เผยผลศึกษาพบเด็กเล็กในสหรัฐฯใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น
โดย : Channel News Asia
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เผยผลศึกษาพบเด็กเล็กในสหรัฐฯใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น

ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ พบเด็กเล็กอายุต่ำสุดประมาณ 8 ขวบหันมาใช้เวลาหน้าจอและท่องโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเยาวชนและวัยรุ่นชาวอเมริกันใช้หน้าจอเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อนหน้า

Common Sense Media องค์การไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นทั่วสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า เด็กเหล่านี้ใช้เวลาบนหน้าจอและสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยมีจำนวนชั่วโมงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา 

ผลการสำรวจพบว่า การใช้หน้าจอโดยรวมในหมู่เด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้น 17 % ในช่วงระหว่างปี 2019 – 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วง 4 ก่อนหน้านี้ และโดยเฉลี่ยแล้ว การใช้หน้าจอในแต่ละวันเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 8 – 12 ปี) เป็น 5 ชั่วโมง 33 นาทีจากเดิมที่ 4 ชั่วโมง 44 นาที และเพิ่มขึ้นเป็น 8 ชั่วโมง 39 นาทีจากเดิม 7 ชั่วโมง 22 นาทีสำหรับวัยรุ่นอายุ 13 – 18 ปี

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า  ตัวเลขของการใช้หน้าจอที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงความยากลำบากที่ครอบครัวต้องทนกับโรงเรียน การดูแลเด็ก และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด โดยประเด็นค้นพบที่น่ากังวลเป็นพิเศษก็คือการที่เด็กอายุระหว่าง 8-12 ปีใช้เวลาบนหน้าจอท่องโลกโซเชียลมีเดีย อย่าง อินสตาแกรม Snapchat หรือเฟซบุ๊ก เพิ่มขึ้น แม้ว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้จะมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมีอายุอย่างน้อย 13 ปีขึ้นไป ตามเงื่อนไขกฎหมายคุ้มครองข้อมูลเด็ก 

ไดอานา เกรเบอร์ ผู้ก่อตั้ง Cyberwise ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นในการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Raising Humans in s Digital World” กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะเด็ก ๆ หันไปใช้เวลาบนหน้าจอเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับตนเอง และใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ ทดแทนช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกไปพบปะทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงเรียน หรือสถานที่ต่างๆ เพราะไวรัสโควิด-19 ระบาด 

อย่างไรก็ตาม เกรเบอร์กล่าวว่า แม้การเพิ่มขึ้นจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาด แต่จำนวนเด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียขณะที่ยังเล็ก คือวัยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดที่มาขึ้น กลับเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ ไม่ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ใช้งานที่เป็นเด็กแต่อย่างใด 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหมายความว่าอย่างไร

เดโวราห์ ฮีทเนอร์ ผู้ก่อตั้ง Raising Digital Natives และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Screenwise: Helping Kids Thrive (and Survive) in Their Digital World” กล่าวว่า แม้การใช้เทคโนโลยีจะเพิ่มมากขึ้นในคนทุกกลุ่ม แต่การสำรวจพบว่า การใช้หน้าจอในหมู่เด็กจากครอบครัวยากจนรายได้น้อย รวมถึงเด็กผิวสีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก เด็กกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการะบาดของไวรัสโควิด-19 มากที่สุด ดังนั้น จึงตัดสินใจใช้เวลาบนหน้าจอให้มากที่สุดเพื่อหลีกหนีจากโลกความเป็นจริง และเพื่อฆ่าเวลา  

ด้านดอกเตอร์เกรเบอร์เสริมว่าว่า เด็กจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบจากการที่โรงเรียนปิดมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เพราะเด็กเหล่านี้ไม่มีกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่จะทำได้มากนัก นอกจากการใช้เวลาอยู่ที่บ้านและท่องโลกโซเชียลมีเดียว ขณะเดียวกัน เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กจากครอบครัวยากจนส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะที่ไม่สามารถทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้ ต้องใช้แรงงาน ดังนั้น เด็กเหล่านี้ก็ยิ่งถูกทิ้งไปไว้กับสมาร์ทโฟนของตนเองมากขึ้น

รายงานยังพบว่า เด็กผู้ชายใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยอาจเป็นเพราะว่าเด็กผู้ชายชอบเล่นเกมบนมือถือหรือเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไรนัก เพราะการติดเกมจะยิ่งทำให้เด็กใช้เวลาบนหน้าจอหนักขึ้นมากกว่าเดิม 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งแย้งว่า การใช้เวลาบนหน้าจอไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นที่น่ากังวลเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น บางครั้ง เด็กๆ ก็ใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูง ซึ่งการใช้ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับรักษาสายสัมพันธ์ 

กระนั้น สำหรับการศึกษาล่าสุดที่สำรวจกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 8-18 ปีจำนวน 1,306 คน ผ่านโลกออนไลน์ และเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่่ผ่านมา (23 มีนาคม) พบว่า การใช้งานสมาร์ทโฟนของเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ติดต่อกับเพื่อนๆ เป็นหลัก อย่าง กลุ่มวัยรุ่นที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองใช้เวลาหน้าจอโดยเฉลี่ยมากกว่า 3 ชั่วโมงในการดูคลิปวีดีโอหรือรายการทีวีต่าง ๆ และใช้เวลาเล่นเกมอีกเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเวลาสำหรับพูดคุยกับเพื่อนเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 20 นาทีเท่านั้น 

ทั้งนี้ สิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญรู้สึกกังวลก็คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหากว่าเด็กๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไป โดยดอกเตอร์ฮีทเนอร์อธิบายว่า การใช้หน้าจอนานเกินไปย่อมหมายถึงเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิน นอน อ่านหนังสือ เล่น หรือพูดคุยกับครอบครัวจะหายไป ซึ่งกิจกรรมที่หายไปเหล่านี้ต่างหากเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างแท้จริง 

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่า ไม่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้นที่ใช้เวลาบนหน้าจอมากเกินไปจนพ่อแม่กังวล เพราะ 64% ของเด็กวัยทวีน (วัยที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเด็กกับวัยรุ่น คือช่วงอายุระหว่าง 8-14 ปี) ดูวิดีโอออนไลน์ทุกวัน และอีก 65 % ระบุว่าดูทีวีทุกวัน อีกทั้งในบรรดาวัยทวีนเหล่านั้น ราว 38% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่า ตนเองใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 31 % ในปี 2019

เกรเบอร์กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีหันมาใช้โซเชียลมีเดียแล้ว แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเวลานี้มักมีการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูล ภาพคลิปและภาพกราฟิกและน่ากลัว ซึ่งเด็กๆ ยังไม่พร้อมที่จะดู ยกตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายทอดดสงครามในยูเครนที่เผยแพร่อยู่ทั่ว TikTok 

ขณะที่ดอกเตรอ์ ฮีทเนอร์ กล่าวเสริมว่า เด็กอาจสะดุดกับภาพอนาจาร ภาพการทำร้ายตัวเอง หรือโพสต์ที่ส่งเสริมการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรือต่อให้มีระบบกลไกที่สามารถคัดกรองเนื้อไม่เหมาะสมได้ แต่ดอกเตอร์ฮีทเนอร์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่า ระบบคัดกรอง เช่น Roblox ที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดและเด็กเล็กหลายคนใช้งานอยู่ก็ยังมีปัญหากับภาพและเนื้อหาบางอย่าง

ส่วนเกรเบอร์ มองว่า ปัจจัยน่ากังวลอีกประการหนึ่งก็คือข้อมูลผิด ๆ  ที่มีอยู่มากมายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเช่น YouTube โดยเด็กเล็กยังมีวุฒิภาวะไม่พอที่จะรู้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม ดังนั้น เด็กๆ จึงสามารถหล่นลงหลุมกับดักของข้อมูลผิด ๆ ที่จะทำให้เจ้าตัวรู้สึกสับสนกับโลกที่ตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่ อีกทั้งบางแพลตฟอร์ม เช่น YouTube ยังมีระบบอัลกอริธึมที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นเนื้อหาที่รุนแรงมากขึ้นเมื่อใช้งานผ่านไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง

“นอกจากนี้ยังไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็กที่จะเผชิญกับความซับซ้อนทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงในโซเชียลมีเดีย การเปรียบเทียบทางสังคมและความรู้สึกพลาดหรือไม่ได้เข้าร่วมกับเหตุการณ์บางอย่าง อาจเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจให้กับเด็กๆ ได้” ดอกเตอร์ฮีทเนอร์กล่าว

อะไรคือสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้บ้าง

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เกรเบอร์ได้ยกตัวอย่างแบบฝึกหัดหนึ่งที่ตนเองใช้กับนักเรียนที่มีความรู้ด้านดิจิทัล และผู้ปกครองสามารถลองทำเองที่บ้านได้ คือการขอให้เด็กๆ วิเคราะห์ว่าพวกเขาใช้เวลาอย่างไรในหนึ่งวัน

จากนั้น เกรเบอร์ก็ขอให้เด็กเหล่านั้นสร้างรายการที่อยากทำ 25 รายการหากว่าหน้าจอทั้งหลาย (สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, โทรทัศน์) ไม่มีอยู่ ก่อนแนะนำให้พวกเขาใช้เวลาพักร้อน 24 ชั่วโมงจากหน้าจอ กระตุ้นให้ไปทำงานในรายการที่ต้องทำในช่วงเวลานั้นให้สำเร็จ

“เชื่อหรือไม่ พวกเขามักจะกลับมาในสัปดาห์หน้าและพูดว่า ‘คุณรู้อะไรไหม มันรู้สึกดีเป็นบ้าเลยที่ได้พักหน้าจอ’ ” เกรเบอร์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตจากการสำรวจของ Common Sense Media ฉบับล่าสุดที่พบว่า มีวัยรุ่นเพียง 34% เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองชอบใช้โซเชียลมีเดียมากๆ ดังนั้น ก็เท่ากับเด็กวัยรุ่นเกินครึ่งที่ค่อนข้างตระหนักถึงการใช้งานมากเกินไป และคิดจะหาทางพักเบรกจากการใช้งานบ้างแล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น เกรเบอร์แนะว่า พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องนั่งจับเข่าคุยกับลูก ๆ และสร้างเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกันในการใช้เทคโนโลยี สรุปรายละเอียดต่างๆ รวมถึงเวลาและสถานที่ที่เด็กๆ สามารถใช้หน้าจอได้ และนานแค่ไหน เช่น บางทีเด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปีจะสามารถดู YouTube ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองอยู่ในห้องกับพวกเขาเท่านั้น เป็นต้น 

“สำหรับเด็กจำนวนมาก การมีผู้ปกครองนั่งดูอยู่ด้วยถือเป็นคำเตือนที่ดี เพราะเด็กจะไม่คลิกดูเรื่องที่ไม่สมควรเพราะมีแม่ดูอยู่ด้วย ขณะที่ถ้าเด็กเล็กใช้หน้าจอเพียงลำพัง ผู้ปกครองสามารถจำกัดการใช้แอปที่ผู้ใหญ่สามารถควบคุมได้ง่ายกว่า เช่น Netflix หรือ Disney+” ดอกเตอร์ฮีทเนอร์แนะนำก 

ที่สำคัญที่สุด ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับหน้าจอและโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ถามเด็ก ๆ ว่า ชอบอินฟลูเอนเซอร์ของ YouTube คนไหนและเพราะเหตุใด หรือหากเด็กๆ อยู่บนแพลตฟอร์มอื่น ให้ถามว่าพวกเขากำลังดูอะไรและสนใจอะไร

ที่มา : Kids as young as 8 years old are using social media more than ever, study finds