การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ ‘เลขาธิการยูเอ็น’ ออกโรงเรียกร้องให้ทั่วโลก ‘มุ่งปฏิรูปการศึกษา’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายหญิงทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน
โดย : UN News / กสศ.
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ ‘เลขาธิการยูเอ็น’ ออกโรงเรียกร้องให้ทั่วโลก ‘มุ่งปฏิรูปการศึกษา’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายหญิงทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน

อันโตนิโอ กูร์เตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งยกเครื่องระบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายหญิงทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา หลังสถานการณ์การศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ เข้าขั้นวิกฤตรุนแรงสืบเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19

ลงทุนกับคน การศึกษาต้องมาเป็นอันดับแรก” หรือ To invest in people, prioritize education คือแนวคิดของเลขาธิการยูเอ็น เราเดินทางมาถึงครึ่งปี 2023 ตั้งแต่ที่ยูเอ็นรับวาระ 2030 ที่มีจุดประสงค์เพื่อผู้คน โลก และความเจริญทางเศรษฐกิจ (People, Planet, Prosperity) งานประชุมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการศึกษา (Transformation Education Summit) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2022 จึงได้เรียกร้องให้มีการสร้างโมเมนตัมทางการศึกษาระดับโลก วางแผนการที่จะแปลงฉันทามติให้กลายเป็นแผนริเริ่มระดับโลก

รัฐบาลชาติสมาชิกยูเอ็น ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการในการประชุมที่สำคัญของสหประชาชาติเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา

เลขาธิการยูเอ็นได้ออกมากล่าวกระตุ้นเพื่อให้รัฐบาลเร่งลงมือดำเนินการปฏิรูป โดยคำกล่าวของกรูเตรเรสครั้งนี้มีขึ้นเนื่องในวันการศึกษาสากล (International Day of Education) พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ส่งมอบระบบการศึกษา “ที่สามารถรองรับสังคมที่เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจที่มีพลวัต และความฝันอันไร้ขีดจำกัดของผู้เรียนทุกคนในโลก”

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แสดงให้เห็นว่า เด็กชายและเด็กหญิงราว 244 ล้านคนทั่วโลกยังคงไม่ได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือในปี 2023 นี้ และร้อยละ 70 ของเด็กอายุ 10 ปีในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความง่าย ๆ ได้

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานของสังคม เศรษฐกิจ และศักยภาพของทุกคน แต่ศักยภาพดังกล่าวมีสิทธิ “เสื่อมหายไปในระยะเริ่มต้น” ได้ หากปราศจากการลงทุนที่มากพอ โดยเขาเองก็ยอมรับว่า ตนเองรู้สึกตกใจที่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่นโยบายของรัฐบาลนานาประเทศ ตลอดจนข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาไว้ในลำดับท้าย ๆ เสมอ 

ในการประชุมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการศึกษา  กูร์เตร์เรส กล่าวว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความคิดในการจินตนาการถึงห้องเรียนในรูปแบบใหม่ เพื่อ “พลิกโฉมระบบการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ” ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ชาติสมาชิกกว่า 130 ประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาเพื่อให้แน่ใจว่าการศึกษาที่มีคุณภาพระดับสากลจะกลายเป็นเสาหลักในนโยบายสาธารณะและการลงทุน

ยิ่งไปกว่านั้น ผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอด ยังได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนด้านการศึกษา เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการศึกษา (International Financing Facility for Education) ซึ่งหมายรวมถึง การระดมการสนับสนุนด้านการศึกษาในสภาวะวิกฤตการศึกษาของเด็กผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงการสอน และระบบการศึกษาที่ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’

จากข่าว ‘ยูเนสโก ชี้ กสศ. เป็นกลไกปฏิรูป และใช้นวัตกรรมทางการเงิน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ ระบุไว้ว่า สเตฟาเนีย จีอันนีนี (Stefania Giannini) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของยูเนสโก กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญขององค์กรที่ทำงานเพื่อการศึกษาทั่วโลกในขณะนี้ก็คือเรื่องของเงินทุนงบประมาณ ที่โดยหลักแล้วมาจาก 2 ส่วน หนึ่งคือจากรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และ สองคือจากการบริจาค ซึ่งทั้งสองทางแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ไม่ใช้แนวทางที่ยั่งยืน ดังนั้น แนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเสาหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา หนีไม่พ้นการให้เงินทุนการศึกษา

เด็กและผู้หญิงต้องได้เรียนหนังสือ? แต่ปัจจุบันสิทธิทางการศึกษาของพวกเขาถูกละเมิด

กูร์เตร์เรส กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะแปลคำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดให้กลายเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่สนับสนุนและครอบคลุมสำหรับนักเรียนทุกคน ถึงเวลาที่ต้องยุติกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติทั้งหมดที่ขัดขวางการเข้าถึงการศึกษา

ทั้งนี้ เลขาธิการยูเอ็นยังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลตาลิบันยกเลิกกฎหมายการห้ามเด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของยูเนสโก ที่ออกมารณรงค์เรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการเรียนรู้และการศึกษาให้กับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงทุกคนในอัฟกานิสถาน

ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการทั่วไปของยูเนสโก ประณามกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลตาลิบันโดยระบุว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องได้รับการศึกษาอย่างร้ายแรง เพราะสิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 

ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า ปัจจุบัน ร้อยละ 80 หรือ 2.5 ล้านคนของเด็กหญิงและหญิงสาวชาวอัฟกานิสถานต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งรวมถึงเด็กหญิงอีก 1.2 ล้านคนที่ถูกแบนจากโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยตามคำตัดสินของหน่วยงานรัฐบาลตาลิบัน ข้อมูลยังระบุอีกว่า ขณะนี้ยูเนสโกยังทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กหญิงและผู้หญิงอัฟกานิสถานยังคงได้รับการศึกษา เช่น หลักสูตรการเรียนหนังสือผ่านทางวิทยุ อย่างต่อเนื่อง

“ยูเนสโกยังคงเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการตรวจสอบข้อมูลการศึกษาในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เราจะระดมชุมชนระหว่างประเทศต่อไปเพื่อรักษาสิทธิของเด็กหญิงและสตรีอัฟกานิสถานในการศึกษา” อาซูเลย์ ระบุ 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ในสิทธิสากลด้านการศึกษา เช่น วอล์เกอร์ เติร์ก (Volker Türk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์เพื่อกระตุ้นรัฐบาลให้มั่นใจว่า ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ โดยเติร์กระบุว่า การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ และเป็นการลงทุนที่ทรงพลังเพื่อยุติความยากจน ส่งเสริมความยุติธรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างสันติภาพ

ขณะที่ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเกือบ 200 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือหรือต้องออกจากโรงเรียน ดังนั้น รัฐบาลควรให้สำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาในอัฟกานิสถานที่น่าเป็นห่วง

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มาร์ติน กริฟฟิธส์ (Martin Griffiths) หัวหน้า OCHA ประจำอัฟกานิสถาน ได้ร่วมมือกับผู้นำระดับสูงของสหประชาชาติและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อตรวจสอบผลที่ตามมาจากการที่รัฐบาลตาลิบันสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงอัฟกันทำงานกับองค์กรด้านมนุษยธรรมในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ โดย กริฟฟิธส์ ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ต้องระงับการดำเนินการช่วยเหลือบางส่วน และจุดประกายความวิตกว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายในประเทศจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ในปีนี้จะมีประชาชนราว 28.3 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

การศึกษามอบบันไดให้เด็กปีนขึ้นมาจากความยากจนและมอบโอกาสทางอนาคตให้ แต่ในตอนนี้มีเด็กและเยาวชนราว 244 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กและเยาวชนราว 617 ล้านคนไม่สามารถอ่านหนังสือหรือคำนวณคณิตศาสตร์ระดับพื้นฐานได้ เด็กน้อยกว่าร้อยละ 40 ที่แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Sahara African) จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กและผู้ลี้ภัยเยาวชนอีก 4 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน

ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการที่สิทธิทางการศึกษาพวกเขาถูกละเมิด เพราะการศึกษาที่มียังไม่เข้าถึงมากพอ ไม่มีความเสมอภาคมากพอ และไม่มอบโอกาสที่ไม่มากพอให้กับทุกคน ไม่ว่าประเทศใด ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือหลุดออกจากวัฏจักรความยากจนได้ หากทิ้งเด็กและเยาวชนเป็นล้าน ๆ คนไว้ข้างหลัง

ที่มา :