กสศ. – Sea (ประเทศ​ไทย) ​- เครือข่ายโรงเรียน ฯ ชวนช็อปกับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ”

กสศ. – Sea (ประเทศ​ไทย) ​- เครือข่ายโรงเรียน ฯ ชวนช็อปกับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ”

กสศ.- Sea (ประเทศไทย) – เครือข่ายโรงเรียนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำสานต่อผลิตภัณฑ์จากตลาดวาดฝัน Equity – Partnership Season 3 ชวนช็อปกับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” เพื่อต่อยอดทักษะอาชีพและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้จับมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (Sea Money) เปิดแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ได้สานต่อจากแนวคิดของตลาดวาดฝันที่นำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนทุนเสมอภาคมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยในครั้งนี้ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกจากนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. 10 โรงเรียน และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ 7 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค (Equity Partnership’s School Network Season 3) สานต่อภูมิปัญญาชุมชน โดยได้จับมือกันพัฒนางานหัตถกรรมต่างๆ ออกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

“โครงการนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสถานศึกษาในเขตเมืองและสถานศึกษาในเขตชนบท ครูผู้สอนแลกเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน นักเรียนได้พัฒนาจนเกิดกลไกการเรียนรู้และพัฒนาตามความถนัดและศักยภาพของกันและกัน ผ่านการร่วมกันดำเนินงานออกแบบระหว่างสถานศึกษา ทำงานอย่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 3” รองผู้จัดการกสศ.กล่าว

ดร.ไกรยสกล่าวว่า กสศ.มีความตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า เข้าร่วมในโครงการ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักเรียนเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ และนำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ของ shopee โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคจาก 10 โรงเรียน โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคตและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเป็นประตูสู่โอกาสในการสร้างรายได้และอาชีพในอนาคต ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลสำหรับคนรุ่นใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการคว้าโอกาสแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล Sea (ประเทศไทย) มีความมุ่งมั่นในการสร้างทักษะดิจิทัลสำหรับเยาวชน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Nation เรามีความตั้งใจในการสนับสนุนโครงการ Equity Partnership’s School Network เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสใช้ความรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างแบรนด์ผนวกกับการใช้เครื่องมือทางการตลาดของช้อปปี้ในการผลักดันสินค้าท้องถิ่นให้เข้าถึงฐานลูกค้ามากยิ่งขึ้นผ่านแพลทฟอร์มช้อปปี้ เราหวังว่าน้องๆ จะได้ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
Sea (ประเทศไทย)

สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีโรงเรียนในเครือข่าย กสศ.เข้าร่วมจำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน 1. โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน จังหวัดเชียงราย 2. โรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า จังหวัดพะเยา 3. โรงเรียนบ้านป่าเลา จังหวัดลำพูน 4. โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น 5. โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี 6. โรงเรียนบ้านบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี 7. โรงเรียนวัดโพธิ์เรียง จังหวัดกระบี่ 8. โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย 9. โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย จังหวัดน่าน และ 10. โรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่เข้าร่วมโครงการ 7 โรงเรียน ได้แก่ 1. โรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ 2. โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา 3. โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ 4. โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี 5. โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ 6. โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า และ 7. โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์กรุงเทพ

รองผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า โดยในซีซั่น 3 นี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ ได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งต้นกล่องใส่กระดาษทิชชูให้กลายเป็นปลอกหมอนปักผ้า โดยถ่ายทอดรูปดั้งเดิมของงานหัตถกรรมตามวิถีชีวิตของชาวม้งไว้อย่างครบถ้วน 

นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา และโรงเรียนบางกอกพัฒนาได้ร่วมกันพัฒนาผ้าปักชาวเมี่ยน “กระเป๋า Mien Made” ซึ่งได้มาจากการผสมผสานหัตถกรรมปักผ้าของชาวเมี่ยน ลายผ้าปักที่สืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษกับการออกแบบสมัยใหม่ที่เน้นความเรียบง่าย จนได้รูปแบบเฉพาะตัว โรงเรียนบ้านป่าเลา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์ได้ร่วมกันพัฒนาเสื้อเช ผ้าฝ้ายทอมือ ออกมาเป็นเสื้อผ้าแบรนด์ “TACAYVA” โดยนำผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านป่าเลาด้วย มาประยุกต์เป็นรูปแบบและลวดลายเสื้อผ้าร่วมสมัยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าทอกะเหรี่ยงของบ้านป่าเลาไว้ได้

ด้านโรงเรียนภูเวียงวิทยาคม อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ ได้ร่วมกันพัฒนาเสื่อกกออกมาเป็นกระเป๋าทรง Bucket Bag โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพได้ร่วมกันพัฒนา “MUD JAI” ผ้าฝ้ายทอมือลายลูกแก้ว 4 ตะกอ ย้อมสีธรรมชาติ 

ขณะที่โรงเรียนบ้านบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้าได้ร่วมกันพัฒนาสครับสูตรสาหร่ายพวงองุ่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% และโรงเรียนวัดโพธิ์เรียงกับโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ได้ร่วมกันพัฒนาผ้าบาติกที่มีลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากทะเลอันดามัน กลายเป็นลวดลายที่สวยงาม

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายแบบพิเศษสุด (Exclusive) ผลิตภัณฑ์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น บนแพลทฟอร์ม Shopee โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://bit.ly/EP3eefxShopee หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Shopee ได้จากทั้ง Play Store และ Apple Store พร้อมโค้ดส่วนลดเพิ่ม 10% ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2565