กสศ. รับฟังความเห็น 6 สังกัด ‘ร่วมกำหนดทิศทางระบบหลักประกันความเสมอภาคปีการศึกษา 2566’
เตรียมแผนบูรณาการทรัพยากร เชื่อมต่อฐานข้อมูล เคลื่อนระบบดูแลนักเรียนทุกมิติ

กสศ. รับฟังความเห็น 6 สังกัด ‘ร่วมกำหนดทิศทางระบบหลักประกันความเสมอภาคปีการศึกษา 2566’

28 กุมภาพันธ์ 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร(กทม.) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโจทย์การพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา และร่วมออกแบบแผนปฏิบัติงานร่วมกับ กสศ. ในระยะ 3 ปี (2566-2568)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในวาระของการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา ปีการศึกษา 2566 กสศ. ให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ออกแบบแนวทางระดมทรัพยากร เครื่องมือสนับสนุน ตลอดจนนำตัวอย่างความสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมาใช้ในการกำหนดแผนงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนและสนับสนุนผู้เกี่ยวข้องในการทำงานทุกระดับได้อย่างสอดคล้องกับบริบทปัญหา

“ประสบการณ์จากคนที่อยู่หน้างาน จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาและสะท้อนไปถึงตัวเด็ก สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือข้อมูลทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การทำงานกับเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ไม่สามารถมุ่งไปแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่ครอบคลุมรอบด้านด้วยความร่วมมือจากคนทำงานทุกภาคส่วน  กสศ. จะส่งเสริมเพิ่มเติมคืองานวิชาการ งานวิจัย เทคโนโลยี ให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อคณะทำงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันทรัพยากร  ข้อมูล ผลสำเร็จและปัญหาอุปสรรคระหว่างกัน การทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะยิ่งขยายเครือข่ายออกไปในอนาคต อีกทั้งการทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เห็นว่างานบางอย่างสามารถทำได้เองอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง หรือในมิติของนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนโดยการทำงานข้ามสังกัด เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของระบบการทำงานข้ามสังกัดของหน่วยจัดการศึกษาให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 

“สำหรับ กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานย่างเข้าสู่ปีที่ห้า ช่วงต้นของการทำงาน เราจำเป็นต้องจัดทำโครงการที่เป็นเหมือนถนนเส้นหลักเพื่อตัดตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย หลังการทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เรากำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเชื่อมหน่วยงานและวิธีการทำงานภายในให้มีศักยภาพ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้มากที่สุด การรับฟังความเห็นวันนี้ก็เป็นความพยายามหนึ่ง ในการดำเนินงานโครงการใหญ่ที่สุด คือระบบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยดูแลและนำเด็กเยาวชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดให้ไปถึงเป้าหมาย ความเห็นจากหน่วยงานต้นสังกัดและความเห็นในวงกว้าง จะทำให้การทำงานเกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ให้งานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว

ด้านนางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวถึงภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยจัดการศึกษาทั้ง 6 สังกัด กับ กสศ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) กลุ่มเป้าหมายของความร่วมมือ คือเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาภาคบังคับจากครัวเรือนยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ ซึ่งมีข้อมูลของนักเรียนเป็นรายบุคคลจากการเยี่ยมบ้านโดยคุณครูทั่วประเทศ ทำให้ปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในระดับยากจนพิเศษได้รับการจัดสรรทุนเสมอภาคกว่า 1.3 ล้านคน 

“นอกจากการสนับสนุนเงินเพื่อพยุงให้นักเรียนยากจนพิเศษยังคงอยู่ในระบบการศึกษา ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ กสศ.และหน่วยงานต้นสังกัดมีระบบสารสนเทศติดตามเด็กได้เป็นรายบุคคล นำไปสู่การสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนได้รับการติดตาม ดูแล และส่งต่อความช่วยเหลือข้ามหน่วยงาน ทำให้น้อง ๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ตามเกณฑ์ในช่วงวัยเรียน นอกจากการช่วยเหลือให้เข้าถึงการศึกษาแล้ว ยังดำเนินงานต่อเนื่องด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือและมาตรการป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา  ไปจนถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ขยายการจัดสรรทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัด และปรับอัตราให้สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการศึกษาแต่ละระดับชั้น และเหมาะสมกับสภาวะการดำรงชีพในปัจจุบัน” 

นางสาวกนิษฐา กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับหน่วยจัดการศึกษาทั้ง 6 สังกัด ปัจจุบันแบ่งการดำเนินงานเป็น 6 ระดับ คือ 1.สนับสนุนการเข้าถึงการศึกษา 2.คัดกรองความยากจนนักเรียน 3.จัดสรรเงินอุดหนุน 4.ติดตามการมาเรียน ผลการเรียน พัฒนาการทางร่างกายและสุขภาพ 5.ส่งต่อระบบดูแลช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสถานการณ์รายบุคคล 6.ประสานความร่วมมือระหว่างสังกัด เพื่อให้เด็กเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ผ่านทุนต่าง ๆ ทั้งของ กสศ. และหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษามีความสมบูรณ์จำเป็นต้องพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยไปถึงการประกอบอาชีพ ด้วยรูปแบบการดูแลช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ชีวิต

“ประเด็นที่น่าสนใจคือหลังเด็กจบ ม.3 หรือพ้นจากการศึกษาภาคบังคับ กสศ. และหน่วยงานทุกสังกัดมองเห็นร่วมกันว่า จำเป็นต้องหาแนวทางผลักดันเด็กให้ไปต่อได้มากขึ้น นำมาสู่โครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานกับโรงเรียนต่าง ๆ ช่วยติดตามเด็ก ส่วนความร่วมมืออื่น ๆ กสศ. มีการเก็บข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อของเด็กเยาวชนชั้น อ.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 เพื่อดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่องหลังจบ ม.3 อาทิ ทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.ปลาย และสายอาชีพ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น  และความร่วมมือกับ ทปอ. และกระทรวง อว. ในการดูแลเรื่องทุนการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

“เหล่านี้คือต้นแบบการทำงานที่แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่ได้จากการทำงานกับครูทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง คือปัจจัยสำคัญในการส่งต่อเด็กเยาวชนไปให้สุดทาง โดยใช้ฐานข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนจนเกิดความร่วมมือกันดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ครอบคลุมทุกช่วงชั้นและคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เป็นหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาที่เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้จนเต็มศักยภาพ ไม่หลุดจากระบบการศึกษาไประหว่างทาง โดยใน 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ แผนงานการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนตามระดับช่วงอายุ (Age Line) จะยังเป็นหลักการสำคัญในการทำงานร่วมกับทั้ง 6 ต้นสังกัด โดยใช้องค์ความรู้จากการวิจัย ฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และส่งต่อโอกาสทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันการทำงานให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าว