นักวิชาการญี่ปุ่น-ฮ่องกงชี้การเรียนรู้แบบ “เสมือนจริง” ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
โดย : Supriya Singh
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นักวิชาการญี่ปุ่น-ฮ่องกงชี้การเรียนรู้แบบ “เสมือนจริง” ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้สถานศึกษาในญี่ปุ่นและฮ่องกงต้องปรับมาเรียนและสอนผ่านออนไลน์ แต่นักการศึกษาของญี่ปุ่นและฮ่องกงก็ลงความเห็นตรงกันว่า ท้ายที่สุดแล้วการเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถแทนที่การเรียนแบบพบปะเห็นหน้าในห้องเรียนได้ ต่อให้มีนวัตกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าระหว่างครูอาจารย์กับนักเรียนมากแค่ไหนก็ตาม

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างการประชุมสัมมนาออนไลน์ หรือ webinar ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักการศึกษาของญี่ปุ่นและฮ่องกงได้เห็นพ้องตรงกันถึงความท้าทายของการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ทั้งนี้การประชุมสัมมนานี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “อนาคตทางการศึกษา” ดำเนินการโดยสมาพันธ์เยาวชนอะวาจิ (Awaji Youth Federation) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านการศึกษาในญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์ชาวมาลีอย่างอุสโซบี แซ็กโก (Oussouby Sacko) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมหาวิทยาลัยเกียวโต เซกะ (Kyoto Seika University) กล่าวว่า “การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั้นเรียน แต่เกิดขึ้นนอกชั้นเรียนต่างหาก นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้จากการพบปะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ และครูอาจารย์ที่พวกเขาพบเจอในมหาวิทยาลัย ดังนั้น ชั้นเรียนที่ทุกคนได้พบปะพูดคุยกันซึ่งๆ หน้าได้จึงสำคัญมาก”

แซ็กโกยังเสริมด้วยว่า ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา เหล่าครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เจอปัญหาติดขัดในการสอนออนไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะรายวิชาด้านศิลปะ ที่เจอสถานการณ์นักเรียนนักศึกษาหมดไฟและไม่ยอมล็อกอินเข้าชั้นเรียน

เพื่อจูงใจนักเรียนนักศึกษา แซ็กโกจึงได้เสนอแนะรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน โดยแนะนำให้ผู้สอนและผู้เรียนนัดหมายพบปะพูดคุยกันสัปดาห์ละครั้ง วันที่เหลือก็เรียนออนไลน์ตามปกติ

ขณะเดียวกัน ผู้สอนหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับการสอนผ่านออนไลน์ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น มหาวิทยาลัยจึงควรจัดหลักสูตรพิเศษเพื่อฝึกอบรมผู้สอนให้คุ้นเคยกับรูปแบบการสอนใหม่ๆ ด้วยอีกทาง แซ็กโกเสริม

ในการสำรวจออนไลน์โดยสมาคมร้านค้าสหกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติญี่ปุ่น (National Federation of University Co-operative Associations) เมื่อเดือนกรกฎาคมเผยให้เห็นว่า นักศึกษา 44.7% รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้รับการเติมเต็มในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยหนึ่งในปัจจัยหลักนั้นเกี่ยวข้องกับการที่ต้องเรียนรู้ผ่านออนไลน์ แทนที่จะได้เข้าชั้นเรียนจริง

ด้านแบเนียล จาง (Baniel Cheung) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะธุรกิจและเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้แสดงความเห็นสนับสนุนแซ็กโกในเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของการเรียนรู้แบบพบปะตัวต่อตัว แม้เขาจะยอมรับว่าการเรียนการสอนออนไลน์มีข้อดีตรงที่สามารถแบ่งปันข้อมูลความรู้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ก็ตาม

จางกล่าวว่า การต้องสอนโดยไม่เห็นหน้าค่าตากันนั้น ทำให้ยากที่ผู้สอนจะรู้ว่าผู้เรียนกำลังรู้สึกยังไง แม้จะตระหนักดีว่า โลกการเรียนรู้หลังจากการระบาดของโควิดคลี่คลายนั้น คงต้องผสมผสานระหว่างชั้นเรียนออนไลน์และชั้นเรียนจริงเข้าด้วยกัน แต่กระนั้นเทคโนโลยีดิจิทัลก็ไม่อาจทดแทนการพบปะเจอกันตัวเป็นๆ ระหว่างมนุษย์อย่างแน่นอน

ฟูกะ ชิดะ (Fuka Chida) นักเรียนปีที่สองจากมหาวิทยาลัยชิบะ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายนักศึกษา กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่ชั้นเรียน

โดยในฐานะทูตเยาวชนญี่ปุ่นของกลุ่มเยาวชนและพันธมิตรสากลแห่งสหประชาชาติ หรือ Youth and United Nations Global Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) และกลุ่มพลเมืองด้านเด็กและเยาวชน ชิดะอธิบายว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่สำหรับเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ให้ตนได้เรียนรู้ขัดเกลาตนเองในการปฏิบัติตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเติบโตและย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการสื่อสารผ่านออนไลน์จะมีแต่ข้อเสีย ศาตราจารย์แซ็กโกชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายชั้นเรียนในญี่ปุ่นหันมาสื่อสารผ่านไลน์ (Line) ซึ่งสะดวกต่อการพูดคุย และสังเกตได้ว่านักเรียนนักศึกษาที่เคยขี้อายเริ่มมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับให้ผู้สอนนำมาประยุกต์ใช้ต่อไปได้

ขณะที่จางเสริมว่า ตนเองใช้แพลตฟอร์ม WhatsApp ในการสื่อสารกับผู้เรียน โดยจะสร้างกลุ่มย่อยไว้คุยประเด็นต่างๆ กัน สำหรับจาง การพูดคุยผ่าน Whatsapp กับผู้เรียน ช่วยลดสิ่งที่เรียกว่า “ระยะห่างทางจิตวิทยา” และทำให้ผู้สอนคุ้นเคยกับผู้เรียนได้

นอกจากนี้ จางยังได้ย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โดยในช่วงที่โควิด-19 ระบาดครั้งใหญ่นั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สื่อสารและเกิดความร่วมมือกันอย่างแพร่หลาย จางหวังว่าความร่วมมือและการหารือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ จะยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย

“ในช่วงระบาดใหญ่ นักเรียนนักศึกษามีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งยังต้องการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อจะได้อยู่รอดในตลาดงาน ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเอเชียจึงควรร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันเพื่อจะได้ช่วยเสริมศักยภาพผู้เรียนให้ทันโลกได้” จางกล่าวสรุป ก่อนปิดท้ายว่า เขาหวังจะได้เห็นมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเพิ่มหลักสูตรภาคอังกฤษเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่เด็กเอเชียหลงใหล เช่น วิชาเกี่ยวกับมังงะและแอนิเมชั่น เป็นต้น

ที่มา : Japan, H.K. academics say virtual learning no match for real thing