“เสียงจากภาคีมีความหมาย” กสศ. ระดมความเห็นเวทีภาคกลาง หลายภาคส่วนร่วมเสนอภาพฝันการศึกษาเสมอภาคที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของเด็กทุกกลุ่ม

“เสียงจากภาคีมีความหมาย” กสศ. ระดมความเห็นเวทีภาคกลาง หลายภาคส่วนร่วมเสนอภาพฝันการศึกษาเสมอภาคที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของเด็กทุกกลุ่ม

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผลักดันนโยบายเร่งด่วนและวางทิศทางการดำเนินงานของ กสศ. ในปีงบประมาณ 2568 – 2570

เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในเวทีภาคกลาง ณ ห้อง MAYFAIR BALLROOM B โรงแรม The Berkeley Pratunam กรุงเทพมหานคร โดยมีภาคีเครือข่าย นักขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้จากภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคสื่อมวลชน ร่วมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับภูมิภาค

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเปิดเวทีโดยระบุว่า พื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศจึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากที่สุดเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ได้พยายามบริหารจัดการปัญหานี้อย่างต่อเนื่องจนมีผลลัพธ์ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาหลายด้านได้อย่างโดดเด่น การทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบางจนเกิดเครือข่ายการทำงานที่เข้าใจบริบทของพื้นที่ เกิดแนวทางพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อประกอบอาชีพตามความถนัด เสริมสร้างศักยภาพ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต ให้มีโอกาสเรียนหนังสือผ่านการศึกษาทางเลือกและการเรียนรู้วิชาชีพที่ถนัด

กิจกรรมในช่วง 3 ปีแรกของ กสศ. คือการพยายามเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ผ่านการทำงานบนฐานข้อมูล ทำงานบนพื้นฐานของการพยายามเข้าใจความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน สิ่งที่ทำตรงกับภารกิจที่ตั้งใจและยังจำเป็นต้องรับฟังข้อเสนอในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับฟังแนวทางจากทุกภาคส่วนที่ทำงานอยู่กับปัญหาในพื้นที่จริง เพื่อช่วยให้งานของ กสศ. ได้รับความคิดที่แหลมคมมาช่วยขัดเกลาให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ความตั้งใจในภารกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเป็นงานที่ท้าทาย และต้องการมุมมองและแนวคิดที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ซึ่งได้มาจากการทำงานและลงมือปฏิบัติจริงจนมองเห็นประเด็นและแนวทางที่พื้นที่และชุมชนต่าง ๆ กำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เมืองใหญ่ในภาคกลาง ซึ่งมีรูปแบบปัญหาที่หลากหลายและยังต้องการพลังและแนวทางจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาอีกมากมาย โดยเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอที่จะได้รับฟังจากทุกฝ่ายจะสามารถสร้างแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาที่จะสร้างจุดเปลี่ยนและกลายเป็นคานงัดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จะได้เห็นในอนาคต” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กสศ. ยกตัวอย่างเสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่ายถึงการขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ดังนี้

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแนวทางในการแก้ปัญหาการศึกษา จำเป็นที่จะต้องสำรวจแก่นของปัญหา สำรวจเหตุและผลของปัญหา สำรวจความต้องการของเด็กกลุ่มต่าง ๆ โดยต้องคำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นหลัก และพิจารณาว่าเด็กแต่ละคนควรจะต้องเรียนอะไร 

“ต้องคิดกันว่า ทำอย่างไรให้ครูมีเครื่องมือที่สามารถแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรื่องยาเสพติด เด็กในกลุ่มที่อยู่ในชุมชนยากจน เด็กกลุ่มที่เป็นเด็กพิเศษซึ่งต้องการการเรียนรู้รูปแบบเฉพาะ เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรให้ตรงกับปัญหาของเด็กโดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเด็กระดับประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังพัฒนาขึ้น เช่นในสหรัฐอเมริกา เขตพื้นที่การศึกษาได้พัฒนาฐานข้อมูลที่ช่วยให้ทราบว่าเด็กในโรงเรียนใดหรือจุดไหนมีปัญหาด้านการอ่าน หรือปัญหาด้านพฤติกรรมแบบใด จำเป็นต้องออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือแบบไหนให้ตรงกับปัญหาที่มีอยู่ การพัฒนาระบบข้อมูลจะนำไปสู่การพัฒนาทุกองคาพยพของการศึกษาให้สอดคล้องกับการช่วยเหลือและพัฒนาผู้เรียนได้ตรงจุดมากขึ้น และใช้งบประมาณทางการศึกษาได้คุ้มค่ามากขึ้น” ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว

ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าโครงการพัฒนาการเรียนรู้พื้นที่ชีวิตเด็กนอกระบบราชบุรี
มูลนิธิสร้างสรรค์เพื่อทำงานทางสังคม

ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าโครงการพัฒนาการเรียนรู้พื้นที่ชีวิตเด็กนอกระบบราชบุรี มูลนิธิสร้างสรรค์เพื่อทำงานทางสังคม กล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ของกลุ่มเด็กที่มีความหลากหลาย มีสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน หลากหลายรูปแบบ และมีวิธีการเรียนรู้หลายรูปแบบ

“การศึกษาต้องมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กให้พวกเขารู้ตัวตนของตัวเอง เข้าใจเป้าหมายชีวิตของพวกเขาด้วยตัวของพวกเขาเอง การศึกษาจะต้องสามารถโอบอุ้มพวกเขาให้ก้าวข้ามสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ทั้งตัวเด็ก ครู และชุมชน จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์นี้ได้ 

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันออกแบบการศึกษาที่เด็กอยากรู้ และควรรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพได้จริง หากเรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่อยากเรียนต่อหรือมีความจำเป็นที่ต้องทำงานก็ต้องมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านอาชีพ และมีช่องทางที่จะกลับสู่ระบบการศึกษาเมื่อมีความพร้อมที่จะกลับมาเรียนต่อ จึงจำเป็นต้องออกแบบการศึกษาในระดับต่าง ๆ ให้เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านนี้ ต้องมีหลักสูตรที่ช่วยค้นหาศักยภาพของผู้เรียนได้ โดยหลักสูตรนี้สามารถออกแบบให้ครอบคลุมใน 3 ช่องทางคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษารายบุคคล ควรมีรูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กที่ไม่สามารถมาเรียนตามปกติหรือไม่สามารถเรียนบนฐานออนไลน์ได้ เพื่อช่วยไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษา” ดร.เนตรดาว กล่าว

นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาองค์กรและบุคลากรหลากหลายกลุ่ม ได้พัฒนากระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและความจำเป็นในการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกการศึกษาที่สร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

“ที่ผ่านมามีการออกแบบการเรียนรู้ซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบ ที่สอดคล้องกับความสนใจและชีวิตจริง สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้ในปัจจุบันไปสู่อนาคต และเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์ของคนในทุกช่วงวัยมาสอดประสานกันออกมาเป็นรูปแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และช่วยให้คนต่างรุ่นเข้าใจวิถีชีวิตของท้องถิ่นหรือชุมชนอย่างเห็นคุณค่า หากเราช่วยกันสำรวจรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะนี้จากในแต่ละพื้นที่มารวมศูนย์ เพื่อชี้เป้าให้ผู้ที่ต้องการพลังบวกจากการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้มีโอกาสเข้าถึงและมองเห็นเป็นทางเลือกและทางออกของชีวิต ก็น่าจะช่วยสร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนกลุ่มต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง” นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล กล่าว


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘รวมพลังภาคี สร้างจุดเปลี่ยนการศึกษาประเทศไทย’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
‘กสศ. ชวนภาคีร่วมวาดภาพฝันความเสมอภาคทางการศึกษา’ โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา