“เชียงใหม่” ประกาศวาระเร่งด่วน “แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา” ผนึกเครือข่ายภาคเหนือจับมือ กสศ. นำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กห่างไกล

“เชียงใหม่” ประกาศวาระเร่งด่วน “แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา” ผนึกเครือข่ายภาคเหนือจับมือ กสศ. นำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กห่างไกล

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 4 ภูมิภาค เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้าทางการศึกษาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สู่การผลักดันนโยบายเร่งด่วนและการวางทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีเป็นครั้งที่ 2  ในภาคเหนือ ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีภาคีเครือข่าย นักขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้จากภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคสื่อมวลชน เข้าร่วมจาก 13 จังหวัดในภาคเหนือ มากกว่า 120 คน นับเป็นก้าวสำคัญของการประกาศความร่วมมือเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับภูมิภาค  

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถือเป็นวาระสำคัญของจังหวัดที่มีความสำคัญ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทของ กสศ. ควบคู่ไปกับงานตาม Function ที่มีศึกษาธิการจังหวัด กศน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจุบันยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบ เด็กพิการ ด้อยโอกาส อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องร่วมกันพาเด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร โดยเด็กไม่จำเป็นต้องเดินทางแต่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของจังหวัดเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือสนับสนุนเด็กเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ด้อยโอกาส หรือมีสถานะการเงินไม่ดี เวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างเด็กให้มีคุณภาพ 

“เราสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคง เพื่อสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองคุณภาพ ซึ่งการที่คนจะมีคุณภาพดี หมายถึงต้องมีการศึกษาดีก่อน ผมมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในเรื่องปูพื้นฐานชีวิตคนคนหนึ่งเพื่อก้าวสู่การมีอาชีพที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี คนเราถ้ามีการศึกษาดี จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงร่วมใจ เราปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว เสียโอกาสไม่ได้อีกต่อไป” 

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15  กล่าวว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ดูแล ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน เป็นวาระที่ทุกคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม ภาครัฐ เอกชน ทุกส่วน ทำงานร่วมกับ กสศ. ในการรวมพลังทรัพยากร ซึ่งกระทรวงศึกษาในพื้นที่พร้อมขับเคลื่อนดูแลทุกภาคส่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กศจ. ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นทิศทางเดียวกัน กสศ. ทำงานร่วมกันผ่านกลไกตรงนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ไปถึงเด็กและเยาวชนโดยตรง 

“ความเหลื่อมล้ำที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการขาดช่องทางเข้าถึงการศึกษาที่มีความหลากหลาย เด็กหลุดจากระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ด้วยจากภาวะเศรษฐกิจหน่วยงานเข้าไปไม่ถึงดังนั้นต้องช่วยกันสนับสนุนให้เด็ก ๆ ให้มีช่องทางการศึกษาที่หลากหลาย มีทางเลือก  มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค”  

นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15

อาจารย์ทวีศักดิ์ ธิมา จากโรงเรียนแม่ตะละวิทยา จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าสำหรับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล ต้องเริ่มต้นจากโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานการศึกษาที่เท่าเทียม ขณะนี้พื้นราบถกเถียงกันเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่เด็ก ๆ บนดอยยังไม่มีทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต สื่อการเรียนการสอนที่ใช้อยู่ในโรงเรียนเป็นสื่อออฟไลน์ คือสื่อกระดาษทั้งหมด สวนทางกับการศึกษาสมัยนี้ 

“เด็กไม่สามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้เลย ขอให้รัฐลงทุนเรื่องอินเทอร์เน็ตบนพื้นที่ห่างไกล แม้จะเป็นการลงทุนที่สูงแต่เพื่อให้ได้ทรัพยากรทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียมนั้นคุ้มค่า นอกจากนี้ ควรมีวิธีการจัดสรรเงินรายหัวใหม่ที่คำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่ การเดินทาง ใช้ข้อมูลแวดล้อมในการพิจารณา”

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5  กล่าวว่าหลักประกันเรื่องทรัพยากรการศึกษานั้นสำคัญมาก ปัญหาสำคัญที่ผ่านมา เช่น 1.นักเรียนชั้นมัธยมต้นอาหารกลางวันยังไม่ได้ 2.การอุดหนุนงบประมาณ/ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ 3.โรงเรียนพื้นที่สูงห่างไกลหรือเกาะแก่ง เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า

“ถ้าให้ดีที่สุดควรปรับระเบียบแนวปฏิบัติ กำหนดสิทธิ เด็กมัธยมต้นทุกคนต้องได้รับค่าอาหารกลางวัน ปรับสูตรจัดสรรงบประมาณที่เสมอภาคเพื่อช่วยโรงเรียนพื้นที่ยากลำบาก  โรงเรียนที่ดูแลเด็กเปราะบางหรือแม้แต่คนจนเมืองก็มีบริบทที่แตกต่าง รวมถึงการเติมครูให้พอ และมีกลไกในการพัฒนาครู  ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาขนาดใหญ่ ถ้าเรารอจากระบบนานมาก เกินกำลังฝ่ายรัฐแบกไว้ ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน”

อาจารย์เอมอร ลิ้มวัฒนา ครูชำนาญการวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าในพื้นที่สูง ห่างไกล ระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก สาธารณูปโภคเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ไม่เฉพาะบนดอยแต่รวมถึงในตัวเมือง ฤดูฝนต้นไม้ล้มทำให้สายไฟขาด ฤดูร้อน ไฟไหม้สายไฟ ไฟเคยดับต่อเนื่องสองวัน  สายอินเทอร์เน็ต สายสัญญาณสื่อสารก็ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนและครอบคลุม ไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชน  ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ 

“รัฐบาลลงทุนเรื่องนี้จะมีความคุ้มค่า ไม่ใช่จบแค่รุ่นนี้ แต่จะถูกใช้ต่อเนื่อง เป็นการลงทุนที่มีผลต่อการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์  ที่ผ่านมาของบประมาณไปกว่าจะได้งบประมาณ โลกเปลี่ยนไป อุปกรณ์ที่ขอไปก็อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ดังนั้นควรพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย”