‘ปฏิบัติการต้านบูลลี่ในโรงเรียน’ กสศ. จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เปิดแนวทางรับมือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จากประสบการณ์ประเทศฟินแลนด์

‘ปฏิบัติการต้านบูลลี่ในโรงเรียน’ กสศ. จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เปิดแนวทางรับมือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จากประสบการณ์ประเทศฟินแลนด์

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติออนไลน์ ประเด็น “ปฏิบัติการต้าน BULLY” KiVa Antibullying Program : ความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์ เพื่ออภิปรายปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือการบูลลี่ ผ่านแนวทางของประเทศไทยและประเทศฟินแลนด์ เพื่อเรียนรู้ถึงแนวทางที่เป็นระบบในการจัดการกับปัญหา รวมถึงสร้างความมั่นใจว่าทุกโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน หลังพบสถิติเด็กนักเรียนไทยประมาณ 600,000 คน ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลกตามรายงานของกรมสุขภาพจิตในปี 2561

การกลั่นแกล้ง หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ โดยผู้ที่เป็นเหยื่อมักไม่อาจป้องกันตนเองจากผู้ที่กลั่นแกล้งได้ จากรายงานของยูเนสโกที่เผยแพร่ในปี 2562 เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเด็ก 1 ใน 3 เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน และปัญหาดังกล่าวก็ไม่ต่างกันในฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

คุณอันนา เมอร์โก (Anna Murgo) รองผู้จัดการโครงการฝ่ายต่างประเทศ KiVa Antibullying Program อธิบายว่า ฟินแลนด์เคยมีกรณีการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการอย่างจริงจังกับปัญหานี้ โดยเน้นความสำคัญไปกับการป้องกันการกลั่นแกล้ง หลังจากเปิดตัวโครงการ KiVa Anti-bullying ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนทั่วประเทศมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการ KiVa เป็นโครงการต่อต้านการกลั่นแกล้งที่เป็นผลจากจากการศึกษาของศาสตราจารย์ Christina Salmivalli ที่ระบุว่าการกลั่นแกล้งไม่ใช่สถานการณ์ระหว่างผู้กลั่นแกล้งและเหยื่อเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์กลุ่ม เพื่อนร่วมชั้นเรียนมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์ที่เกิดการกลั่นแกล้งขึ้น โครงการ KiVa พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ได้ผลในการป้องกันการกลั่นแกล้งและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ และมอบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแก่ครูเพื่อจัดการกับกรณีการกลั่นแกล้งอย่างถูกต้องเหมาะสม

คุณอันนา เมอร์โก (Anna Murgo) รองผู้จัดการโครงการฝ่ายต่างประเทศ KiVa Antibullying Program

“โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มเพื่อน ๆ ทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือพบเห็นการกลั่นแกล้ง และยังมอบแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ครูใช้ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งด้วย” คุณอันนาอธิบาย

ในประเทศไทย สถานการณ์การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจัดอยู่ในขั้นวิกฤตเช่นกัน คดีน่าสลดใจล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (26 มิ.ย.) เป็นกรณีที่น้องนักเรียนอายุ 15 ปีในจังหวัดพัทลุง เสพยาเกินขนาดเพราะเครียดจากการถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้ง โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายงานเพิ่มเติมว่าเธอถูกพูดจาเยาะเย้ยเรื่องรูปร่างหน้าตา

คุณครูวิเชียร ไชยบัง ผอ.โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

โรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยต่างก็มีแนวทางของตนเองที่ใช้รับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน หนึ่งกรณีตัวอย่างคือแนวทางที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาในจังหวัดบุรีรัมย์นำมาใช้ โดยคุณครูวิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อธิบายว่า แม้ว่าโครงสร้างของระบบในโรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันปัญหานักเรียนกลั่นแกล้งกัน แต่การส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีสติ เห็นคุณค่าในตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหยุดปัญหานี้ได้ในระยะยาว

“เราจำเป็นต้องมองให้ไกลกว่าผลการเรียนรู้ และต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน ขจัดความหวาดกลัวและอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ การกลั่นแกล้งเป็นปรากฏการณ์แบบกลุ่ม แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ผู้รังแก แต่คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ …เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราต้องเคารพในความหลากหลายของผู้คน

“ดังนั้น แนวคิดหลักคือเราทุกคนจำเป็นต้องตระหนักและยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คน เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น นี่คืออุดมการณ์ที่นักเรียนและครูควรเข้าใจ ยอมรับและแสดงออกถึงคุณค่าเหล่านี้ผ่านพฤติกรรม” ครูใหญ่วิเชียรกล่าวเสริม

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

หลังจากการอภิปรายอย่างละเอียดตั้งแต่การอธิบายคำจำกัดความของการกลั่นแกล้งไปจนถึงกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของฟินแลนด์และไทย นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้ข้อสรุปในการสัมมนาว่าโดยอ้างถึง งานวิจัยของเครือข่ายทนายความเพื่อเด็กและเยาวชนในปี 2563 ที่เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มนักเรียน 15,000 คน นักเรียนร้อยละ 90 ที่ตอบแบบสำรวจให้ข้อมูลว่าพวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง นักเรียนกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย

“นักเรียนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมักจะตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเปราะบางทางจิตใจมากขึ้น การอภิปรายนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเรา ไม่ว่าการกลั่นแกล้งจะเกิดขึ้นในโรงเรียนของเราหรือไม่ก็ตาม โรงเรียนต่าง ๆ ควรวางแผนรับมือและประยุกต์ใช้แนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว”