางไกลปฏิบัติไม่ได้”

“ทางวิทยาลัยที่เราเรียน เน้นการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมีสถานการณ์โควิดแล้วต้องเรียนออนไลน์ ก็เลยใช้การจำลองแทนการปฏิบัติจริง” สาระเกศ แก้วแสง หรือ ซีอิ๊ว นักเรียนชั้น ปวช.3 แผนกเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี เล่าถึงการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19

โปรแกรมหลักที่ใช้ในการเรียนออนไลน์คือ Google Meet และ Discord ซึ่งในแผนกที่ซีอิ๊วเรียน เน้นวิชาเขียนโปรแกรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์มากกว่าหนึ่งเครื่องในการเรียน เพราะเครื่องหนึ่งต้องใช้ดูหน้าจอที่อาจารย์สอน อีกเครื่องหนึ่งใช้เขียนโปรแกรมตามไปด้วย 

“นั่งเรียนแต่ละครั้ง มีอุปกรณ์เต็มโต๊ะเลยค่ะ” ซีอิ๊วเล่า

เมื่อวิชาหลักคือการเขียนโปรแกรมที่ต้องใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน การใช้อุปกรณ์จริงจึงจำเป็น แต่เมื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ อาจารย์จึงต้องหาโปรแกรมจำลองให้คล้ายกับที่ใช้จริง เพราะไม่สามารถให้นักเรียนเข้าไปใช้อุปกรณ์ที่วิทยาลัยได้

“โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร มีสายพานลำเลียง เขาใช้อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร (PLC) ในการสั่งงาน มีฟังก์ชันให้ใช้มากมาย ซึ่งถ้าเรียนตามปกติ ทางวิทยาลัยจะมี PLC ชุดทดลองมาให้ใช้ แต่พอเรียนออนไลน์ อาจารย์เลยต้องหาโปรแกรมที่ใกล้เคียงของจริงมาให้ดูตามเพื่อให้เห็นภาพ

“แล้วพอต้องเรียนวิชาเขียนโปรแกรม ปกติถ้าเรียนที่วิทยาลัย อาจารย์จะมีชุดอุปกรณ์ให้ใช้ เป็นคอนโทรลเลอร์ตัวเล็กๆ ที่สั่งงานได้ เขียนโปรแกรมได้ แต่พอเรียนออนไลน์เลยต้องซื้อเองเป็นของใครของมันไว้เรียนที่บ้าน” ซีอิ๊วเล่าถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในการเรียนออนไลน์ หากใครเป็นนักเรียนทุนก็อาจมีเงินช่วยสนับสนุนส่วนนี้ แต่นักเรียนที่ไม่ได้ทุนก็ต้องรับภาระนี้เองเต็มสัดส่วน

จริงอยู่ที่การเรียนปกติ นักเรียนก็ต้องซื้ออุปกรณ์เอง แต่ไม่ต้องซื้อเยอะขนาดนี้ เพราะหากจำเป็นจริงๆ ทางวิทยาลัยก็มีอุปกรณ์จัดเตรียมไว้ให้นักเรียนผลัดกันใช้

“ในหนึ่งเทอม เราเสียเงินไปกับอุปกรณ์พวกนี้เยอะพอสมควร เพราะของบอบบางมากเลย เห็นตัวเล็กๆ บางคนก็คิดว่าไม่แพง แต่ส่วนตัวเราว่าแพงนะ ตัวละ 200 กว่าบาท แต่ละคนก็ใช้ในปริมาณไม่เท่ากัน เรื่องพวกนี้เหมือนใช้ดวง บางคนก็ใช้ไม่พังเลยทั้งเทอม แต่บางคนก็ใช้พังเยอะมากเลย เราอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ไม่มีร้านขายก็ต้องสั่งออนไลน์มาด้วย” ซีอิ๊วเล่า

ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ซีอิ๊วและเพื่อนต้องเรียนออนไลน์ นับแต่การระบาดระลอกสามเป็นต้นมา ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต พวกเขาต้องอดทนกับข้อจำกัด ไม่ว่าจะเรื่องอุปกรณ์ การเรียนการสอนที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ และภาระทางบ้านของแต่ละคน หลายครั้งที่พวกเขาต้องรวมตัวกันที่บ้านใครสักคนเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเรียนไม่ทันเพื่อน

ซีอิ๊วเองอยู่บ้านกับแม่สองคน ที่บ้านเปิดร้านขายข้าวและของชำเล็กๆ ซึ่งเมื่อเรียนออนไลน์ที่บ้าน ในบางวันที่ขายดี ซีอิ๊วก็ต้องช่วยแม่ขายข้าวไปด้วย ทำให้กลับมาเรียนไม่ทันเพื่อน 

“บางทีลูกค้าสั่งข้าวกล่องเยอะๆ เป็นร้อยกล่อง เราก็ฝากเพื่อนบอกอาจารย์ให้อัดคลิปสอนของสัปดาห์นั้นลงคลาสรูมให้หน่อย อาจารย์ก็อัดคลิปให้ แต่อาจารย์บางท่านก็ไม่เข้าใจ ถามเราว่าแล้วถ้าเธอมาโรงเรียน เธอจะทำอย่างไร เราก็เอาคำถามนี้ไปถามแม่ แม่ก็บอกว่าถ้าไม่มีคนช่วยจริงๆ ก็ต้องทำคนเดียว ต้องให้ลูกค้ารอ แต่ถ้ามีคนอยู่ด้วย ก็ต้องช่วยกัน คือก็เห็นกันอยู่ เราก็ต้องปรับใจให้ปล่อยวาง

“ถึงเราหายไปจากการเรียนบ้าง แต่เราส่งงานครบ อาจจะมีส่งช้าบ้าง แต่ส่งตลอด เข้าใจว่าอาจารย์อยากให้เข้าเรียนครบ เราก็พยายามอยู่” ซีอิ๊วเล่าถึงปัญหาหลายทางที่รุมเร้าระหว่างเรียนออนไลน์

เมื่อถูกถามถึงความยากในการเรียนสายอาชีพออนไลน์ ซีอิ๊วบอกว่า “พวกเราต้องเน้นปฏิบัติ แต่เรียนทางไกลปฏิบัติไม่ได้” ซึ่งนั่นหมายการเรียนเท่าที่เรียนได้ แม้จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

“เราคาดหวังแค่ให้รัฐบาลช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ให้พวกเรากลับไปเรียนตามปกติ เราไม่ต้องการอย่างอื่นเลย ขอแค่ให้เร่งแก้ไขปัญหา เพราะเรียนแบบนี้เราเหนื่อยจริงๆ ทั้งเรื่องทางบ้าน อาจารย์รุม ไหนจะการบ้านที่ล้นมือ บางทีส่งไม่ทัน แค่นั้นก็โดนว่าเยอะแล้ว ยังต้องโดนอาจารย์ว่าเรื่องไม่เข้าเรียนอีก มันกดดันค่ะ” ซีอิ๊วกล่าวทิ้งท้าย

ขึ้นเขาเพื่อหาสัญญาณ และรวมตัวเพื่อเรียนแพทย์แผนไทย

ญาณี แซ่กือ หรือ ณี นักศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนตาก เป็นหนึ่งในคนที่เผชิญปัญหาการเรียนออนไลน์ตั้งแต่การระบาดรอบแรกของโควิด-19 เนื่องจากบ้านอยู่บนดอยจึงมีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้ณีและเพื่อนต้องขับรถขึ้นเขาไปแต่เช้าตรู่เพื่อหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต

“เราต้องขึ้นไปเขาที่สูงที่สุดเพื่อหาสัญญาณ ซึ่งมีปัญหาเรื่องถนน เนื่องจากเราอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากเมือง อยู่แต่บนภูเขา ทางเลยไม่ใช่ทางที่ดี เป็นแค่ทางลูกรัง ถ้าฝนตกก็กลายเป็นโคลน เราต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพราะเริ่มเรียน 8 โมง ใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมง” ณีเล่าให้ฟังถึงสภาพที่ต้องเจอจากการเรียนออนไลน์รอบแรก โชคดีที่บ้านของณียังพอมีสัญญาณอยู่บ้าง แต่เพื่อนหลายคนไม่มีทางเลือก ต้องเดินทางขึ้นเขาทุกวันที่มีเรียนเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลฯ 

“ระยะทางแค่ 10 กิโลฯ ก็จริง แต่เป็นทางขึ้นเขาลงเขา ยิ่งพอเป็นหน้าฝนก็มีแต่โคลน เลยต้องใช้เวลานานกว่าจะไปถึงที่ที่มีสัญญาณเรียนได้” ณีเล่า 

อุปกรณ์ส่วนมากที่นักเรียน-นักศึกษาเอาขึ้นไปเรียนบนเขาด้วยคือโทรศัพท์มือถือ เพราะมีขนาดเล็กพกพาง่าย ยิ่งเมื่อดูจากความยากของทาง การพกโน้ตบุ๊กขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปด้วยยิ่งเป็นเรื่องลำบาก ยังไม่นับว่าไม่มีสัญญาณไวไฟเพื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ด้วย

ในช่วงที่เรียนออนไลน์แรกๆ ณีอยู่ในช่วงเรียนภาคทฤษฎี ซึ่งยังไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียนมากนัก แต่พอต้องเรียนออนไลน์รอบนี้ต้องเรียนปฏิบัติมากขึ้น ยิ่งเมื่อเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ในรอบแรกแล้วว่าต้องลำบากในการเดินทางหาสัญญาณ จึงตัดสินใจกับเพื่อนที่ได้ทุน รวมตัวกันที่หอพักวิทยาลัยในเมืองเพื่อเรียนด้วยกัน โดยได้รับความเห็นชอบจากทางวิทยาลัย เพื่อตัดปัญหาทั้งเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การเรียน

เนื่องจากณีเรียนสาขาการแพทย์แผนไทย จึงต้องมีการเรียนนวดกดจุด ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกทำกับคนจริง การเรียนออนไลน์ไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้ ทางวิทยาลัยจึงแก้ปัญหาด้วยการให้ตัวแทนนักศึกษามาเรียนในห้อง

“ในการเรียนปฏิบัติ อาจารย์จะให้ส่งตัวแทนไปเรียนในห้อง 5-6 คน แล้วเปิดกล้องถ่ายทอดให้เพื่อนที่อยู่บ้านหรืออยู่หอดู ถ้าเพื่อนไม่เข้าใจ เราก็กลับมาสอนเพื่อนได้ อาจารย์คัดจากว่าใครสะดวกเดินทางไป เช่น มีเพื่อนที่อยู่ในเมืองหรือพวกเราที่อยู่หอ ก็เป็นตัวแทนไปเรียน เราต้องเรียนเพื่อกลับมาสอนเพื่อน เพราะต้องนวดให้ถูกจุด ไม่อย่างนั้นคนไข้อาจเป็นอะไรก็ได้” ณีเล่าให้เห็นสถานการณ์ โชคดีที่ช่วงโควิดซา พวกเขาได้เรียนพื้นฐานของจุดทั้งหมดแล้ว ทำให้การเรียนรอบนี้เป็นการเพิ่มเติมจากพื้นฐานนั้น 

ภาพการเรียนนวดกดจุดผ่านออนไลน์

ตอนนี้ณีเรียนภาคปฏิบัติจบหมดแล้ว แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญต่อคือเรื่องการหาที่ฝึกงาน “พวกเราต้องเรียน 2 ปีครึ่ง ทำให้จบช้ากว่าเพื่อนต่างสถาบัน พอรวมกับฝึกงานอีก 5 เดือน ก็รวมเป็นเรียน 3 ปี แต่ตอนนี้มาติดช่วงโควิด โรงพยาบาลก็ไม่เปิดรับฝึกงาน ตอนนี้ทางอาจารย์ก็พยายามหาช่องทางในการฝึกงานให้อยู่ แต่อาจารย์บอกว่าอาจจะจบช้าหน่อย เราก็ต้องรอ”

ในภาวะแบบนี้ณีกับเพื่อนต้องคอยปลุกปลอบใจกัน เพื่อให้ผ่านสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปได้ ณีเล่าว่าต้องคอยคุยกับเพื่อนอยู่ตลอด

“เราปลอบใจกันว่าถือเสียว่าเป็นการเรียนรู้อีกด้านหนึ่ง เราเรียนไป อยู่ไป ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะสาขาที่เราเรียนเป็นวิชาที่ค้นหาได้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ปลอบใจกับเพื่อนว่า ดีนะ อย่างน้อยเราก็ยังอยู่ด้วยกัน ดีกว่ารีบจบไปแล้วอาจจะไม่ได้เจอกันอีก เพราะบางคนก็อยู่ไกล ต่างคนอยู่กันคนละพื้นที่”

นักศึกษาส่วนมากที่วิทยาลัย มีบ้านอยู่บนภูเขาสูง ส่วนมากครอบครัวทำการเกษตร ณีเล่าว่าบ้านของณีห่างจากวิทยาลัยประมาณ 100 กว่ากิโลฯ เมื่อนับตั้งแต่การระบาดของโควิด ณีไม่ได้กลับบ้านกว่า 7 เดือนแล้ว 

“ตอนนี้คุยกับพ่อแม่เกือบทุกวันเพราะคิดถึง บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสัญญาณก็เลยยังพอคุยได้ แต่อย่างเพื่อนคนอื่นไม่มีโอกาสคุยเลย นอกจากว่าพ่อแม่เขาจะขึ้นไปไร่บนเขา จะมีสัญญาณขึ้นมาสองขีด เขาก็จะโทรมาหาลูก แต่คุยได้แป้บเดียวก็ต้องวางเพราะพ่อแม่ต้องรีบไปกลับบ้านหรือไปทำไร่”

จากการเผชิญความยากลำบากทั้งหมด เมื่อถามถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ณีบอกว่า อยากให้ช่วยรุ่นน้องหรือเพื่อนที่ไม่สามารถมารวมตัวที่หอพักในเมืองได้ น้องบางคนอาจจะไม่มีโทรศัพท์ เพราะพ่อแม่ไม่มีงบพอที่จะซื้อโทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารได้ บางคนโทรศัพท์เป็นแบบปุ่มกด ไม่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ บางคนไม่มีโน้ตบุ๊ก ไม่มีคอมพิวเตอร์เรียน อยากให้เขาได้มาเรียนในเมือง”

นอกจากนี้ณียังอยากให้ช่วยแก้เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงทุกพื้นที่ “ขอไปหลายครั้งเขาก็ไม่ทำให้ อยากให้มีสัญญาณ อยากให้มีไฟฟ้า แล้วบางครั้งก็อยากให้มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เพื่อไว้ใช้ค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะบางครั้งพอเราไม่รู้แล้วไม่มีช่องทางให้ค้นหา ทำให้เราเรียนได้ไม่เต็มที่ ก็ขาดหายความรู้ตรงนี้ไป ทั้งที่ตามจริงแล้วเราควรต้องได้ความรู้ที่เต็มที่กว่านี้” ณีว่า

ท้ายที่สุดแล้ว สำหรับตัวณีเอง สิ่งที่ทำให้ยังสู้ต่อเพราะเชื่อว่าอนาคตอาจช่วยเหลือคนอื่นได้ “บางครั้งเรียนไปก็ท้อ แต่ก็บอกตัวเองว่าต้องสู้สิ แค่นี้เอง เดี๋ยวโรคระบาดก็หายไป เราตั้งใจเรียนเผื่ออนาคตเราอาจเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ ก็พยายามปลอบตัวเอง ตั้งใจเรียนให้เต็มที่ที่สุด เพื่อจะได้กลับมาแก้ไขปัญหาตรงนี้

“ความฝันของเราคืออยากเป็นข้าราชการด้านการแพทย์แผนไทยโดยตรง อยากเป็นคนดูแลคนอื่น ตอนนี้ก็พยายามอ่านหนังสือเพื่อสอบให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ” ณีทิ้งท้าย

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world