กสศ. เดินหน้าการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เฟ้นหาภาคีสนับสนุนเยาวชนกลับเข้าสู่การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต
สร้างกลไกต้นแบบที่มีระบบดูแลช่วยเหลือหลากหลาย พร้อมทางเลือกยืดหยุ่น

กสศ. เดินหน้าการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เฟ้นหาภาคีสนับสนุนเยาวชนกลับเข้าสู่การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต

เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘การสร้างความเข้าใจและปรับปรุงข้อเสนอโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566’ ภายหลังจากที่ กสศ. ได้เชิญชวนองค์กรชุมชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ กิจการเพื่อสังคม หน่วยงาน สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีแนวคิดขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้มีทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ให้ร่วมยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนจาก กสศ. ซึ่งเปิดรับสมัครช่วงวันที่ 11– 30 เมษายน 2566 โดยถึงขณะนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการและผ่านขั้นการพิจารณาอนุมัติโครงการแล้ว 40 โครงการ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาปี 2566 ว่าโครงการได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งจากคณะทำงาน คณะผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ภาคส่วน คณะผู้ทรงคุณวุฒิที่อนุกรรมการฯ แต่งตั้ง จนถึงขั้นตอนคณะอนุกรรมการเห็นชอบในภาพรวมทั้ง 40 โครงการ เพื่อกระจายกำลังการทำงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ทุกโครงการกำลังจะทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในภาวะวิกฤตทางการศึกษาซึ่งมีความท้าทายในการทำงาน เพราะสถานการณ์ปัญหามีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เชื่อมั่นว่างานที่กำลังจะลงมือทำจากทุกโครงการจะประสบความสำเร็จ และสามารถออกแบบวิธีการทำงานที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้ได้  โดยเฉพาะในแง่ของการนำข้อมูลการทำงานจากโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะถูกนำไปถอดบทเรียนและใช้เป็นข้อมูลเพื่อนำไปกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไป

“โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือดูแลเยาวชนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาซึ่งมีเยาวชนจากการศึกษาทุกระดับ เยาวชนกลุ่มนี้กำลังเผชิญปัญหาที่มีความซับซ้อนโดยพบว่าส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาครอบครัว ร้อยละ 78 ของเยาวชนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวแหว่งกลาง คือไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย และบางครอบครัวหากไปดูภูมิหลังของเขา ก็จะพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ระบุว่า โจทย์ของ กสศ. คือสร้างคณะทำงานที่มีศักยภาพในการทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา สร้างกลไกทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนแนวคิดในการหาแนวทางยุติปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน และสามารถสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายกลับไปเรียนต่อให้จบการศึกษาและมีโอกาสก้าวต่อไปในชีวิตจนกระทั่งมีงานทำ รวมถึงช่วยกันคิดว่าจะช่วยเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วด้วยวิธีใดได้บ้าง

“สิ่งที่เราจะทำอาจจะประสบความสำเร็จเหมือนโมเดลที่กรมพินิจฯ ใช้ดูแลเด็ก ทำให้พวกเขากล้าคิดกล้าแสดงออกและเปิดใจสะท้อนปัญหาที่ตัวเองมีออกมาจัดการได้ตรงจุด พัฒนาให้เด็กได้เรียนและมีอาชีพก่อนจะคืนพวกเขากลับไปสู่สังคม หรือว่าโครงการสอนเด็กนอกระบบการศึกษาให้เรียนนวดเพื่อป้อนตลาดแรงงานที่เกาะสมุย หรือการได้เห็นหลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบพิเศษที่สามารถดูแลแม่วัยรุ่นได้

“โครงการนี้จะช่วยหาทางออกสำคัญ ซึ่งก็คือการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับตัวเด็กหรือสถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ ต้องทำให้เห็นว่าเราสามารถสร้างกลไกที่ช่วยเปลี่ยนแปลงเด็กได้ และได้มาจากการปรับวิธีคิด หลักการ แนวทางหาเครือข่ายที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ปรับหลักสูตรให้หลากหลาย มีพื้นที่เรื่องการ Reskill Upskill และการเทียบโอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาสามารถสร้างทางเลือกให้เด็กทุกคนจะมีโอกาสการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันได้ 

“โครงการที่เรากำลังจะขับเคลื่อน เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ซึ่งทราบข้อมูลของปัญหาและการจัดการเป็นอย่างดี เราจึงเชื่อมั่นว่าแต่ละโครงการจะสามารถไปถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ และหาวิธีที่จะทำให้พวกเขารวมกลุ่มกันสร้างกลไกการดูแลกันและกัน แนวทางและผลลัพธ์ของโครงการจะถูกนำไปต่อยอดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่และสามารถดูแลเยาวชนจากครอบครัวยากจนที่สุดของประเทศได้อย่างเหมาะสม”

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

ขณะที่ นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวถึงความเชื่อมั่นกับภาคีเครือข่ายและทีมหนุนเสริมทางวิชาการ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเยาวชนในพื้นที่ แม้จำนวนโครงการจะมีเพียง 40 โครงการ แต่การขยายตัวแบบไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศก็เชื่อว่าสิ่งที่ได้จะกลายเป็นตัวแบบสำคัญในการจัดการปัญหาในพื้นที่และนำความรู้จากการจัดการปัญหามาบอกเล่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปขยายผลการทำงานในการดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาต่อไป

“เยาวชนที่เป็นเด็กนอกระบบทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 9 แสนคน เมื่อเทียบกับเด็กในโครงการที่เรากำลังจะทำงานด้วย 1,500 คนถือว่าน้อยมาก แต่ตัวเลขนี้ก็มีความหมายมาก เพราะสิ่งที่เรากำลังจะทำก็คือการทำงานโดยใช้พื้นที่ของโครงการที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาจริง มาช่วยกันหาว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้อยู่ที่ไหน วิเคราะห์สภาพปัญหาความต้องการและศักยภาพในการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย สร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกับครอบครัวและชุมชนเพื่อประสานเชื่อมโยงทรัพยากรและจัดสรรสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ช่วยกันหาว่าการดูแลเขาจะต้องทำงานกับใครบ้าง แล้วมาช่วยกันสร้างแนวทางให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ละโครงการจะช่วยเราหาคำตอบว่าจะจัดการศึกษาแบบไหนดีที่จะเหมาะสมกับน้อง ๆ กลุ่มนี้ แนวทางไหนที่จะมาช่วยพลิกชีวิตของพวกเขาให้หลุดพ้นจากวังวนความยากจนข้ามรุ่น”

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นเป็นผลลัพธ์จากการทำงานก็คือได้มีโอกาสส่งน้อง ๆ ที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีโอกาสกลับไปเรียนรู้ กลับไปเรียนหนังสืออย่างเหมาะสม เป็นการเรียนเพื่อการมีงานทำและประกอบอาชีพ อยากเห็นรูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงที่สอดคล้องกับความถนัดและความต้องการของเด็ก โดยพัฒนาจากต้นแบบที่มีอยู่ เช่น กลุ่มเยาวชนที่ออกจากการศึกษากลางคัน กลุ่มเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กลุ่มชาติพันธุ์กับศูนย์การเรียน กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น เป็นต้น ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง มีมุมมองเชิงบวกต่อตัวเอง มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและแก้ไขปัญหาชีวิตได้

ทั้งนี้ กระบวนการช่วยเหลือสามารถเชื่อมโยงวิถีชุมชนท้องถิ่นและสังคมในพื้นที่ สามารถสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายระบบส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการจัดการศึกษาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกันออกแบบขึ้นโดยใช้ชุมชนเป็นฐานต่อไป

“โครงการที่เรากำลังจะทำอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงภาคนโยบายที่กำลังดูแลเด็ก ๆ ให้ทราบว่าการแก้ปัญหานี้มีมิติการทำงานเรื่องอะไรบ้าง จะมีคำตอบในการจัดการศึกษาในรูปแบบใดบ้างรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อดูแลปัญหา ทราบว่าต้นทุนในการดูแลปัญหานี้มีอะไรบ้างในอนาคตและต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้จะมาจากทุกท่านในโครงการนี้ซึ่งจะมาทำงานร่วมกับ กสศ.” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว