โควิดเปลี่ยนโฉมหน้า ‘การศึกษา’ ถึงเวลาต้องยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ

โควิดเปลี่ยนโฉมหน้า ‘การศึกษา’ ถึงเวลาต้องยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ

การมาถึงของโควิด-19 ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนตัวเร่งปรากฏการณ์ Disruption ในมิติต่างๆให้มาถึงเร็วขึ้น แม้แต่ในภาคการศึกษาก็ถูกเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปตลอดกาลโดยแทบไม่มีใครทันได้ตั้งตัว

ในบรรยากาศเช่นนี้ มีโจทย์ใหญ่ที่สถาบันการศึกษาต้องตระหนักถึงและเตรียมพร้อมอะไรบ้าง รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้สะท้อนข้อสังเกตผ่านเวทีนโยบาย ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไว้หลายประเด็นอย่างน่าสนใจ

“เราต้องเห็นถึงอนาคตความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้คนของเรา นักศึกษาของเรา คนทำงานของเราตระหนักนึก เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเตรียมพร้อม ทั้งในส่วนที่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษาและในวัยที่ทำงานแล้วในตอนนี้”

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การศึกษาเปลี่ยนไปอย่างมาก ที่ชัดเจนที่สุดคือเปลี่ยนไปสู่ ‘ระบบออนไลน์’ ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นปัญหาใหญ่อย่างน้อย 3 ด้าน ที่เกิดขึ้น

หนึ่ง ความไม่พร้อมของฮาร์ดแวร์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่สอดคล้องกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งพบปัญหาทั้งฝั่งสถาบันการศึกษาและฝั่งผู้เรียน

สอง ซอฟต์แวร์หรือสื่อการสอน เพราะมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากการเรียนที่ผู้เรียนและผู้สอนเจอหน้ากัน จึงเป็นปัญหาว่าจะใช้สื่อการสอนแบบไหนที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

สาม ฮิวแมนแวร์ มีปัญหาหลายระดับ ที่พบมากคือครูผู้สอน เพราะบรรยากาศสอนหน้าห้องต่างจากออนไลน์ เทคนิค ศิลปะการสอนจะเรียกความสนใจ ทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ต่อเนื่องได้อย่างไร

“การเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ยังมีข้อจำกัดในสาขาที่ต้องใช้แล็บและการฝึกงาน ยิ่งถ้าเป็นสถาบันที่เน้นเรื่องการเรียนและฝึกงานไปพร้อมกัน การไปดูงานการทำงานของนักศึกษา หรือการวิจัยที่สอดคล้องกับการทำงานจริง ช่วงที่โควิดระบาดได้ทำให้สิ่งเหล่านี้มีปัญหามากขึ้น”

สำหรับโลกยุคหลังโควิด-19 รศ.ดร.สมภพ มองว่า มีโจทย์ที่ต้องตระหนักและเตรียมพร้อมในสถาบันการศึกษา เพราะมีสิ่งเหล่านี้ที่ต้องเผชิญแน่นอน ได้แก่ Digitalization ที่จะไปเร็วมาก เรื่องไอทีจึงจะสำคัญมากทั้งสำหรับผู้ที่จบไปแล้วและยังศึกษาอยู่ ต่อมาคือ การเกิดขึ้นของ The new industrialization, Financialization, Medicalization, Virtualization, Climate lization, การต่อสู้เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และสุดท้ายคือ Disruption ต่างๆ

เมื่อตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องเตรียมให้พร้อมมีอย่างน้อย 11 เรื่อง คือ

  1. Communication ทักษะด้านการสื่อสาร
  2. Socialization เพิ่มโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
  3. Human Relationship
  4. เพิ่มทักษะต่างๆ
  5. เพิ่มความมุ่งมั่น
  6. สร้างแรงบันดาลใจ
  7. เป็นคนมีวิสัยทัศน์
  8. เป็นคนมีจินตนาการ
  9. ต้องคิดเชิงวิพากษ์นอกกรอบเป็น
  10. มีความคิดเชิงสร้างสรรค์
  11. มีความเป็นผู้นำ

“นี่คือ 11 เรื่องที่ต้องสร้าง เพื่อเด็กๆจะได้มองเห็นอนาคตของเขา จะทำให้เขามีแรงจูงใจในการศึกษามากขึ้น” รศ.ดร.สมภพ ระบุ