12 จังหวัดต้นแบบ ‘การศึกษาเชิงพื้นที่’ นำทางลุยงานแนวราบ ‘ล่างสู่ล่าง’ สร้างเครือข่ายจังหวัดลงลึกชุมชน
ปั้นโมเดลการค้นหา-ส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาสทุกกลุ่ม ต่อจิ๊กซอว์ลดเหลื่อมล้ำระดับประเทศ

12 จังหวัดต้นแบบ ‘การศึกษาเชิงพื้นที่’ นำทางลุยงานแนวราบ ‘ล่างสู่ล่าง’ สร้างเครือข่ายจังหวัดลงลึกชุมชน

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘บูรณาการเชิงพื้นที่ คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ชวนภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมรับฟังประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองกระบวนการทำงาน และตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนากลไกทำงานรวมถึงยกระดับการสร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

เวทีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนการทำงาน ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ หรือ ‘Area-Based Education (ABE)’ ของ 12 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ สมุทรสงคราม ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศ เพื่อสร้างแนวทางการดำเนินงานและกลไกการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด หรือระดับพื้นที่ นอกจากนี้มีการแลกเปลี่ยนที่นำไปสู่แนวทางขยายขอบเขตการสนับสนุนของ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ พร้อมสำรวจความต้องการในการหนุนเสริมเพื่อการพัฒนากลไก ให้สามารถยกระดับการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ก่อนก้าวไปสู่การขยายผลความสำเร็จจากตัวแบบไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการโครงการ ฯ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า การทำงาน Area-Based Education หรือ ABE คือการร้อยเครือข่ายเพื่อขยายการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย คณะทำงานต้องเห็นภาพใหญ่ของระบบ และสามารถประเมินความต้องการกำลังคนในอนาคต กลไกที่นำไปถึงความสำเร็จได้คือการหาวิธีให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั้งการศึกษากระแสหลัก และการศึกษาทางเลือก มองความสำเร็จว่าผู้ที่ผ่านกระบวนการต้องยืนหยัดด้วยตนเองได้ในระยะยาว

“การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะเอื้อให้เกิดการทำงานที่หลากหลาย เป็นระบบจากล่างขึ้นบน มีเส้นทางใหม่ ๆ ของการเรียนรู้ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ มีการสื่อสารทำงานกับผู้ปกครอง ซึ่งท้องถิ่นคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ครู กศน. จะมีความใกล้ชิดและเป็นสะพานเชื่อมไปถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญและลงมือช่วยกัน ABE เป็นโมเดลการทำงานที่จะทำให้หลุดพ้นจากการทำงานแบบเดิม ซึ่งท้องถิ่นต้องพึ่งพิงนโยบายจากส่วนกลาง หรือบนลงล่าง มาสู่การส่งต่องานกันในระนาบล่างสู่ล่าง เป็นต้นทางของนวัตกรรมด้านการศึกษาใหม่ ๆ ที่เน้นการดูแลการศึกษาและพัฒนาตนเองตามช่วงชีวิต เพราะหากเราคลี่ออกมาได้ว่า มีทุนและมีเส้นทางอยู่ตรงไหนบ้าง เมื่อเด็กติดขัดมีปัญหา หรือเรียนจบในแต่ละช่วงชั้นแล้ว เขาจะมีพื้นที่รองรับ เข้าถึงความช่วยเหลือ และมีเส้นทางเชื่อมต่อไปจนเต็มความสามารถที่มีอยู่ และกลายเป็นประชากรที่พึ่งพิงตนเองได้ในอนาคต” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการโครงการ

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า การใช้พื้นที่เป็นฐานจุดระเบิดการทำงานจากภายใน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาพใหญ่คือ ต้นแบบจากภูมิสังคมซึ่งมีความแตกต่าง ทั้งกลุ่มเป้าหมาย สภาพปัญหา คนทำงาน ทุนทรัพยากร ข้อดีคืองานสามารถเริ่มได้จากทุกที่และทุกวิธีการ ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือสั่งการ ไม่มีแนวทางปฏิบัติเป็นกรอบกำหนด ซึ่งจะเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงลึกที่ซับซ้อนและกว้างออกไปยิ่งขึ้น

“เป้าหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ทำให้ทุกที่ทุกคนได้เท่ากัน แต่คือต้องลดช่องว่างให้แคบลงโดยยกระดับการเข้าถึงโอกาสพัฒนาความสามารถของคนแต่ละคน สำคัญคือการค้นหากลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก เชื่อมโยงให้ได้ว่าเมื่อพบแล้วจะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างไร อย่าลืมว่าในการทำงานบนฐานความคิดว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งให้ตกขบวนรถไฟแห่งโอกาส ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เขาไม่รู้เลยว่าสถานีขึ้นรถไฟขบวนนี้อยู่ตรงไหน ฉะนั้นการค้นหาแบบมุ่งเป้า (targeting) ด้วยฐานข้อมูลจึงสำคัญ เพราะรายละเอียดปัญหาที่ระบุไว้เป็นรายคนจะทำให้คณะทำงานสามารถพบตัวกลุ่มเป้าหมายที่เผชิญวิกฤตรุนแรงได้รวดเร็ว และช่วยเหลือได้ทันท่วงที ส่วนต่อจากนั้นคือการผสานข้อมูลจากคนในพื้นที่ เพื่อออกแบบการเชื่อมโยงส่งต่อที่ไม่ใช่เพียงการสงเคราะห์ชั่วคราว” ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว

ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า ประสบการณ์ทำงานในแต่ละจังหวัดต้นแบบ แสดงให้เห็นว่าการทำงานที่ประสบความสำเร็จอาจมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน การได้มาแลกเปลี่ยนรับฟัง จึงเหมือนกับได้ดูการประกอบจิ๊กซอว์ของการทำงานลดความเหลื่อมล้ำ ว่าแต่ละแห่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเชื่อมการทำงานในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัดอย่างไร แล้วเมื่อย่อขนาดพื้นที่ให้เล็กลง เราจะมีเลนส์ที่ขยายโจทย์งานให้เห็นชัดขึ้น และสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมในพื้นที่ยอมรับวิกฤตของสภาพปัญหาจริง อันเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ Area-Based Education หรือ ABE เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความตั้งใจในการทำงานจากพื้นที่เล็ก ๆ ด้วยความพร้อมและต้นทุนที่มี เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนไม่เพียงเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้จนจบการศึกษาภาคบังคับ แต่คือการผลักดันให้ทุนทรัพยากรมนุษย์ทุกกลุ่ม ได้มีลู่ทางพัฒนาตนเองไปถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.

จากการดำเนินโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ ระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนไทยกว่า 2 แสนคนที่หลุดจากระบบการศึกษา ในจำนวนนี้มี 8,618 คน ที่ยังไม่สามารถติดตามกลับมาได้ ทั้งยังมีเด็กยากจนด้อยโอกาสที่เผชิญภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 1.9 ล้านคน และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้มีเด็กนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นอีกราว 3 แสนคน เป็นที่มาของการที่ กสศ. และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา มองถึงการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่มีฐานะยากจนกลุ่ม 15% ล่างสุดของประเทศ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอายุ 25 ปี จำนวน 2.8 ล้านคน ผ่านโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยแนวทางการทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่บนฐานความเชื่อว่า การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่คือ ‘หัวใจ’ ของการทำงาน เพราะ “ไม่มีใครจะเข้าใจบริบทปัญหาได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่เอง” จนเกิดโมเดลการย่อส่วนการทำงานระดับจังหวัดลงไปสู่ระดับพื้นที่ ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การทำงาน ABE ใน 12 จังหวัดนำร่อง คือตัวแบบการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และบุคลากรอาสาสมัคร โดย กสศ. มีหน้าที่สนับสนุนเครื่องมือและเชื่อมต่อทรัพยากรทั้งภายในจังหวัด ร่วมกับทรัพยากรการทำงานของ กสศ. ตั้งแต่ระบบคัดกรองนักเรียนยากจน เพื่อชี้เป้านักเรียนยากจนที่เสี่ยงหลุดจากการศึกษาภาคบังคับ พร้อมกับสนับสนุน ‘ทุนเสมอภาค’ และติดตามพัฒนาการทางร่างกายและการศึกษา ทั้งนี้ข้อมูลระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน จะใช้ในการส่งต่อเด็กระหว่างช่วงชั้นเพื่อสร้างระบบ ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ในระยะยาวสำหรับเด็กเยาวชนทุกช่วงอายุ ผ่านโครงการต่าง ๆ ของ กสศ. ได้แก่

โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ(TSQP) ร่วมกับโรงเรียนขนาดกลางหว่า 700 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างโมเดลการพัฒนาครูและโรงเรียนที่อยู่ในเมืองกับในพื้นที่ชนบทห่างไกล ให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน       

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำงานกับพื้นที่ที่ขาดแคลนครู ผลิตครูนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ปีละ 300 คน ติดต่อกัน 5 ปี รวม 1,500 คน เข้ารับทุนเข้าเรียนครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อกลับไปบรรจุที่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนครูในชุมชนของตนเอง

โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่มุ่งสร้างโอกาสให้เยาวชนที่มีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังเรียนจบภาคบังคับ ให้มีโอกาสได้เรียนต่อสายอาชีวศึกษา ในสาขาที่ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานและการพัฒนาประเทศ ส่วนเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาสแต่มีศักยภาพ กสศ. มีทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ส่งต่อนักศึกษาสายอาชีพ ให้เรียนถึงระดับสูงสุดตามความสามารถในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

ส่วนเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว กสศ. มีโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ โดยสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ออกแบบการจัดการศึกษาที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ดึงทุนทรัพยากร ทุนภูมิปัญญา ทุนสังคมและเศรษฐกิจ มาออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะแรงงาน และการเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่

“ปี 2565 ที่ผ่านมา โครงการต่าง ๆ ของ กสศ. ได้ทำงานประสานส่งต่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน และช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้กว่า 1,307,152 คน ซึ่งก้าวต่อไปคือ กสศ. จะผนึกกำลังทั้งภายในและการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงการส่งต่อดูแลสุดทาง ให้สามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนทั้งที่อยู่ในและนอกระบบ ป้องกันเด็กหลุดการศึกษาและประคองเด็กที่จบการศึกษาแต่ละช่วงชั้นให้ไปต่อได้ในการศึกษาระดับสูงขึ้น รวมถึงการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ภารกิจของ กสศ. โดยตรง ซึ่งตรงนี้ทุนการทำงานที่กระจายในพื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ”  นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อไปว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘บูรณาการเชิงพื้นที่ คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จะจัดขึ้นทุกสองเดือน โดยเวียนนำเสนอกระบวนการต้นแบบของแต่ละจังหวัด ซึ่งในครั้งนี้มีแนวทางการทำงานที่น่าสนใจจากจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดพะเยา มาเล่าประสบการณ์การจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน

โดยขอนแก่น เป็นจังหวัดที่เดินหน้านโยบาย ‘เมืองไม่ทิ้งเด็ก’ บูรณาการ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะท้อนเบื้องหลังความสำเร็จในการแก้ปัญหาจากต้นทุนภายในและการทำงานที่ชัดเจน มีการติดตามปัญหาของเด็กเป็นรายคน และมีชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีกลุ่มจิตอาสาทำงานประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายข้ามหน่วยงานตั้งแต่พื้นที่จนถึงจังหวัด เน้นความยืดหยุ่น รวดเร็ว และไม่เป็นทางการ มีเป้าหมายคือแก้ปัญหาให้เด็กเร็วที่สุด

ขณะที่พะเยา ทำงานในโจทย์ที่ซับซ้อนกับเด็กเยาวชนกลุ่มผู้พิการทั้งในและนอกระบบ โดยมุ่งสานต่อภารกิจ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)’ โดยองค์การยูเนสโก พัฒนาการเรียนรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม โดยมุ่งลดการเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ สวัสดิการ และการบริการสุขภาพ ผ่านการแลกเปลี่ยนทุนทรัพยากรและการทำงานระหว่างหน่วยงาน อาทิ อบจ. กศน. ศูนย์การศึกษาพิเศษ ร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ 26 แห่งในอำเภอต่าง ๆ ซึ่งผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิต รับประกาศนียบัตร และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเพื่อสังคม นำภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาร่วมคัดกรองเด็กจากศูนย์การศึกษาพิเศษ นำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ฝึกทักษะอาชีพ และรับเข้าทำงานเป็นลำดับ