ยูเนสโก ชี้กสศ. เป็นกลไกปฏิรูป และใช้นวัตกรรมทางการเงิน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งยูเนสโกจะนำไปเป็นกรณีตัวอย่างให้ประเทศอื่นขยายผลได้

ยูเนสโก ชี้กสศ. เป็นกลไกปฏิรูป และใช้นวัตกรรมทางการเงิน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แสดงความชื่นชมไอเดียสร้างสรรค์ในการจัดหาและจัดสรรเงินทุนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการจัดการก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ช่วยเด็กไทยยากจนเข้าถึงการศึกษา พร้อมให้คำมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของกสศ. อย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกัน

โดย สเตฟาเนีย จีอันนีนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของยูเนสโก พร้อมด้วย ริกะ โยโรสุ หัวหน้าสำนักงานบริหารของ ยูเนสโกกรุงเทพฯ ได้พบปะและพูดคุยหารือด้านความร่วมมือระดับทวิภาคีกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และ นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐมนตรีการศึกษาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 2 (The 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference (APREMC-II) ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร

สเตฟาเนีย จีอันนีนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของยูเนสโก

ทั้งนี้ บรรยากาศการพูดคุยเต็มไปด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ ซึ่งดร.ไกรยส ได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงอธิบายแนวทางการทำงานของ กสศ. นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี 2018 ว่ามีเป้าหมายพันธกิจหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการดำเนินการสรรหาของกสศ.เอง ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรและภาคีเครือข่าย ในภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในประเทศเสียมากกว่า

สเตฟาเนียรับฟังด้วยความสนใจ และมีการซักถามข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนแสดงความเห็นว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญขององค์กรที่ทำงานเพื่อการศึกษาทั่วโลกในขณะนี้ก็คือเรื่องของเงินทุนงบประมาณ ที่โดยหลักแล้วมาจาก 2 ส่วน หนึ่งคือจากรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และ สองคือจากการบริจาค ซึ่งทั้งสองทางแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ไม่ใช้แนวทางที่ยั่งยืน ดังนั้น แนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกสศ. จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก และยูเนสโกอยากจะใช้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ในหลายประเทศทั่วโลกได้นำแนวคิดของกสศ.ไปประยุกต์ใช้

ดร.ไกรยส กล่าวว่า พันธกิจหลักของ กสศ. คือการมุ่งช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดในสังคมซึ่งมีอยู่ราว 10% โดยนอกเหนือจากแรงจูงใจด้านสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับภาคเอกชนในการบริจาคเงินสดและการบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว หลายบริษัทได้ให้เงินสนับสนุนกสศ. ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่ กสศ. ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ สำหรับการระดมทุนเป็นไปอย่างราบรื่น

(เรียงจากซ้ายมือ) ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ /
ดร.ไกรยส ภัทราวาท / ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวอย่างของการนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ในรูปแบบโครงการ Zero Dropout ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ ออกหุ้นกู้องค์กรสำหรับเด็กนอกโรงเรียนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก หุ้นกู้ดังกล่าวที่ออกเสนอขายหมดในสองนาที มูลค่า 100 ล้านบาท (28.96 ล้านดอลลาร์)

สเตฟาเนีย จีอันนีนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของยูเนสโก กล่าวว่า แต่ละประเทศย่อมมีบริบทแวดล้อมที่ต่างกัน ดังนั้น การบริหารจัดการด้านการศึกษา และการวางระบบการศึกษาย่อมไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ การดำเนินการทุกอย่างต้องมี “เงิน” เป็นปัจจัยสนับสนุน และแนวทางการจัดสรรทุนในฐานะองค์กรสาธารณะของ กสศ. ถือได้ว่าเป็นโมเดลที่สร้างสรรค์และมีความน่าสนใจ

“ฉันพูดซ้ำหลายครั้งในช่วงวันแรกของการประชุม ด้านการทำงานว่าเรามีส่วนร่วมอย่างมากในการริเริ่ม Transforming Education Summit และเสาหลักประการหนึ่งคือการจัดหาเงินทุนเพื่อการศึกษา และ กสศ. เป็นกลไกที่สร้างสรรค์มากๆ ในความคิดของฉันและฉันอยากที่จะเรียนรู้โมเดลนี้อย่างมาก” จีอันนีนี กล่าวก่อนเสริมว่า ต้องการศึกษาโมเดลรูปแบบของการจัดสรรการระดมทุนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในระดับสากลของ กสศ.เพื่อดูว่าจะสามารถจำลองหรือปรับให้เข้ากับบริบทต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างไร

นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังได้เอ่ยถึงอีกหนึ่งรูปแบบการระดมทุนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ กสศ. ได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่มบริษัทปตท. ผู้ผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีรายใหญ่ของประเทศไทยในการจัดอีเวนต์พิเศษ คือการวิ่งเสมือนจริง (Virtual Run) ผ่านโครงการลมหายใจเพื่อน้อง โดยกลุ่มบริษัท ปตท.จะบริจาคเงิน 250 บาทให้กับ กสศ. สำหรับทุก ๆ กม. ที่นักวิ่งไทยวิ่งได้ทั้งหมดรวม 600,000 กม. เป็นเงิน 150 ล้านบาทได้สำเร็จในเวลาเพียง 6 วัน

ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งภายใต้การดูแลกำกับของหน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยกว่า 30 หน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ กสศ.จึงสามารถจัดการโอนเงิน ไม่ว่าจะส่งไปถึงตัวเด็กหรือตัวโรงเรียนต่างๆ ได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบัน กสศ.จะมีการโอนเงินแบบมีเงื่อนไขให้กับเด็กที่ยากจนวิกฤติราว 1.3 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆหลุดออกจากระบบการศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ไกรยส ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างยูเนสโก กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ Learning Coin เพื่อส่งเสริมนิสัยการเรียนรู้ผ่านการอ่านจากแอปพลิเคชันมือถือ ‘LearnBig’ และการโอนเงินสำหรับเด็กๆ ตามความพยายามในการอ่านของน้องๆ ให้น้องๆได้เรียนต่อ ซึ่งทาง ริกะ โยโรสุ หัวหน้าสำนักงานบริหารของ ยูเนสโกกรุงเทพฯ เสริมว่า ยูเนสโก และ กสศ. เป็นพันธมิตรที่ดีเสมอมา และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างดีที่สุด โดยหมายรวมถึงการแบ่งปันบทเรียนที่ได้เรียนรู้เพื่ออนาคตของเด็กๆ

ดร.ไกรยส ยังแสดงเจตจำนงค์ของ กสศ. ที่จะเชื่อมต่อและเรียนรู้จากบทเรียนของประเทศอื่นๆ ในระหว่างการประชุมระดับนานาชาติ เช่น APREMC-II  รวมถึงยินดีที่จะมีส่วนร่วมการประชุมนานาชาติต่างๆที่ยูเนโกจัดขึ้นหรืองานประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กสศ. ยังได้ขยายเครือข่าย Equitable Education Alliance (EEA) ซึ่งเป็นชุมชนนานาชาติของผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาที่เท่าเทียม โดย กสศ.เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งร่วมกับยูเนสโกอีกด้วย

“เราตั้งใจที่จะขยายเครือข่ายต่อไป และกสศ. เชื่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลดีผลดีต่อส่วนรวมเพื่อที่จะรวมเครือข่ายหน่วยงานด้าน SDG4 และ SDG17 เข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาสำหรับทุกคน เราทุกคนล้วนต้องการการศึกษา เราพยายามใช้คำๆนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากใครก็ตามในประเทศไทยและเครื่อข่ายนานาชาติ” ดร.ไกรยส กล่าวปิดท้าย

สามารถอ่านบทความรูปแบบภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์ของยูเนสโก :
UNESCO and the Equitable Education Fund (EEF) of Thailand reaffirm mutual commitment to innovative financing for equitable education