“เปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล” รับมือโอมิครอนในเด็กฉบับปิดเทอมใหญ่

“เปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล” รับมือโอมิครอนในเด็กฉบับปิดเทอมใหญ่

ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุด ที่ยังคงพุ่งต่อเนื่อง และมียอดผู้เสียชีวิตรายวันใน อัตราที่สูงลิ่ว คำถามสำคัญของคนเป็นพ่อแม่ในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่จะถึงนี้คือ “หากลูกฉันติดโควิด ฉันจะทำยังไง จะพาลูกไปเข้าคิวที่โรง พยาบาล หรือจะเสี่ยงหากอาการลูกแย่หนักกว่าเดิม มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่?”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมการแพทย์, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, UNICEF, ไทยพีบีเอส, สํานักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร, คลองเตยดีจัง และ HFocus จึงร่วมกันจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘ปิดเทอมใหญ่ รับมือโอมิครอนในเด็กอย่างไร?’

โดยมีจุดประสงค์เพื่อพาคุณแม่ทุกท่านก้าวผ่าน ‘ความกลัว’ ที่ลูกต้องป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้คุณแม่สามารถรออยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สะดวกสบาย มีหมอคอยให้คำแนะนำผ่าน Line Official Account เพื่อตอบปัญหาที่กังวลใจทุกข้อ อันจะทำให้คุณแม่สามารถเป็นพาร์ทเนอร์ของแพทย์ ในการดูแลลูกจากทางบ้านได้โดยไม่ต้องเสี่ยงมาโรงพยาบาล

HOW TO เช็คอาการลูกฉบับพ่อแม่

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ฉายภาพสถานการณ์เด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากเด็กเป็น กลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนลำดับท้ายๆ และในช่วงนั้นยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถนำมาใช้กับเด็กได้อีกทั้งหากเด็กมีสภาพร่างกายแข็งแรง อาการของโรคอาจไม่แสดงและอาจหายได้เองในที่สุด ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีหากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจ ก็สามารถพาบุตรหลานไปตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อนได้เช่นกัน

“สำหรับอาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลคือ หนึ่ง มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส สอง เริ่มซึม ไม่ดูดนม สาม ไม่กินข้าว สี่ หายใจเร็ว และ อันดับสุดท้าย มีออกซิเจนต่ำว่า 96”

ขณะอีกส่วนหนึ่ง คือ กลุ่มอาการของโรคที่ทำให้เด็กติดเชื้อโควิดแล้วมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจ เรื้อรัง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคทางพันธุกรรมต่างๆ นั้น นายแพทย์สมศักดิ์อธิบายว่า หากเด็กไม่อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้จะไม่มีอาการ รุนแรง สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้

“ถ้าเด็กไม่มีโรคร่วม ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการรุนแรงครับ และหากเราสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง เราก็จะสามารถจำกัดความ รุนแรงของโรคได้สำหรับเด็ก เราจะแนะนำให้ทำ Home Isolation เป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้อง follow up เด็กจะไม่เหมือนผู้ใหญ่แต่ถ้ามี โรคร่วม และคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ ก็สามารถพาไปคัดกรองได้”

ปิดเทอมใหญ่ ดูแลเด็กๆ อย่างไรไม่ให้ว้าวุ่น

แพทย์หญิงวารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งความกังวลว่า ในช่วงปิดเทอมใหญ่กว่า 2 เดือน เราจะทำให้เด็กติดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ แพทย์หญิงวารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายว่า จากประสบการณ์ที่สถาบันโรคเด็กแห่งชาติฯ ได้ติดตามคนไข้ที่เข้าสู่การรักษาในระบบบริการแบบ Home Isolation ช่วงแรกนั้น พบว่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 900 ราย มีเพียง 12 รายที่ต้องกลับมารักษาในโรงพยาบาล คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนใหญ่การสังเกตอาการนั้น เด็กจะอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 คืนแรก เมื่อไข้ลดลงก็สามารถกลับไปสังเกตติดตามอาการต่อได้ที่บ้าน

“จริงๆ แล้วค่อนข้างวางใจได้ เพียงแต่เราก็ไม่ประมาท หมายความว่าในกรณีที่เรารู้ว่าเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว อันนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ในกรณีที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเตียงในการนอนโรงพยาบาล เราก็จะแอดมิทสังเกตอาการ”

‘เปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล’
อยู่ร่วมกับการระบาดอย่างสมดุล

ด้วยนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้คุณพ่อคุณแม่เป็น ‘คุณหมอเสมือน’ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ในภาวะที่ยังคงมีงานล้นมือ คำถามคือ ระบบสาธารณสุขและแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อธิบายว่า ปัจจัยความพร้อมทางด้านสังคมของตัวพ่อแม่เองเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง หากตัวคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ มีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กในช่วงโควิดก็จะสามารถคลายความกังวลและทำให้มีเวลาอยู่กับลูกได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอม

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่คือ การมีระบบ Line Official Account ที่จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยตอบคำถาม ข้อสงสัยต่ออาการต่างๆ ของเด็กในช่วงปิดเทอม

“เราจะต้องเติมไม้หันอากาศเข้าไป เปลี่ยนตระหนกให้เป็นตระหนักเพราะว่าเด็กส่วนใหญ่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ขณะที่เด็กอีก 95 เปอร์เซ็นต์สามารถอยู่บ้านเองได้ แต่เราบอกไปแล้วว่าเด็กต่ำกว่า 1 ปีมาคัดกรอง กลับไปอยู่บ้าน”

ด้านแพทย์หญิงวารุณีกล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่ทำให้บุคลากรมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยนอก รวมถึงการ Home Isolation ได้ เกิดจากปัจจัยของเด็กและเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเอง โดยเชื้อสายพันธุ์นี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปแบ่งตัวอยู่ที่เยื่อบุทางเดินหายใจมากกว่าไปลงที่เนื้อปอด ทำให้ลักษณะธรรมชาติของเชื้อตัวนี้จะไม่ไปลงที่เนื้อปอด แต่จะทำให้เด็กมีอาการไอมากขึ้น 

ขณะที่ปัจจัยของตัวเด็กเอง โดยธรรมชาติเด็กจะมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือ – ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แบบที่สองคือ – ภูมิคุ้มกันที่เกิดเมื่อเด็กเติบโตและได้รู้จักเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในแบบแรกจะมีมากในช่วงวัยเด็ก แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นแบบที่ 2 ทำให้เมื่อโควิด-19 ระบาด จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุก่อนจะไล่เลียงตามลำดับลงมา โดยระบบภูมิคุ้มกันในเด็กนี้จะเรียกว่า ‘อินเตอร์เฟอรอน’ Interferon (IFN)

โดยแพทย์หญิงวารุณีกล่าวต่อว่า มีข้อมูลงานวิจัยออกมามากมายยืนยันว่า อินเตอร์เฟอรอนจะหลั่งออกมามากในเด็กเมื่อมีอุณหภูมิขึ้นสูง ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติของร่างกายที่จะเยียวยาตัวเองด้วยการพักผ่อน ดังนั้นเมื่อเด็กเป็นไข้ ตัวร้อน พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องปลุกเด็กมาเช็ดตัวบ่อยๆ หรือเรียกให้รับประทานอาหารบ่อยๆ แต่ปล่อยให้ร่างกายได้พักฟื้น อุณหภูมิในร่างกายก็จะลดลงได้เองในช่วง 2-3 วัน

“หลักการคือ เราจะรักษาพิษจากไข้ แต่เราจะไม่รักษาไข้ ถ้าเด็กเป็นไข้ก็ให้เด็กหลับเลย แต่ถ้าไข้นั้นทำให้เด็กเพ้อ ตัวสั่น เราต้องเน้นประคบที่ศีรษะ ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะหนาว ยิ่งเช็ดยิ่งหนาว ควรให้กินยาลดไข้ก่อนแล้วค่อยเช็ดตัว ไม่อย่างนั้นเด็กจะทุกข์ทรมาน”

ตอบคำถามทันใจ มีหมอใกล้ตัวด้วย Line Official Account

“ถ้ากังวลใจจริงๆ ถ่ายวิดีโอแล้วส่งมาให้เราดู เราจะประเมินแล้วเรียกมาเองค่ะ”

ถึงอย่างนั้น คำถามและความกังวลต่างๆ เช่นว่า จำเป็นไหมที่เด็กจะต้องฉีดวัคซีน เมื่อลูกเป็นไข้แล้วจะต้องไปเอกซเรย์ปอดไหม ฯลฯ ซึ่งการใช้ Line Official Account ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ จะเข้ามาทำหน้าที่ในการจับมือคุณแม่ให้เปรียบเสมือนเป็นหมอด้วยตัวเองผ่านการวิดีโอคอล เพื่อให้แพทย์ผู้ชำนาญการสามารถให้คำแนะนำได้ตั้งแต่ตรวจวัดสภาพการนอน เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจและการทำงานของปอด ดูกิจกรรมต่างๆ ของเด็กเมื่อตื่นเพื่อตรวจวัดสภาพร่างกายว่าดีขึ้นหรือไม่ 

“ผมขอใช้โอกาสนี้ในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้ามีโรคร่วม ท่านพาลูกไปฉีดวัคซีนเถอะครับ แต่ถ้าไม่มีโรคร่วม อันนี้อยู่ที่ดุลยพินิจของท่าน เข้าใจได้ว่าท่านยังไม่อยากพาไปฉีด แต่ถ้าพาไปฉีดก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด ความกังวลในเรื่องโรคระบาดสายพันธุ์โอมิครอนในเด็ก ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่โควิด-19 จะหมดไป แพทย์หญิงวารุณีทิ้งท้ายว่า

“เราโดนโควิดรัฐประหารมาแล้ว 2 ปีนะคะ โควิดก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเราจะปล่อยให้มันกลายพันธุ์ฝ่ายเดียวก็ไม่ไหว เราต้องกลายพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน จากการเปลี่ยนแม่ให้เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล หมายความว่าสามารถดูแลและอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลอาจจะดีกว่า เพราะว่าถ้าเราหวังว่าจะไม่ติดเชื้อ มันจะควบคุมได้ยาก แต่เราจะดูแลร่างกายของเรายังไงที่จะอยู่ด้วยกันไปอย่างสันติสุข และสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม ดำเนินไปด้วยได้ น่าจะสำคัญกว่า”