กสศ. จัดกิจกรรมขอบคุณครู Thank You Teacher ผู้เป็นต้นทางข้อมูลความช่วยเหลือเด็กทุนเสมอภาคในพื้นที่​ภาคใต้​

กสศ. จัดกิจกรรมขอบคุณครู Thank You Teacher ผู้เป็นต้นทางข้อมูลความช่วยเหลือเด็กทุนเสมอภาคในพื้นที่​ภาคใต้​

เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ ภายใต้ธีมงาน สานพลังทีม เสริมพลังใจ สร้างสรรค์โอกาส เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ครูจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเข้ามาดูแลนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จนได้ข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานของ กสศ. มาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ โรงแรมหรรษา เจ บี จังหวัดสงขลา หลังจากจัดไปแล้วที่เวทีภาคเหนือ ณ โรงแรม เซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโอกาสแสดงความขอบคุณไปยังคุณครูทั่วประเทศผู้เป็นกำลังหลักในการจัดทำข้อมูลนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยข้อมูลจากคุณครูนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่จะดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษา เพื่อติดตามและช่วยเหลือให้อยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กิจกรรม Thank You Teacher ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณครูจากทุกโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เป็นกำลังสำคัญในการลงพื้นที่สำรวจติดตาม บันทึกข้อมูลนักเรียนร่วมกับ กสศ. ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำมากำหนดแนวทางการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ยังขาดแคลนปัจจัยในการศึกษามากกว่า 1.3 ล้านคนทั่ว​ประเทศ มีครูร่วมคัดกรอง​ถึง​ 342,749 คน​ มีโรงเรียน​ในสังกัด​ต่าง​ ​ๆ​ ร่วมคัดกรองเด็ก​ ถึง​ 31,175  แห่ง

กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการ กสศ.

กนิษฐา กล่าวว่า ครูจากสังกัดต่าง​ ๆ ​ทั่วประเทศ​ ถือเป็นต้นทางสำคัญของข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำไปใช้แก้ปัญหาเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นด่านหน้าสำคัญที่สะท้อนปัญหาในพื้นที่ เพราะได้เข้าไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในแต่ละแห่งในพื้นที่จริง แนวทางในการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ของครูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเด็กในพื้นที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกบันทึกและนำมาเก็บไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. นำไปช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้มีพลังที่สามารถผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวตามค่าครองชีพในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากครูยังทำให้ทราบว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้พบนักเรียนจำนวนมากที่ถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ เนื่องจากในที่อยู่อาศัยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ยังเข้าไม่ถึงการดูแลทางสาธารณสุข ข้อมูลที่ได้จากครูสามารถนำไปใช้ระดมทุนร่วมกับภาคเอกชน และสามารถสร้างความร่วมมือในการวางระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงถูกนำไปต่อยอดการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือให้ครอบคลุมในทุกมิติไ“งานที่จัดขึ้นยังเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ที่ได้จากการทำงานของครูในแต่ละพื้นที่ ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมที่ทำให้เห็นภาพการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ระหว่างครูทุนเสมอภาคจากทุกสังกัดทั่วประเทศ ได้เห็นกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าได้ไปพบเจออะไรบ้างมีประสบการณ์อะไรบ้างที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง มีอะไรที่เป็นเรื่องราวน่าประทับใจระหว่างที่ลงไปเยี่ยมบ้านเด็กแต่ละคนในพื้นที่ และมีกิจกรรมที่ทำให้เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลเด็กระหว่างเยี่ยมบ้าน กิจกรรมในส่วนนี้จะแสดงให้เห็นว่าการเก็บข้อมูลเด็กให้สมบูรณ์ที่สุดเป็นเรื่องสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของ กสศ. ข้อมูลที่ได้มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จะถูกนำไปกำหนดนโยบายในการทำงานได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลที่ได้ทำให้หน่วยงานและผู้ที่ต้องการช่วยเหลือทราบว่าจะออกแบบการช่วยเหลือเด็กที่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนในพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง”

กนิษฐา กล่าวว่า อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในงานนี้ คือการจัดพื้นที่ให้ครูที่เข้ามาร่วมโครงการทราบว่าแม้นักเรียนที่ครูได้ไปสำรวจมาจากพื้นที่ต่าง ๆ จะไม่ได้รับทุนเสมอภาค แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ หรือทุนอื่น ๆ ที่สามารถส่งต่อความช่วยเหลือนักเรียนที่ยังขาดแคลนแต่ไม่ได้รับทุนนี้อีกมากมาย โดยภายในงานจะมีข้อมูลที่บอกแนวทางในการดำเนินการอย่างละเอียด เพื่อหาทางออกให้กับนักเรียนที่ยังขาดปัจจัยในการเรียนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ครูมาพบปะแลกเปลี่ยนสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ยังเป็นโอกาสสำคัญในการนำประสบการณ์ของครูกลับมาสรุป สังเคราะห์ พัฒนาและขยายผลกระบวนการทำงาน รวมถึงสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ธิดารัตน์​ บุญวิจิตร ​ครู​โรงเรียนเทศบาล​ปากพนัง​ จ.​นครศรีธรรมราช​ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า​การ​เดินทาง​เข้าไปสำรวจเยี่ยมบ้านเด็กในพื้นที่​ ทำให้ทราบว่า​ เด็กบางคน​มีชีวิตความเป็นอยู่​ที่ค่อนข้าง​ลำบาก บางคนมีบ้านอยู่ในพื้นที่​ป่าโกงกาง​ ต้องเดินทาง​ด้วยการเดินเท้าไปกลับบ้านเท่านั้น​ รถไม่สามารถเข้าถึงบ้านได้​ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมแต่ละวัน​เด็กจึงมาเรียนสาย​ เพราะต้องใช้เวลาเดินทาง​มาเรียนมากกว่าเด็กคนอื่น​ การได้เห็นสภาพความเป็นอยู่​ของเด็ก ทำให้​สามารถนำปัญหา​ที่ประสบอยู่​มาช่วยกันหาทางออก​ให้กับเด็กได้​ นอกเหนือจากการขอทุนเสมอภาคให้แล้ว​ ยังได้ช่วยกันหาวิธีแบ่งเบาและร่นระยะเวลา​ใน​การ​เดินทางมาเรียน ทำให้เด็กมีกำลังใจในการมาเรียนดีขึ้น​และตั้งใจ​เรียนม​ากขึ้น

สุดใจ​ บัวงาม ครูโรงเรียน​บ้านเกตรี​ จ.​สตูล​ เล่าว่า​การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบว่า​แม้จะมีการจัดสรรทุนเสมอภาค​ให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ​แล้ว​ เด็ก​บางคนยังต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ​ โดย​เฉพาะ​เรื่องกำลังใจ​ หรือทางออกในชีวิต​ บางคนมาปรึกษา​ว่า​ไม่สามารถ​เรียนต่อในระบบได้​ ก็ให้คำแนะนำให้ไปเรียนการศึกษา​นอกโรงเรียน​ หรือสายอาชีพที่เหมาะสม​ การลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน​รับฟังและช่วยแก้ไขปัญหา​ ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่ง​ซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ​ โดยเฉพาะ​ด้านกำลังใจซึ่งสำคัญ​พอ ๆ​ กับเงินช่วยเหลือ กลับมามีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถหลักประกันในอนาคต​ได้

จันทร์จิรา​ บัวทอง​ ครูโรงเรียน​วัดเขาลำปะ​ อ.​ชะอวด​ จ.นครศรีธรรมราช​ เล่าว่า​การเยี่ยมบ้านนักเรียนในโรงเรียน​ขนาดเล็ก​ที่มีเด็กนักเรียน​ทั้งโรงเรียน​เพียง 160 คน​ ทำให้ทราบว่าข้อมูลของเด็กแต่ละคน​ในมิติต่าง​ ๆ​ โดยเฉพาะ​ที่มาจากครอบครัว​ยากจน​ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเป็น​พิเศษ​ เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีปัญหา​ที่คล้ายคลึง​กัน​คือขาดแคลนทุนทรัพย์​ แต่ก็ยังมีรายละเอียด​อื่น​ ๆ​ ที่ต้องเข้าไปช่วยประคับประคอง​ เช่น​ มาจากครอบครัว​ที่แตกแยก​ มีแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่น​ขาดทักษะ​ในการดูแลลูก​ ๆ​ หรือประสบปัญหา​ว่างงาน​ ขาดรายได้

“การเยี่ยมบ้านเพื่อจัดทำข้อมูลส่งเข้าสู่ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ​มาก เพราะทำให้เห็นรายละเอียดปัญหาของเด็กแต่ละคน​ที่ไม่เคยทราบมาก่อน​ สามารถ​นำปัญหา​ที่พบมาปรึกษา​หาทางออก​ สะท้อน​ไปถึงผู้ใหญ่​หรือภาคส่วนอื่น ๆ​ ที่​เกี่ยวข้อง​กับปัญหาที่ละเอียดอ่อน​ให้เข้ามาช่วยเหลือ​อย่างใกล้ชิด​และต่อเนื่อง​ได้”

กิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ จะจัดครั้งต่อไปในพื้นที่​ภาคกลาง​ที่ จ.นนทบุรี ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ณ โรงแรม le cassia ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2566​