มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เปิดตัวห้องเรียนโลกเสมือนจริง
โดย : VOA News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เปิดตัวห้องเรียนโลกเสมือนจริง

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เปิดตัวห้องเรียนเสมือนจริง หรือ Virtual Classroom ซึ่งใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) แบบเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในห้องเรียนเสมือนเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัยจริงๆ สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสาร เชื่อมต่อ และเข้าถึง จะไร้พรมแดนกีดขวางอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เทคโนโลยี VR ไม่นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทว่ากลับเริ่มแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย VR คือการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่จำลองมาจากสภาพแวดล้อมจริงที่คนสามารถเข้าไปสัมผัสและควบคุมได้ ผ่านการสวมใส่อุปกรณ์ (headset) ที่จะทำให้เห็นสภาพแวดล้อมและวัตถุเสมือนจริง ซึ่งการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวจะควบคู่ไปการใช้งานเครื่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสกับวัตถุและสภาพแวดล้อมแบบเสมือนจริงที่เห็นตรงหน้าได้

เจเรมี ไบเลนสัน (Jeremy Bailenson) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ริเริ่มและทำการสอนชั้นเรียนหรือหลักสูตรใหม่ในชื่อ “Virtual People” กล่าวว่า ตนเองได้แทรกการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยี VR ให้แก่นักศึกษามานานกว่า 20 ปี ซึ่งทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการสาธิตให้เห็นขีดความสามารถของ VR ก็คือการสร้างหลักสูตรเต็มรูปแบบที่จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์สัมผัสกับเทคโนโลยี VR อย่างจริงจังมากขึ้น

สำหรับการเรียนการสอนและเนื้อหาการเรียนในชั้นเรียน VR นี้จะครอบคลุมถึงการขยายขอบเขตของ VR ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น วัฒนธรรมบันเทิง วิศวกรรมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ในแต่ละสัปดาห์ตามกำหนดระยะเวลาของหลักสูตรจะมีใจความสำคัญ (center) ของการใช้เทคโนโลยี VR ในโลกแห่งความเป็นจริงในด้านต่างๆ พร้อมเปิดโอกาสในนักเรียนแต่ละคนได้ใช้งาน VR ภายในคาบเรียน และให้นักเรียนทั้งชั้นเรียนสามารถก้าวเข้าสู่โลกเสมือนพร้อมๆ กันด้วย

“ในหลักสูตร Virtual People นักศึกษาไม่เพียงแต่จะได้ทดลองใช้อุปกรณ์ VR เท่านั้น แต่ VR จะกลายเป็นสื่อกลาง (medium) ที่นักศึกษาต้องพึ่งพา ซึ่งเท่าที่ผมทราบมา ไม่เคยมีหลักสูตรไหนหรือผู้สอนคนใดสามารถเชื่อมโยงนักเรียนจำนวนหลายร้อยคนด้วยอุปกรณ์แว่นตา VR เป็นระยะเวลานานหลายเดือนแบบนี้มาก่อน” ศาสตราจารย์ไบเลนสันกล่าว

รายงานระบุว่า เมื่อลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรดังกล่าวแล้ว นักเรียนแต่ละคนจะได้รับอุปกรณ์เป็นแว่นตาสวมศีรษะอย่าง Oculus Quest 2 สร้างโดย เมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ VR ที่ใช้งานตลอดหลักสูตร โดยทางเมตากล่าวว่า ชุดอุปกรณ์นี้จะมีส่วนสำคัญต่อ “เมตาเวิร์ส” (metaverse) หรือจักรวาลนฤมิต ในอนาคต และทางเมตามีแผนการที่จะพัฒนาร่วมกับบริษัทอื่นๆ ต่อไป

ด้านมหาวิทยาสแตนฟอร์ดกล่าวว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา สองหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ VR ได้ให้นักศึกษาจำนวน 263 คนสามารถใช้เวลาร่วมกันเกือบ 3,500 ชั่วโมงในสภาพแวดล้อม VR โดยนักเรียนสามารถไปทัศนศึกษา ร่วมสนทนาเป็นกลุ่ม หรือแม้แต่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแสดงดนตรีสดและการแสดงอื่นๆ แบบเสมือนจริงได้

นอกจากอุปกรณ์สวมศีรษะ (headset) แล้ว ทางหลักสูตรยังจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์เพื่อใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างครูผู้สอนกับนักศึกษา โดยศาสตราจารย์ไบเลนสันกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยตัดสินใจใช้ซอฟต์แวร์ ENGAGE ซึ่งเป็นระบบสื่อสารเสมือนจริงที่บริษัทใหญ่ๆ และองค์กรการศึกษาต่างๆ ใช้ในการจัดการประชุมและกิจกรรมเสมือนจริงต่างๆ

ไซอัน เดอโวซ์ (Cyan DeVeaux) นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แสดงความเห็นในฐานะผู้ช่วยสอนในชั้นเรียนว่า เทคโนโลยี VR ช่วยให้ผู้คนสามารถ “จินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” โดยได้ยกตัวอย่างหนึ่งในกิจกรรมฝึกหัดของชั้นเรียน อย่างแนวทางการทำสมาธิที่นอกโลก ซึ่งนักศึกษาสามารถสาธิตให้เห็นด้วยร่างอวตาร์หรือร่างจำลองที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถสร้างฉากที่ไม่ธรรมดาด้วยตนเองได้อีกด้วย

ขณะที่อัลลิสัน เลตเทียร์ (Allison Lettiere) นักศึกษาเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร VR กล่าวว่า ก่อนมาเรียน เคยคิดว่า VR เป็นเทคโนโลยีของวิดีโอเกมเท่านั้น แต่หลักสูตรนี้กลับแสดงให้เห็นเนื้อหาและข้อมูลมีค่ามากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี VR ที่ตนเองน่าจะสามารถนำไปใช้ในอาชีพการงานในอนาคตต่อไปได้

ด้านโซเฟีย มารีย์ วอลเลซ (Sophie Marie Wallace) นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม กล่าวว่า หลักสูตรนี้ช่วยให้ตนเองสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงประสบการณ์ของโลกเสมือนจริง ซึ่งช่วยให้ค้นพบเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่นการใช้ VR เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเล่นกีฬาทั้งบนบกและทางน้ำ เป็นต้นทั้งนี้ ตัวหลักสูตรชั้นเรียน VR นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการ Virtual Human Interaction Lab ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งทางแล็บกำลังดำเนินการศึกษาว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมทางการศึกษาได้อย่างไร

โดยทางศาสตราจารย์ไบเลนสันและผู้ช่วยสอนอย่างเดอโวซ์มีแผนที่จะใช้ข้อมูลจากชั้นเรียน VR ในการตรวจสอบความแตกต่างของพฤติกรรมในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง และหวังว่าข้อมูลที่ได้นี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้เข้าใจความแตกต่างของพฤติกรรมเหล่านี้ ที่จะนำไปสู่การขยายตัวของเทคโนโลยีโลกเสมือน (VR) ทางการศึกษาได้ในที่สุด

ที่มา : US University Launches First Full Class in Virtual Reality