รัฐบาลรับข้อเสนอ กสศ. เร่งลงทุนช่วยเด็กยากจน 1.2 ล้านคนก่อนป้องกันสูญเสียทุนมนุษย์

รัฐบาลรับข้อเสนอ กสศ. เร่งลงทุนช่วยเด็กยากจน 1.2 ล้านคนก่อนป้องกันสูญเสียทุนมนุษย์

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมวงเสวนาเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “การลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่ออนาคตของประเทศ” ในงาน Equity Forum 2023 “ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งจัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ดร.ณหทัย ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ของ กสศ. และภาคีเครือข่าย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ใน 2 ระยะด้วยกันคือ

‘ระยะสั้น’ มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจ ลดต้นทุนในการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยเน้นไปที่ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษจากงานวิจัย กสศ. 1.2 ล้านคนก่อน เมื่อพวกเขาสามารถขยับฐานะขึ้นมาเป็นผู้มีรายได้เกือบปานกลาง ก็จะทำให้บุตรหลานในครอบครัวเหล่านี้มีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 

“วันนี้รัฐบาลนี้ทำงานอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อว่าเราจะสามารถใช้ข้อมูลนั้นสะท้อนปัญหาที่แท้จริง แล้วรวมเอาองคาพยพความรู้และประสบการณ์มาผลักดันนโยบายที่เดินไปอยู่แล้ว นำมาปรับให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน จนถึงวันนี้ประเทศไทยนานเท่าไหร่แล้ว เรายังไม่มีข้อมูลที่เชื่อมกันได้ของเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงระดับปริญาตรี มันกระจัดกระจาย ข้อมูลแต่ละคนก็ไม่ตรงกัน การช่วยโดยกระจายเม็ดเงินไปก็สับสนซ้ำซ้อน ถ้าเรามีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวดจะเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะน้อยลง”

ดร.ณหทัย เน้นยํ้าว่า ระบบการศึกษาสมัยใหม่ต้องมีความยืดหยุ่นและก้าวข้ามใบปริญญา เนื่องจากว่าประเทศไทยยังมีขุมทรัพย์อื่น ๆ ทางสังคม เช่น ภูมิปัญญา ความรู้และทักษะเฉพาะทาง เป็นต้น ซึ่งภาครัฐจะต้องสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต โดยขณะนี้ทางรัฐบาลเองก็มีนโยบายที่สอดรับกับข้อนี้คือ ‘หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์’

“เศรษฐกิจกับการพัฒนาคนต้องช่วยกันไป เราต้องบริหารการพัฒนาคนด้วยฐานข้อมูล เช่นนโยบายแจกแท็บเล็ต เด็กยากจนพิเศษ 1.2 ล้านคนต้องได้ก่อน และไม่ใช่แจกแท็บเล็ตอย่างเดียว ต้องดูเรื่องสัญญาน ต้องมีคุณครูที่สามารถออนไลน์ มีโค้ชชิ่งหรือครูแนะแนวในสัดส่วนที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ให้คุณค่ากับความสามารถที่สะสมมาของแต่ละคนนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย”

สำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์ใน ‘ระยะยาว’ นั้น ทางรัฐบาลกำลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อเป็นแผนที่พัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากขึ้น อีกทั้งมีเป้าหมายสำคัญในการยุติวงจรความยากจนอีกด้วย เร็วๆ นี้จะเข้าสู่การทำงานของคณะกรรมาธิการการศึกษาที่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกพรรคการเมือง โดยไม่แบ่งแยกเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และจะให้ความสำคัญกับการร่วมกันของทั้งองคาพยพ เช่น ภาคประชาสังคม โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง เป็นต้น

ดร.ณหทัย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของทางรัฐบาลขอนำข้อมูลจากทั้ง กสศ. นักวิชาการ และภาคีเครือข่าย เพื่อนำมาดำเนินการและผลักดันนโยบาย และขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างรวดเร็วด้วยการยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นายเศรษฐา​ ทวี​สิน​ นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชามอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อไป