‘Learning City’ บทเรียนจากต่างเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่

‘Learning City’ บทเรียนจากต่างเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘Learning City บทเรียนจากต่างเมือง’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มต้นมหกรรมเฉลิมฉลองเมืองแห่งการเรียนรู้ ในโครงการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยพะเยา และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อสร้างความเข้าใจกลไกของเมืองแห่งการเรียนรู้ สะท้อนบทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ 

เป้าหมายสำคัญของ Learning City คือ การลดความเหลื่อมล้ำให้คนในพื้นที่ ทั้งเด็กด้อยโอกาสและผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา ซึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) เชื่อมโยงไปสู่กลไกระดับจังหวัด ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ในช่วงแรก ดร.ชเวอุนซิล (Choi Un Shil) Expert Advisory คณะกรรมการเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ประเทศเกาหลีใต้ ได้พูดถึงหลักการดำเนินงาน Learning City ในประเทศเกาหลีใต้ไว้ว่า ‘เรียนรู้ด้วยกัน อยู่ร่วมกัน และสร้างความรักไปด้วยกัน’ ทั้งนี้ เทรนด์ของ Learning City ในเกาหลีใต้มีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1) การเรียนรู้โดยไม่แบ่งแยก มีเป้าหมายให้กลุ่มผู้พิการให้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม 2) การทำให้สถานที่รอบศูนย์การเรียนรู้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน เช่น ทำให้ร้านหนังสือเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ควบคู่ไปกิจกรรมอื่น ๆ ได้ 3) โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และสุดท้าย 4) โรงเรียนทักษะชีวิต ซึ่งออกแบบมาสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้ได้พบช่องทางการประกอบอาชีพใหม่ ๆ และขณะนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง 

ดร.ชเวอุนซิล (Choi Un Shil) Expert Advisory คณะกรรมการเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ประเทศเกาหลีใต้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ Learning City หรือเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้ ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ไปอยู่ในแผนแม่บท การออกกฎต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับหมู่บ้าน ตลอดจนการไปศึกษาดูงานการจัดการ Learning City ในต่างประเทศด้วย 

ดร.ชเวอุนซิล กล่าวว่า เกาหลีใต้ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานเมืองแห่งการเรียนรู้จากบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบาหลีมุ่งมั่นกับการพัฒนามนุษย์เป็นอย่างมาก โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือคุณภาพของการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

หลังจากการเล่าถึง Learning City ในเกาหลีใต้ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนประสบการณ์จากต่างเมืองที่ผู้ร่วมเสวนาได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเก็บเกี่ยวจากบาหลี โดยมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้: ประสบการณ์จากบาหลี (Bali Manifesto)’ ประกอบไปด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. ศุภวิชญ์ สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนนรู้ กสศ. และ อิษฏ์ ปักกันต์ธร รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนากลไกและเครือข่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนกับต่างแดนทำให้เห็นเทรนด์การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning เช่น ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) การผลักดันให้เกิดผู้เรียนรู้ (Learner) และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Knowledge Platform) เนื่องจากในเมืองหนึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ดังนั้นจึงต้องสร้างช่องทางหรือแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้คนได้ เช่น แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน เป็นต้น 

สิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง คือการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายและแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วน (Networking and Supporting) และอีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกับวิถีชีวิต ต่อมาคือปัจจัยทางเศรษฐกิจ (Economic) ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ อีกปัจจัยคือ การวิจัย (Research) เพื่อหาแนวทางสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และสุดท้ายคือ นโยบาย (Policy) ที่จะต้องผลักดันให้ครอบคลุมในทุกระดับ

นอกจากนี้ภายในงานได้รับเกียรติจาก ซาจิเอะ คุมาโนะ (Sachie Kumano) Staff Member of SDGs and ESD Promotion Division of Okayama City, RCE Okayama, Japan นำเสนอ ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมืองโอคายามะ ประเทศญี่ปุ่น’ หรือ Learning City ของประเทศญี่ปุ่น โดยพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) ในเมืองโอคายามะที่เกิดขึ้นจากการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากท้องถิ่นอย่างเทศบาล โดยมีการจัดตั้งฝ่ายส่งเสริม SDGs และ ESD ขึ้นมาโดยเฉพาะ มีการใช้กลวิธีการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและโรงเรียนพันธมิตรของยูเนสโก

ในด้านการเงิน ศูนย์การเรียนรู้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายใต้การดูแลของโอคายามะ นำไปสู่การทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืนทั้งหมด 30 กิจกรรม มีการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการให้รางวัล ‘Good ESD Practice’ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน กระทั่งการขยายฐาน ESD ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดให้ภาคธุรกิจและองค์กรทางเศรษฐกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ซาจิเอะ คุมาโนะ กล่าวโดยสรุปว่า ESD เน้นการปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมชุมชน มีการโปรโมตส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านชุมชน และทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่าย 

ทั้งนี้ การเสวนาในประเด็นถัดมาคือ แผนในอนาคตของเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันว่า ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย และควรส่งเสริมให้กว้างกว่าในเขตรั้วโรงเรียน ซึ่งจะต้องใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เป็นแกนกลางเชื่อมระหว่างการศึกษา เศรษฐกิจ และชุมชน กับหลายภาคส่วนในจังหวัด 

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนนรู้ กสศ.

ธันว์ธิดา กล่าวว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องมีหลักประกันทั้งในแง่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างเศรษฐกิจ จนท้ายที่สุดจะต้องสลายการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบ โดยสร้างให้ทุกพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และต้องไม่ละเลยกลุ่มคนที่ยากลำบาก ทั้งทางด้านการศึกษา รายได้ สวัสดิการ เพื่อให้ทุกคนเป็นพลังให้กับเมือง ดังนั้นจะต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มอบความสุขให้กับผู้เรียนได้ทั้งกระบวนการ 

อีกด้านหนึ่ง การกำหนดนโยบายจะต้องเริ่มต้นจากคนในพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตและการพัฒนาของพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงตอบโจทย์ผู้เรียนรู้ด้วย ดังนั้นทุกคนจึงต้องสวมบทบาทผู้กำหนดนโยบายไปในตัว ดังกรณีของเทศบาลนครยะลาที่ได้จัดประชุมสภาประชาชนขึ้น เพื่อระดมความคิดนวัตกรรมพัฒนาเมืองยะลา ในโครงการ Yala Learning City โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำแผนการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือแผนการสร้าง Learning City เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ติดตามการดำเนินงานได้ เพราะแม้จะมีองค์กรที่คอยทำงานช่วยเหลือทางด้านการศึกษาในมิติต่าง ๆ อย่าง กสศ. บพท. และอีกหลายองค์กร แต่เมืองแห่งการเรียนรู้จะต้องยืนได้ด้วยตัวเอง จากการมีแผนงานที่ดี