โรงเรียนไร้เสียงออด นักเรียนคือเจ้าของความรู้ ครูคือนักสร้างสรรค์

โรงเรียนไร้เสียงออด นักเรียนคือเจ้าของความรู้ ครูคือนักสร้างสรรค์

“เรียนอย่างไรให้มีความสุข?”

หลายครั้งที่คำถามนี้มักถูกโยนไปยังผู้ใหญ่ในแวดงการศึกษา และไม่บ่อยครั้งที่คำถามนี้จะถูกถามไปยังผู้เรียนโดยตรง

ผู้เรียนที่ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน หมดไปกับห้องเรียนสี่เหลี่ยม

ผู้เรียนที่ใช้เวลา 5 วัน ใน 1 สัปดาห์ หมดไปกับชีวิตในรั้วโรงเรียน

และผู้เรียนที่จะต้องใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนนับตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายอย่างน้อย 15 ปี

เมื่อคำถามที่ว่า “เรียนอย่างไรให้มีความสุข?” ถูกส่งไปยังเหล่านักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาโดยตรง คำตอบที่ได้จึงไม่ใช่เพียงวิธีการที่จะนำไปสู่ความสุข แต่ยังสะท้อนภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นว่า แท้จริงแล้วพวกเขากำลังเผชิญความทุกข์แบบไหนในระบบการศึกษาไทย

มนุษย์เราต้องการความสุข เมื่อเรียนแล้วไม่มีความสุข เขาจึงต้องไปทำอย่างอื่นที่ให้ความสุขแก่เขา อาจจะไปติดยา ไปมั่วสุม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะมนุษย์เราต่างแสวงหาความสุข นี่คือความท้าทายของคนในวงการศึกษาที่จะต้องสร้างสิ่งนี้แก่นักเรียนให้ได้

หากอ้างอิงโดยคำกล่าวของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เราจะเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า ความสุขที่คล้ายเป็นนามธรรมนี้ คือตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของมนุษย์ผู้หนึ่งโดยตรง

เมื่อแลหลังมาดูตัวเลขสักนิดจะพบว่า ปัจจุบันเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คน มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ไปจนถึงการเรียนที่ไม่มีความสุข ทำให้พวกเขาต้องออกไปแสวงหาพื้นที่ความสุขแห่งใหม่ที่ไม่ใช่โรงเรียน

แน่นอนว่า เราไม่ควรชะล่าใจกับตัวเลขนี้

 

มาแข่งกันไหม โรงเรียนใครมีความสุขกว่ากัน

ด็กหญิงอารยา จุ้ยเจริญ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดเนินกระปรอก จังหวัดระยอง เธอยืนยันว่า แม้คำถาม “เรียนอย่างไรให้มีความสุข?” เมื่อแรกฟังจะดูเหมือนง่าย แต่กลับยากยิ่งในเชิงการปฏิบัติจริง นั่นเพราะการหา ‘วิธีการ’ ไปให้ถึงความสุขของการเรียนรู้ กินความไปมากกว่าเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเรียกร้องการร่วมมือกันของทุกๆ คน เริ่มตั้งแต่รั้วบ้านยันรั้วโรงเรียน

“ปัจจัยแรกคือหลักสูตรการศึกษาที่มักจะสอนให้เราเป็นคนเก่งค่ะ บางโรงเรียนที่หนูเคยเห็น มักจัดอันดับนักเรียนที่เก่ง แต่หนูยังไม่เห็นโรงเรียนไหนเลยนะคะที่จัดอันดับว่านักเรียนเรียนแล้วมีความสุขแค่ไหน”

ทั้งที่มนุษย์มีความหลากหลาย แต่สิ่งที่นำมาชี้วัดคือมาตรฐานแกนกลางนั้นกลับมีเพียงหนึ่งเดียว นี่คือเหตุผลที่ทำให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือหลุดจากระบบ ด้วยห้องเรียนที่ไม่ตอบกับศักยภาพและวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกันของมนุษย์แต่ละคน

อารยามองว่า หลักสูตรการศึกษาที่มีอยู่นั้นมักให้ความสำคัญกับ ‘ความเก่ง’ โดยวัดจากเกรดเฉลี่ย มากกว่าการให้ค่ากับ ‘ความสุข’ จากการใช้ชีวิตในรั้วการศึกษา

“ปัจจัยต่อมา พ่อแม่ต้องไม่บังคับลูกๆ ค่ะ เพราะการบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่ชอบ อาจจะทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าของตนเอง เพราะเด็กจะมองว่าเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่มีความสุข เพราะต้องเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ชอบ”

ไม่ใช่เพียงหลักสูตรการศึกษาที่ต้องออกแบบอย่างหลากหลาย แต่อารยามองไปถึงสถาบันครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่ล้วนแล้วแต่มีความสนใจแตกต่างกัน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีศาสตร์วิชาใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

ใครจะคาดถึงล่ะว่า เด็กยุคปัจจุบันเพียงตั้งกล้องและโชว์ศิลปะการแต่งหน้า ก็สามารถสร้างอาชีพใหม่ที่เรียกว่า ‘บิวตี้บล็อกเกอร์’ (beauty blogger) ที่มีผู้สนใจติดตามนับหมื่นนับแสน

แล้วใครจะคาดคิดล่ะว่า ในโลกสังคมออนไลน์การค้าขายจะทำได้ง่ายเพียงจิ้มนิ้วผ่านแอพพลิเคชั่นหน้าจอ

ที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องก้าวออกสู่พื้นที่ใหม่ที่อาจไม่คุ้นเคยนัก เพื่อทำความเข้าใจโลกของการเรียนรู้ในยุคสมัยที่ไม่จำกัดเพียงศาสตร์วิชาใดวิชาหนึ่ง

 

นักเรียนคือเจ้าของความรู้ ครูคือนักสร้างสรรค์กระบวนการ

“หนึ่ง โรงเรียนของเราไม่มีเสียงออด ไม่มีเสียงกระดิ่ง นักเรียนจะรู้เองว่าเวลาไหนเราควรทำอะไร หน้าที่ของเราคืออะไร โดยที่ไม่ต้องมีเสียงออดดังเตือน

สอง คุณครูต้องสร้างบรรยากาศแห่งความรักภายในห้องเรียน บรรยากาศแห่งความรักที่ไม่รวมศูนย์เข้าหาตนเองมากเกินไป แต่เป็นความรักที่ขยายกว้างออกไป คุณครูต้องคำนึงว่าเด็กๆ คือมนุษย์นะคะ มนุษย์มีจิตใจ คุณครูต้องสนับสนุนให้นักเรียนเรียนในสิ่งตนเองชอบ เพราะเมื่อเขาชอบ เขาจะทำได้ดี สุดท้ายเขาก็จะเห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการสร้างความสัมพันธ์และการสร้างบรรยากาศที่ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัย อารยามองว่า ไม่มีการเรียนรู้ใดเกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งในระบบการศึกษาปัจจุบัน เราอาจยังทลายกำแพงนี้ได้ไม่มากนัก โรงเรียนหลายแห่งยังมีการบังคับและสั่งการจากครูสู่เด็ก ไปจนถึงการลงโทษด้วยความรุนแรงในนามของความรัก ซึ่งวิธีการดั้งเดิมนี้ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุคสมัยใหม่

เมื่อใดก็ตามที่ครูและศิษย์มีความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพนับถือซึ่งกันและกัน รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นฐานที่แข็งแรง บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

“สาม นั่นก็คือโรงเรียนค่ะ”

อารยายกตัวอย่างโรงเรียนของเธอที่ได้เปลี่ยนระบบนิเวศของโรงเรียนผ่านการนำนวัตกรรมการศึกษาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ จิตศึกษา (กระบวนการพัฒนาศักยภาพภายใน) PBL (Problem Based Learning) คือ การเรียนรู้โดยตั้งต้นจากปัญหา และ PLC (Professional Learning Community) หรือการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

“โรงเรียนของหนู ตอนเช้าเราไม่มีการอบรมเด็กนักเรียนหน้าเสาธง เพราะการที่คุณครูอบรมเด็กนักเรียนหน้าเสาธง คุณครูมักจะพูดในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกค่ะ จึงทำให้วันนั้นของเด็กๆ ไม่มีความสุข เพราะโดนดุด่าตั้งแต่เช้าเลยค่ะ

“เมื่อเดินเข้ามาในห้องเรียน หนูจะเจอกับเพลงคลื่นสมองต่ำ (ดนตรีที่ใช้คลื่นความถี่ต่ำ เพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง สร้างพลังสงบและพร้อมรับการเรียนรู้) นั่นก็คือการทำจิตศึกษาที่ช่วยขัดเกลาเราทั้งด้านอารมณ์และจิตใจ การทำจิตศึกษาในช่วงเช้าทำให้สมองของเราปลอดโปร่งพร้อมรับการเรียนรู้”

 

เรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ฝึกฝนภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชั่น

วิธีการเรียนในโลกยุคใหม่ อารยายกตัวอย่างว่า เธอได้เรียนวิชาภาษาไทยผ่านการอ่านวรรณกรรม เธอได้เรียนรู้ผ่านการตีความเนื้อเรื่องและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้หลักภาษา วรรณกรรมนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์อันเป็นสากล การเชื่อมโยงตนเองกับตัวละคร เนื้อเรื่อง ฉาก บทสนทนา ไปจนถึงการตกผลึกแง่คิดบางอย่างผ่านการอ่าน จึงเป็นการเรียนรู้ที่อารยาและเพื่อนๆ รู้สึกสนุกมากกว่าการท่องจำตำราเช่นอดีต

“โรงเรียนของหนูเรียนภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชั่นค่ะ ภาษาอังกฤษคือภาษาต่างชาติ เป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคย และตัวหนูเองก็มักจำศัพท์ไม่ค่อยได้ แต่เมื่อได้เรียนผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้หนูได้เล่นไปด้วย สนุกไปด้วย พร้อมกับจำคำศัพท์ได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ”

ในช่วงบ่ายของวัน กิจกรรมที่อารยาจะได้ทำมีชื่อเรียกว่า PBL (Problem Based Learning) หรือการเรียนรู้โดยตั้งต้นจาก ‘ปัญหา’ เป็นการเรียนโดยบูรณาการ 5 วิชาเข้าด้วยกัน ผ่านกระบวนการที่ชวนผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์

“PBL ทำให้เราไม่ต้องเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งมากจนเกินไป ความสุขของหนูที่ได้เรียน PBL คือเราได้เป็นเจ้าของหน่วยการเรียนรู้เอง เราสามารถแก้ไขปัญหา คลี่คลายปัญหา และวิเคราะห์ปัญหา ไปจนถึงสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยค่ะ

“สุดท้ายก่อนกลับบ้าน เรามีกิจกรรม AR (After Action Review) หรือการสรุปความรู้ที่เราได้เรียนค่ะ เช่น ในตอนเช้าและบ่าย เราเรียนอะไรมาบ้าง ในช่วงเย็นเราก็สามารถแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ต่างๆ ให้กับเพื่อนๆ ได้อีกด้วยค่ะ”

ในการเรียนหนึ่งวันของอารยาที่เธอได้ไล่เลียงมานั้น จะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดพลังของครูที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง หากขาดพลังของผู้เรียนที่กระหายต่อการเรียนรู้ หากขาดพลังครอบครัวที่สนับสนุน หรือหากขาดวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เปิดรับสิ่งใหม่และลงมือทำ

ในวันที่เด็กๆ ลุกขึ้นมาส่งเสียงอย่างตรงไปตรงมา ว่าการศึกษาแบบไหนที่พวกเขาอยากได้ ห้องเรียนแบบไหนที่เขาอยากเห็น ครูแบบไหนที่เขารู้สึกปลอดภัย หลักสูตรแบบไหนที่เขาอยากเรียน และปัญหาอะไรที่เขาอยากให้แก้

วันนี้เราต่างได้ยินเสียงเหล่านั้นดังขึ้นเรื่อยๆ อาจถึงเวลาที่เราทุกคนต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังว่า แล้วเราจะสร้างการศึกษาอย่างไรที่นักเรียนจะมีความสุข

“หนูหวังว่าเสียงเล็กๆ จากเด็กอย่างหนูจะสามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้อย่างทัดเทียมกันค่ะ” อารยากล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

 

การศึกษาที่ดี เรียกร้องพลังสร้างสรรค์ของ ‘ทุกคน’

สมเดช อ่างศิลา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินกระปรอก เล่าว่า ช่วงแรกที่เขาได้เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้ มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มคิดที่จะนำนวัตกรรมการศึกษามายกระดับโรงเรียนแห่งนี้

“มีผู้ปกครองท่านหนึ่งจูงมือลูกเดินผ่านหน้าโรงเรียน แต่ไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียนผมนะครับ เขาเดินเลยไปยังอีกโรงเรียนหนึ่ง ผมคิดในใจว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาไม่เลือกที่จะเรียนที่โรงเรียนของเรา เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ผอ.สมเดช มุ่งมั่นที่จะทำให้โรงเรียนเป็นที่รู้จัก ผ่านการเคี่ยวเข็ญนักเรียนในการทำการทดสอบระดับชาติ และสามารถติดอันดับ 1 ใน 5 โรงเรียนของอำเภอบ้านฉาง

พอช่วงเทศกาลทดสอบระดับชาติ เราจะติวเด็กๆ อย่างหนัก มาโรงเรียนแต่เช้า กลับเย็น ไม่เว้นแม้เสาร์อาทิตย์ เราทำสำเร็จ บางปีเราได้อันดับ 1 ด้วยซ้ำ แต่ผมก็กลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ ทำไมตลอดระยะเวลาที่เราจัดการเรียนการสอน เด็กจึงเอาอาวุธไปสู้กับเขาไม่ได้

ผอ.สมเดช เริ่มตั้งคำถามและมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการจัดการศึกษาในโรงเรียน เขาได้เดินทางไปศึกษากระบวนการของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ก่อนนำนวัตกรรมกลับมาประยุกต์ใช้กับบริบทของโรงเรียนวัดเนินกระปรอก ผ่าน 3 กระบวนการใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การพัฒนาภายในของผู้เรียนผ่านกิจกรรมจิตศึกษา สอง การสร้างการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ PBL (Problem Based Learning) และสาม การสร้างกระบวนการพัฒนาครูผ่านกระบวนการ PLC (Professional Learning Community)

“ผมเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนตารางเรียนใหม่ทั้งหมด เดิมเราเรียนเป็นรายวิชา ต่อมาเราเอานวัตกรรมทั้งหมดนี้ไปสู่การจัดการเรียนการสอน เช่น เอาจิตศึกษาไว้ตอนเช้า แล้วเริ่มเรียนด้วยวิชาหลักผ่านการนำ PBL มาบูรณาการวิชาเรียน เราใช้ AR (After Action Review – การทบทวนหลังปฏิบัติงาน) ในการถอดบทเรียน แล้วสุดท้ายคือกระบวนการ PLC มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพครู

“มากกว่านั้น เราให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน เช่น มาร่วมเรียนรู้กับลูก จิตศึกษาคืออะไร PBL คืออะไร สร้างเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด”

ผอ.สมเดช เชื่อว่า หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้คือ ผู้บริหารที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของโรงเรียน จะต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้อยู่เสมอ

เพราะความสร้างสรรค์ในการสร้างการศึกษาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ และไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง การศึกษาที่ดีเรียกร้องพลังของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของมนุษย์ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เอื้อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสุข โดยที่ไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้กลางทางอีกต่อไป