กสศ. ร่วมประชุมนานาชาติ แชร์ประสบการณ์การจัดการศึกษาที่เน้น ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง แนะยึดแนวทาง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathy)
ออกแบบนโยบายการศึกษาที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีทางเลือก

กสศ. ร่วมประชุมนานาชาติ แชร์ประสบการณ์การจัดการศึกษาที่เน้น ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง แนะยึดแนวทาง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathy)

ดร.ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเวทีการประชุมนานาชาติ The 7th International Conference on Nation-Building 2023: Human-Centered Development for Nation Building โดยมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันความรู้ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชาติอย่างยั่งยืนและมั่นคง

ทั้งนี้ ดร.ไกรยส ได้เข้าร่วมการสัมมนาในช่วงที่ 4 ว่าด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มนุษย์สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ (The Development of Human-Centred Education Systems to enable Full Human Potential and Civility) พร้อมด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษานานาประเทศ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางว่าคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างระบบการศึกษาที่ยึด ‘คน’ เป็นศูนย์กลางได้

ดร.ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการ กสศ.

วิทยากรบนเวทีสัมมนา รวมถึง ดร.ไกรยส ต่างเห็นตรงกันว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการสร้างชาติ และการศึกษาก็คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนาคน ซึ่งในมุมมองของ ดร.ไกรยส การศึกษาที่มีคนเป็นศูนย์กลางจะต้องเริ่มต้นด้วย ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathy) เป็นแกนหลัก

ผู้จัดการ กสศ. ชี้ว่า ที่ผ่านมาการจัดทำนโยบายด้านการศึกษามักอิงกับข้อมูลในเชิงตัวเลขสถิติมากมาย ทำให้หลายต่อหลายครั้งผู้กำหนดนโยบายการศึกษามองการศึกษาโดยเน้นปริมาณเชิงตัวเลขเป็นหลัก แต่เพราะการศึกษาคือเรื่องของคน ดังนั้นการออกแบบนโยบายโดยใช้ตัวเลข แทนที่จะใช้หลักความเห็นอกเห็นใจเป็นตัวนำ จึงอาจไม่ตอบโจทย์นโยบายการศึกษาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามส่งเสริมผลักดันมาโดยตลอด

ดร.ไกรยส ได้ยกตัวอย่างโครงการอาหารกลางวันโรงเรียน ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กยากจนได้ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือและมีส่วนร่วมกับการศึกษา เพราะได้กินอิ่ม กระนั้นการกำหนดงบประมาณอาหารกลางวันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังคงมุ่งเน้นที่ตัวเลขเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน และไม่ได้ขยายโครงการให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาปิดภาคการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

ทั้งนี้ ในมุมมองของ กสศ. การเข้าถึงการศึกษาและการทำให้คนคนหนึ่งสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่งคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งระบบการศึกษาที่ กสศ. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในไทยก็คือ ระบบการศึกษาที่มีความยึดหยุ่นมากพอที่จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของคนคนหนึ่งเป็นไปได้ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุด

ดร.ไกรยส ชี้ว่าความยืดหยุ่นทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และระบบการศึกษาที่มีเพียงระบบเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้ทุกคน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีปัจจัยเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะช่วยทำให้ผู้เรียนมีทางเลือก โดยได้ยกตัวอย่างกรณีการศึกษาของไทยที่เรียนกลางวัน พักกลางคืน ซึ่งในความเป็นจริงสวนทางกับชีวิตของนักเรียนยากจนที่ช่วงเวลากลางวันต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัว

ดังนั้น ระบบการศึกษาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อให้คนคนนั้นสามารถเข้าถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพได้ตามกำลังความสามารถของตนเองอย่างเต็มเปี่ยม และอำนวยความสะดวกให้การเรียนไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต

ดร.ไกรยส ย้ำว่า ขณะนี้การศึกษาของไทยมีกำแพงอุปสรรคอยู่มากมาย ซึ่ง กสศ. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนต้องการทลายกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาเหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งยุ่งยากที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดถึงจะได้เรียน

ขณะเดียวกัน ดร.ไกรยส ยังเน้นด้วยว่า งานหลักของ กสศ. ก็คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ไปถึงมือของคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และเพียงพอที่สุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเป้าหมายหลักของ กสศ. นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงขณะนี้ และถือเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไปก็คือ การทำให้คนหลายล้านคนไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา

ดร.ไกรยส ระบุว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการจัดทำนโยบายการศึกษาก็คือ การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น ซึ่งความเสมอภาคดังกล่าวไม่ได้หมายความเพียงแค่การจัดสรรทรัพยากรให้ผู้เรียนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม แต่ยังรวมถึงการให้การศึกษาและสิ่งที่จำเป็นที่คนคนหนึ่งต้องการอย่างเพียงพอ เพื่อให้คนคนนั้นสามารถพัฒนาและยกระดับศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

ความเสมอภาคดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีการวางนโยบายการศึกษาที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาของตนเอง และเมื่อเลือกได้แล้ว จะต้องมีระบบการศึกษาที่สามารถรองรับความต้องการนั้น ๆ ได้

ดร.ไกรยส ปิดท้ายว่า อยากให้มองการศึกษาในมิติทางเศรษฐกิจด้วย โดยนโยบายการศึกษาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) แล้ว ทำให้ไทยไม่สามารถแบกรับการสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปโดยเปล่าประโยชน์เพียงเพราะคนคนนั้นไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา หรือเข้าถึงแล้วแต่ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่ได้ยึดคนเป็นศูนย์กลางได้

ทั้งนี้ การประชุมนานาชาติ The 7th International Conference on Nation-Building 2023: Human-Centered Development for Nation Building จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยวิทยากรที่เข้าร่วมอภิปรายเรื่องการศึกษาประกอบด้วย ดร.คริส ฟอร์ลิน (Chris Forlin) ศาสตราจารย์นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยของนอเทรอดาม ออสเตรเลีย, ศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน มิชี (Jonathan Michie) รองอธิการบดีฝ่ายสนับสนุน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และประธานวิทยาลัยเคลล็อกก์, อลิซ แม็กคาร์ธี ซอมเมอร์วิลล์ (Alice McCarthy Sommerville) นักวิจัยด้านการศึกษาที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แห่ง Guerrand Hermes Foundation for Peace ในอังกฤษ, ศาสตราจารย์หรงฮวย ฮวง (Ronghuai Huang) คณบดีร่วมสถาบัน Smart Learning Beijing Normal University ผู้ดำรงตำแหน่ง UNESCO Chair on Artificial ความฉลาดในการศึกษา ประเทศจีน