พฤติกรรมเด็กติดจอ มีความหมายอย่างไรสำหรับการเรียนรู้
โดย : Lauraine Langreo-Education Weeks
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

พฤติกรรมเด็กติดจอ มีความหมายอย่างไรสำหรับการเรียนรู้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมยอดฮิตของเด็กวัยเรียนทั่วโลกในปัจจุบันอย่าง พฤติกรรมติดหน้าจอ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เวลาที่เด็กๆ ใช้ไปกับการจ้องจอดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ต้องกังวล แต่ด้วยงานของโรงเรียนที่ทำผ่านออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสวัสดิภาพของนักเรียนจึงเพิ่มสูงขึ้น

โดยผลการสำรวจของ Common Sense Media พบว่า การใช้หน้าจอโดยเฉลี่ยสำหรับเด็กอายุ 8 ถึง 18 ปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างปี 2019-2021 ถึง 17%

ขณะที่ The American Academy of Pediatrics หรือ AAP ซึ่งเป็นสถาบันด้านกุมารแพทย์ศาสตร์ แนะนำให้เด็กอายุ 2 – 5 ขวบใช้เวลาดูหน้าจอดิจิทัลทุกประเภทไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่ AAP ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาสำหรับการใช้ในโรงเรียนหรือสันทนาการสำหรับเด็กโตวัยเรียน

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ แต่การที่เวลาการใช้หน้าจอเพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและทักษะทางสังคมของนักเรียนตั้งแต่อนุบาลยันชั้นมัธยมปลาย  ซึ่งเหล่านักการศึกษาจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเทียบกับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากเวลาหน้าจอที่เพิ่มขึ้นด้วย แล้วเวลาอยู่หน้าจอนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่ามากเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนพูดคุยกับ Education Week เกี่ยวกับวิธีที่นักการศึกษากังวลในเรื่องเวลาที่นักเรียนใช้ไปกับการดู Chromebook, iPad หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อเรียนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหลังจากเรียนเสร็จแล้วจะตามมาด้วยชั่วโมงของโทรทัศน์หรือวิดีโอเกม

ผลจากการศึกษาวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA Pediatrics พบว่าเวลาโดยรวมที่มากขึ้นบนหน้าจอในแต่ละวัน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพนั้นเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางภาษาที่ลดลง

ผลการวิจัยอื่น ๆ ยังทำให้เกิดคำถามว่าการใช้ดิจิทัลทั้งหมดนี้อาจมีผลกระทบทางลบต่อทักษะการอ่านของนักเรียน

ทั้งนี้ งานวิจัยหนึ่งพบว่า เวลาหน้าจอเชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่ไม่ดี และ คะแนนสอบที่ต่ำลง ขณะที่ครูยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เด็กมีเวลาอยู่กับหน้าจอดิจิทัลในห้องเรียนเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ดิจิทัลส่งผลต่อนักเรียน ครู และชีวิตในโรงเรียนโดยทั่วไป ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเพื่อให้นักเรียนไม่ใช้เวลาอยู่หน้าจอในห้องเรียนนานเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ครูต้องไม่พึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการสอนมากเกินไป ซึ่งในส่วนของการศึกษาทางไกลทางผู้เชี่ยวชาญได้จัดทำคำแนะนำไว้ 9 ข้อดังนี้คือ

1) ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ดังนั้น การมีส่วนร่วมก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญกระตุ้นให้ครูเลือกเกมที่มีชีวิตชีวา หรือการอภิปรายมากกว่าการบรรยายอย่างเดียว 

2) อย่าให้เทคโนโลยีมาบังตาคุณ นักการศึกษาค้นพบว่าตัวเองล้อมรอบด้วยครูที่พยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสอนให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ครูเหล่านี้กลับลืมไปกว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ 

3. คิดถึงเป้าหมายการเรียนรู้ก่อนเสมอ ท่องไว้เสมอว่า ประสบการณ์การเรียนรู้คือสิ่งที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน และหน้าจอเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น

4. สร้างตารางกิจกรรมสำหรับการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้มีการเรียนการสอนแบบออฟไลน์ และพัฒนาทักษะทางร่างกายและความคิดได้

5. พยายามตัดเวลาที่ใช้หน้าจอออกไป ในกรณีที่สอนออนไลน์ ครูอาจใช้เวลาบรรยาสั้น ๆ แล้วปล่อยให้นักเรียนไปค้นคว้าจากหนังสือหรือตำราที่กำหนด ก่อนกลับมาจัดกลุ่มในตอนท้ายสำหรับการอภิปรายกลุ่ม 

6. เลือกใช้วิธีการเก่า ๆ ในการเรียนบ้าง อย่างการใช้ปากกากับสมุดบันทึก หรือ การอ่านจากหนังสือเพื่อพักสายตาจากหน้าจอ 

7. ลองพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้หน้าจอ เช่น หนังสือเสียง พอดแคสต์ หรือการอ่านออกเสียงที่บันทึกไว้

8. กำหนดให้นักเรียนจดบันทึกระหว่างการฟังบรรยายออนไลน์ แทนการใช้โปรแกรม Word 

9.เชื่อมั่นในการเรียนรู้แบบลงมือทำ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เศษส่วนโดยการทำอาหารตามสูตร หรือสำรวจธรรมชาติและเขียนรายงานออกมา ซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้สามารถทำให้เด็กออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งยังทำให้นักเรียนมีความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานวิชาการได้ 

ทั้งนี้ นอกจากการบริหารจัดการเวลาการใช้หน้าจออย่างเหมาะสมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้เด็กต้องมีทักษะในความรู้เท่าทันสื่อควบคู่ไปด้วย 

รายงานระบุว่า การที่นักเรียนใช้เวลาออนไลน์มากขึ้น นักเรียนจึงมีโอกาสสัมผัสกับข้อมูลที่ผิดและโฆษณาชวนเชื่อซึ่งถูกอัดแน่นไปด้วยข้อมูลขนาดใหญ่และอัลกอริทึมเพื่อการตลาดมากขึ้น  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการผลักดันให้มีการสอนทักษะการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ รัฐนิวเจอร์ซีย์ถือเป็นรัฐแรกๆ ที่กำหนดให้โรงเรียนของรัฐทุกแห่งต้องสอนทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับนักเรียน

ขณะเดียวกัน นักการศึกษาส่วนหนึ่ง ยังสนับสนุนให้ผู้ปกครองและครูเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ ในการสอนเด็กๆ ให้รู้จักมีความรับผิดชอบมากขึ้นทางออนไลน์ และว่า การรอจนกว่าจะถึงชั้นประถมหรือมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย อาจสายเกินไป

ที่มา : Students Are Addicted to Screens. What It Means for Learning