‘กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา’ ติดโผ 64  เมืองจาก 35 ประเทศสมาชิกใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก

‘กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา’ ติดโผ 64  เมืองจาก 35 ประเทศสมาชิกใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรายชื่อ 64 เมือง จาก 35 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) ของยูเนสโกในการประชุมระดับสูงแบบเสมือนจริง ‘เสริมศักยภาพผู้เรียนทุกวัย: เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกพลิกโฉมชีวิต’ (Empowering Learners of All Ages: UNESCO Learning Cities Transform Lives) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเชิดชูความพยายามอันโดดเด่นในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นจริงได้สำหรับทุกคนในระดับท้องถิ่น

ปีนี้มีเมืองของประเทศไทยได้รับคัดเลือกและประกาศรับรองให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกจำนวน 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา คุณลักษณะสำคัญของการได้รับคัดเลือกคือการเชื่อมโยงเข้าหากันของสถาบันศึกษา สถาบันฝึกอบรม และสถาบันวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น ตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ว่าจ้าง การเป็นเมืองที่สามารถระดมทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และนับรวมทุกกลุ่มคนตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยฟื้นฟูการเรียนรู้ในครอบครัวและในชุมชน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับสถานที่ทำงาน ในขณะเดียวกันก็ขยายการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป้าหมายที่ 11 (SDG11) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนทั้งหลายของตน เมืองแห่งการเรียนรู้ใหม่เหล่านี้ได้รับการเพิ่มเข้าไปในเครือข่ายตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เงื่อนไขสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้คือ ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนายกเทศมนตรีและฝ่ายบริหารของทางการเมืองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนต้องมีประวัติที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มด้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี

ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวว่า “เมืองต่าง ๆ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สิทธิด้านการศึกษากลายเป็นความจริงที่จับต้องได้สำหรับผู้คนทุกวัย ด้วยการเพิ่มสมาชิกใหม่ในครั้งนี้ เครือข่ายจึงประกอบด้วยเมืองสมาชิกทั้งหมด 356 เมืองจากทั่วโลก ซึ่งแบ่งปันความรู้เชิงปฏิบัติการและปูทางสำหรับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับพลเมือง 390 ล้านคน”

การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอย่างเต็มที่ โดยจะได้รับคำแนะนำ แนวทาง และการสนับสนุนในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มีโอกาสในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ/ภูมิภาค ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานกับเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการเสนอผลการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นเพื่อรับรางวัล UNESCO Learning City Award ซึ่งมีการมอบรางวัลทุก 2 ปีด้วย

ประเทศไทยมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 10 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2562) เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2563) จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพะเยา เทศบาลนครหาดใหญ่ (เป็นสมาชิกปี 2565) และกรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกล่าสุดในปีนี้

รายชื่อเมืองสมาชิกใหม่เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก