กสศ. ร่วมกับ สพฐ. สถ. และ ตชด. ยึด “6 แนวทางสำคัญ” ลดความเสี่ยงเด็กหลุดระบบการศึกษาช่วงโควิด-19

กสศ. ร่วมกับ สพฐ. สถ. และ ตชด. ยึด “6 แนวทางสำคัญ” ลดความเสี่ยงเด็กหลุดระบบการศึกษาช่วงโควิด-19

กสศ.ร่วมกับ สพฐ. สถ. และ ตชด. ยึด 6 แนวทางสำคัญ ลดความเสี่ยงเด็กหลุดระบบการศึกษาช่วงโควิด-19 พร้อมบูรณาการส่งต่อข้อมูลคุณภาพ ติดอาวุธเครื่องมือติดตามนักเรียนและมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ผ่านระบบสารสนเทศเพิ่มหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนยากจนพิเศษได้รับทุนการศึกษาเพื่อดำรงชีพต่อเนื่อง 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ครูและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการจัดสรรทุนเพื่อให้มีค่าครองชีพ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา 

นายสุรินทร์  สว่างอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานศึกษาได้เกิดความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานคัดกรองเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อเข้ารับทุนนี้ตามที่ สพฐ. และ กสศ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. การดำเนินงานในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของครู บุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศนั้น สพฐ.และ กสศ.เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้ปรับแนวทางการดำเนินงานโครงการเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการคัดกรอง ไม่ต้องลงเยี่ยมบ้านนักเรียนสนับสนุนการดำเนินงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและช่องทางสอบถามข้อมูลแบบออนไลน์ในการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มโอกาสช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง 

นายสุรินทร์  สว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ จากการใช้ข้อมูลจากความร่วมมือของทุกฝ่าย สามารถให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนผ่านการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของ สพฐ.ได้จำนวน 1,689,64 1คน รวมไปถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขจาก กสศ.เพิ่มเติมให้กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 1,208,367 คน ครอบคลุมโรงเรียน 27,834 แห่ง จากการดำเนินงานโครงการร่วมกันในภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2564 นี้ สพฐ. และ กสศ.ยังคงยึดแนวทางการทำงานที่สำคัญและลดความเสี่ยงต่อไป 

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ กสศ.ได้จัดสรรเงินแก่นักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ประจำปีการศึกษา 2564 ในการดำเนินงานในช่วงภาคเรียนที่ 1 ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานการปกครองท้องถิ่นจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครูอาจารย์ในท้องถิ่น ระดมความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับการศึกษาไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา และเข้าสู่ในระดับชั้นที่สูงขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการควบคุมความปลอดภัยของแต่พื้นที่ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1/2564 มีนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับจัดสรรเงินภายใต้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนทั้งหมด 16,463 คน จากสถานศึกษา 659 แห่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนในสังกัด อปท.มีนักเรียนยากจนที่ประสงค์ขอรับทุนการศึกษาอย่างมาก

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

สำหรับการดำเนินงานภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ กสศ.ได้วางแนวทางการทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการส่งต่อข้อมูล มาตรการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ เพื่อเข้าถึงข้อมูลนักเรียนที่มีความเสี่ยง พร้อมสนับสนุนฐานข้อมูลและเครื่องมือติดตามนักเรียน มีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องผ่านการอบรมในระบบออนไลน์ และสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนากลไก และสนับสนุนการทำงานของหน่วยกำกับติดตามระดับพื้นที่ ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด อปท. เพื่อสนับสนุนสร้างความเข้าใจ สนับสนุนการจัดสรรเงินที่มีเงื่อนไข ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในระดับสถานศึกษา เพื่อวางแผนชี้เป้าให้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูและนักเรียน ทาง ตชด. ได้เล็งเห็นผลกระทบและปรับการดำเนินการลดงานที่ไม่จำเป็น เช่น การปรับเปลี่ยนการคัดกรองที่ไม่ต้องลงเยี่ยมบ้าน พร้อมสนับสนุนการดำเนินการผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและช่องทางการสอบถามข้อมูลผ่านออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเทอม 1/2564 โรงเรียนในสังกัด ตชด. สามารถจัดเงินอุดหนุนให้นักเรียน 18,376 คน ในสถานศึกษา 220 แห่ง  

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน​ทั้งพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลสถานศึกษา ใช้สนับสนุนการวางแผนปฏิบัติงาน เชื่อมโยงระบบคัดกรองนักเรียนทุน ทำให้การคัดกรองนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างเร่งด่วน ทาง ตชด.หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการช่วยเหลือทันเวลา พร้อมทั้งขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกช่วยเหลือสนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อ

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีนี้ แนวโน้มของรายได้เฉลี่ยต่อสมาชิกของบุคคลในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจนักเรียนยากจนพิเศษที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่า นักเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด มีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนกว่า 200,000 คน ทั้งการขาดโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ จึงได้ส่งข้อมูลไปยังต้นสังกัด เพื่อให้ผู้บริหารนำไปใช้ประโยชน์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น ส่วนการกลับมาเรียนของนักเรียนยากจนพิเศษนั้น พบว่า ทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในช่วงชั้นรอยต่อ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้จัดสรรเงิน พร้อมการสอบถามด้วยว่าจะมีการศึกษาต่อหรือไม่ พบว่า มีเด็กจำนวนกว่า 43,000 คน ยังไม่พบข้อมูลการเรียนต่อ ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากต้องช่วยครอบครัวทำงาน เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 หรือดูแลผู้ปกครองที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งได้ส่งข้อมูลไปยังต้นสังกัดทั้งหมดแล้ว หากผู้บริหารได้พบข้อมูลทั้งหมดนี้ หรือมีโอกาสได้ติดตามเด็กกลุ่มนี้ ขอให้นำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาต่อไป  

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

ดังนั้น กสศ.จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สพฐ. สถ. ตชด. หน่วยงานในภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เด็กยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงการจัดสรรทุนของ กสศ. ด้วยการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ให้เกิดการคัดกรองนักเรียนที่มีความยากจนได้รับทุนทางการศึกษา ส่งความช่วยเหลือได้อย่างรอบด้าน โดยการทำงานในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จะต้องดำเนินการภายใต้นโยบายทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1. เฝ้าระวังและติดตามภาวะทุพโภชนาการเป็นรายบุคคล ขอให้ครูช่วยบันทึกข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบสารสนเทศมาด้วย เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าเด็กมีผลกระทบอย่างไรหลังจากที่ปิดโรงเรียนไปเป็นเวลานาน 2. เฝ้าระวังติดตาม และส่งต่อเด็กที่มีความเครียดและซึมเศร้าเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีความพร้อมทางสภาพจิตใจในการเรียน 3. เฝ้าระวังติดตามภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เป็นรายบุคคล เพราะบางส่วนอาจจะไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ในช่วงที่หยุดเรียนไป แม้จะมีการเรียนออนไลน์ 4. ติดตาม ค้นหา และส่งต่อเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อ 5. วางแผนและบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำงานด้วยกระบวนการจัดการเชิงพื้นที่ บูรณาการทั้งในระดับท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และ 6. การบูรณาการระบบสารสนเทศให้เป็นแบบ ONE Application เชื่อมโยงระบบ CCT ของ กสศ. และ DMC ของ สพฐ.เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อติดตามและให้มีความสะดวกในการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป

ขณะที่นายจีรศักดิ์  กาสรศิริ  นักวิชาการ สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ.  กล่าวว่า  ปฏิทินการดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขโดยให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในครั้งนี้จะเป็นค่าครองชีพจำนวน 1,500 บาท/คน โดยจัดสรรเงินเข้าบัญชีเพียงรอบเดียว ในช่วงวันที่ 20-24 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะแจ้งผ่าน SMS ไปยังครูผู้รับผิดชอบและผู้บริหาร ซึ่งสถานะการเงิน โอนเงินจะตรวจสอบได้ในวันที่ 10 มกราคม 2565 โดยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม เป็นต้นไป สถานศึกษาต้องเร่งจ่ายเงินไปยังนักเรียนทุนเสมอภาคและบันทึกแบบรายการจ่ายเงินภายใน 20 วันทำการ โดยให้ครูประจำชั้นบันทึกแบบรายการจ่ายเงินรายห้องเรียน โดยครูแอดมินสถานศึกษาติดตามตรวจสอบการจ่ายเงินของครูประจำชั้นแล้วบันทึกรายงานส่งมายัง กสศ. โดยหากพบว่ามีเด็กไม่สามารถรับทุนได้ ทั้งลาออก ย้ายออก หรือเสียชีวิต ให้คืนเงินในรูปแบบ e-payment เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น พร้อมกันนี้ กสศ.ขอความร่วมมือสถานศึกษาให้ความสำคัญของ 2 เงื่อนไขการรับเงินทุนเสมอภาค คือ เงื่อนไขการบันทึกน้ำหนักส่วนสูงและการมาเรียนของเด็กนักเรียนทุนเสมอภาค