สหรัฐฯ หวั่น ระดับความรู้ของนักเรียนมะกันยังไม่คืบหน้าหลังจากโควิด-19 ผ่านมาเป็นขวบปี
โดย : Lauren Camera - US News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สหรัฐฯ หวั่น ระดับความรู้ของนักเรียนมะกันยังไม่คืบหน้าหลังจากโควิด-19 ผ่านมาเป็นขวบปี

ผลการศึกษาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดพบว่า นักเรียนชาวอเมริกันจำนวนมากยังประสบปัญหาการเรียนไม่ทัน ระดับความรู้ยังซ้ำอยู่ชั้นเดิมของปีที่แล้ว ทั้งยังแสดงความกังวลเรื่องประสิทธิภาพทางวิชาการที่ลดลงอย่างรุนแรง รวมถึงความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูการศึกษาหลังจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

เว็บไซต์ข่าวยูเอส นิวส์ (US News) เปิดเผยข้อมูลใหม่ของรัฐบาลกลางที่รวบรวมภาวะสูญเสียการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนของรัฐตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นักเรียนจำนวนมากเริ่มปีการศึกษาปัจจุบันด้วยระดับความรู้ที่น้อยกว่าหรือแทบจะเทียบเท่าชั้นเรียนเดิมในปีที่แล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั้งหลาย จึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงของภาวะสูญเสียการเรียนรู้ และความท้าทายในการฟื้นการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

เป็กกี คารร์ (Peggy Carr) ผู้บัญชาการศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ ฝ่ายข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (National Center for Education Statistics, Education Department) กล่าวว่า นักเรียนหลายคนเรียนไม่ทันวิชาหลัก เช่น วิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ในช่วงเริ่มต้นปีการศึกษา อีกทั้งผู้บริหารของโรงเรียนรัฐบาลต่าง ๆ ยังคาดการณ์ว่านักเรียนราวครึ่งหนึ่งของพวกเขาเริ่มต้นปีการศึกษาด้วยการเรียนช้าไป 1 ระดับชั้น ตามไม่ทันอย่างน้อย 1 วิชาหลัก ข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า การฟื้นฟูความรู้เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่งานที่จะเห็นผลได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยออกมาล่าสุดชี้ว่า บรรดาครูใหญ่หรือผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาลทั่วสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49 กล่าวว่า นักเรียนของพวกเขาเริ่มต้นปีการศึกษา 2022-2023 ตามหลังระดับชั้นเรียนในปัจจุบันอย่างน้อย 1 วิชา ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์สกูล พัลส์ พาเนล (School Pulse Panel) ซึ่งให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อโรงเรียน นักเรียน และเจ้าหน้าที่พบว่า สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 50 

นักวิจัยของรัฐบาลกลาง ได้เก็บข้อมูลจากโรงเรียนระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย มากกว่า 1,000 แห่งในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นถึงภาพรวมล่าสุดของความท้าทายที่โรงเรียนของรัฐในสหรัฐฯ ต้องเผชิญ  

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ โรงเรียนของรัฐเกือบทุกแห่งกำลังใช้กลยุทธ์การฟื้นฟูเรียนรู้ร่วมกันเพื่อช่วยกู้ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนให้กลับมาดีดังเดิม  โดยร้อยละ 58 ของโรงเรียนของรัฐ ได้จัดเตรียมการพัฒนาวิชาชีพสำหรับครูและเจ้าหน้าที่ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ และร้อยละ 37 ได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อยและแบบตัวต่อตัวมากขึ้น

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ คุณภาพ ความต่อเนื่อง และความเคร่งครัดของกลยุทธ์ที่นำมาใช้นั้นกลับมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะมากกว่า 8 ใน 10 ของโรงเรียนรัฐยังต้องพึ่งพาการสอนเสริม ซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะใช้เนื้อหาสาระจากปีก่อนหน้าเพื่อสอนนักเรียน

 มีเพียงร้อยละ 37 ของโรงเรียนเท่านั้นที่เสนอสิ่งที่เรียกว่า “การสอนพิเศษมากเป็นพิเศษ” (High-dosage tutoring) ที่นักวิจัยต่างขนานนามว่าเป็นมาตรฐานทองคำ มาตรฐานที่ มิเกล คาร์โดนา (Miguel Cardona) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้โรงเรียนต่าง ๆ นำมาปรับใช้

คาร์โดนากล่าวปราศรัยเรื่องนโยบายการศึกษาตามแนวทางของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เราควรมอบหมายให้เด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อนในช่วงโรคระบาดโควิด -19 ได้เรียนอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง กับติวเตอร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ก่อนที่จะย้ำว่า การเปิดโรงเรียนอีกครั้งอย่างปลอดภัยเป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องทำงานชดเชยกับเวลาของเด็ก ๆ ที่สูญเสียไป

ทั้งนี้ โรงเรียนมากกว่าร้อยละ 80 จัดสรรการกวดวิชาเพื่อให้นักเรียนตามการเรียนการสอนให้ทัน และในบรรดาโรงเรียนเหล่านั้น ประมาณร้อยละ 59 ได้จัดสรรการกวดวิชามาตรฐาน ร้อยละ 37 จัดสรรการกวดวิชาในปริมาณมาก ร้อยละ 22 จัดสรรการกวดวิชาด้วยตนเองเนื่องจากนักเรียนต้องทำงานควบคู่ไปด้วย จึงเน้นการเรียนแบบออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่โรงเรียนอีกร้อยละ 17 ยอมรับว่าไม่มีการสอนพิเศษเลย

รายงานระบุว่า การสอนพิเศษมากเป็นพิเศษ หมายถึงการสอนที่จัดเวลา อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง โดยเป็นการสอนแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่มย่อย จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ซึ่งจัดโดยนักการศึกษาหรือผู้สอนที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี และสอดคล้องกับ หลักสูตรกลางตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการสอนพิเศษมากเป็นพิเศษ ครูและผู้ช่วยที่ดูแลการสอนนั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางและการพัฒนาในทางวิชาชีพจากวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชามากกว่าการสอนตามมาตรฐานทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม การที่โรงเรียนจัดติวชั้นเรียนพิเศษนี้ ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนทุกคนจะได้รับการสอนพิเศษหรือได้ประโยชน์จากการสอนพิเศษ โดยนักวิจัยของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (National Center for Education Statistics) ประเมินว่า มีนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลไม่ถึงครึ่งที่ได้รับการสอนพิเศษ และมีนักเรียนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้รับการสอนพิเศษมากเป็นพิเศษ

ราเชล ฮานเซน (Rachel Hansen) นักสถิติจากศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าว และให้สัญญาณเตือนว่า สัดส่วนเหล่านั้นอาจจะต่ำกว่านี้ด้วยซ้ำเนื่องจากโรงเรียนต่าง ๆ มีวิธีการพิจารณาการจัดการเนื้อหาสาระในการสอนพิเศษแบบเข้มข้นที่หลากหลาย ในยามที่มันอาจจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง

“โดยรวมแล้วดูเหมือนว่า หนทางในการพยายามพาเด็กกลับไปสู่ระดับชั้นเรียนตามวัยที่ควรจะเป็นยังอยู่อีกยาวไกล รวมถึงการพยายามลดจำนวนนักเรียนที่เรียนไม่ทันจากร้อยละ 50 ให้เหลือร้อยละ 36 ภายในปีนี้ด้วย” ฮานเซนกล่าว

ที่มา : New Data Shows That Just as Many Students Are Behind Grade Level as Last Year