มองสถานการณ์ ‘แรงงานไทย’ ต้องเปลี่ยน Mindset เพื่อรับมืออนาคต

มองสถานการณ์ ‘แรงงานไทย’ ต้องเปลี่ยน Mindset เพื่อรับมืออนาคต

เสียงสะท้อนจากเวทีนโยบาย ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมการเสวนาหลายท่านมีมุมมองต่อสถานการณ์แรงงานไทยที่สอดคล้องกันว่า ถึงแม้วิกฤตโควิดจะผ่านไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภาคแรงงานคือ คนที่สูญเสียงานจำนวนมากจากวิกฤตครั้งนี้ จะยังคงไม่มีโอกาสได้กลับมาทำงานอีกเนื่องจากกำลังมีการปรับตัวของฝั่งนายจ้างที่เตรียมนำเทคโนโลยีและดิจิตัลเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิต นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ภาคแรงงานจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะใหม่ๆไปจนถึงเรื่องวิธีคิด หรือการมี Mindset ที่พร้อมรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้ามาให้ได้

พรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไม่ใช่สถานการณ์ที่ง่ายทั้งในส่วนของแรงงานและทางกรมฯ ที่มีโจทย์เรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะผลกระทบจากโควิดที่ชัดเจน คือการอบรมแบบเดิมที่ต้องใช้การปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้ ในช่วงที่ไม่สามารถเจอตัวกัน ‘สื่อออนไลน์’ จึงมีบทบาทมาก แต่หมายความว่าจะต้องพัฒนาทั้งตัวผู้รับการอบรมและบุคลากรของเราเองที่ต้องเปลี่ยนมาทำสื่อออนไลน์เพื่อสอน ซึ่งยอมรับว่าบุคลากรของกรมฯก็ไม่คุ้นชินเรื่องนี้

ในส่วนแรงงานก็มีทั้งโจทย์ในปัจจุบันสืบเนื่องมาจากแต่ละคนศักยภาพไม่เท่ากัน บางคนพร้อมมีเครื่องมืออุปกรณ์ แต่อีกส่วนไม่มีเลย ก็ต้องหาวิธีแก้ ส่วนโจทย์ในอนาคตคือต้องคิดต่อว่าจะใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสพัฒนาแรงงานของเราให้ก้าวผ่านไปสู่การเป็นแรงงานที่มีทักษะที่สูงขึ้น เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ทดแทนคนได้อย่างไร

“เมื่อโควิดอยู่นานกว่าที่คาด ความท้าทายที่ตามมาคือแนวโน้มที่ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนคน ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อความท้าทายจึงต้องพัฒนาคนให้ทันต่อเทคโนโลยีมากขึ้น ในระยะสั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานปรับรูปแบบฝึกอบรมเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น อีกส่วนคือการอบรมแบบไฮบริดจ์ คือเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วนัดเจอกันในช่วงที่ต้องปฏิบัติจริง ส่วนในระยะกลางและระยะยาว จะต้องมีการบริหารฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นภาพเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รายบุคคล

พรศิวลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากการการฝึกแรงงานเพื่อให้มีทักษะที่สามารถตอบสนองเทคโนโลยีระดับสูงได้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคิดต่อ คือแรงงานที่กลับภูมิลำเนาจะอยู่ในภาคเกษตรมากขึ้นและอาจไม่กลับมา ส่วนนี้จะต้องพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเกษตรที่ใช้เทคโนยีหรือเกษตรแม่นยำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตเกษตรได้คงที่และมีเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปได้ อีกส่วนหนึ่งคือเรืองการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลาง ซึ่งทางกรมฯจะมีทีมที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาโอท็อป วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้ก้าวข้ามสู่การเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแรงขึ้นให้ได้

“ประเด็นสำคัญที่เราค้นพบหลังโควิดคือ การให้แค่ความรู้ไม่พอ จะต้องสามารถให้คำปรึกษาเพื่อเปลี่ยน Mindset หรือวิธีคิดของเขาด้วย เพื่อให้เขาพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เข้าใจเทรนด์ใหม่ๆที่เข้ามาเร็วขึ้น ต้องมีเครื่องมือให้ฝึกฝนและใช้งานจริง และจะต้องทำงานอย่างเกาะติด เพราะถ้าจะพัฒนาแรงงานให้สำเร็จจริงจะต้องดูว่า เขาขาดอะไรแล้วไปเติมให้เต็มให้ได้” พรศิวลักษณ์  กล่าวทิ้งท้าย