เปิดความรู้ RCT ปูทางวิจัยแก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เปิดความรู้ RCT ปูทางวิจัยแก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้เริ่มการจัดงานสัมมนาชุด RCT Human Capital Seminar Series เพื่อเผยแพร่แนวคิดและความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) ในด้านทรัพยากรมนุษย์แก่ผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยจะมีการเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมานำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยในประเด็นดังกล่าว โดยการจัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 1 ขึ้นได้รับเกียรติจาก Professor Joshua Hawley จาก Ohio State University มาบรรยายในหัวข้อ “Labor force impacts of enhanced employment counseling in the United States: The limits of an encouragement RCT design” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Tian Lou และ Sunny Munn

Prof. Hawley ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการพยายามประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ “Comprehensive Case Management and Employment Program” หรือ CCMEP ซึ่งเป็นโครงการอบรมพัฒนาทักษะและให้คำปรึกษาด้านอาชีพ โดยรัฐ Ohio ได้มีการออกกฎหมายให้เยาวชนอายุ 14–24 ปี ทุกคนมีสิทธิลงทะเบียนกับโครงการนี้ ในเบื้องต้นโครงการจะประเมินว่าเยาวชนแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลือในด้านใด โดยมีการช่วยเหลือถึง 14 รูปแบบและมี case manager ช่วยดูแลใกล้ชิด

แม้ว่าทีมวิจัยจะอยากใช้วิธีการ Randomized Controlled Trial (RCT) ที่ใช้กันทั่วไป นั่นคือ มีการสุ่มให้คนบางกลุ่มเป็นกลุ่ม treatment และบางกลุ่มเป็นกลุ่ม control แต่กรณีนี้ไม่สามารถทำได้เพราะรัฐ Ohio ต้องการให้เยาวชนทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมโครงการพร้อม ๆ กัน ทีมวิจัยจึงให้มาใช้ “Encouragement design” RCT แทน โดยสุ่มจากเยาวชนทุกคนที่มีสิทธิ และกลุ่ม treatment จะได้รับ text message ชวนให้ไปลงทะเบียนร่วม CCMEP โดยมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 13,000 ราย แต่ RCT ดังกล่าวมีข้อผิดพลาด เพราะมีกลุ่ม treatment ลงทะเบียนเพียงร้อยละ 4 ซึ่งอาจจะเกิดจาก nudge ที่เลือกใช้ยังไม่สามารถทำให้คนเห็นประโยชน์ของโครงการ นอกจากนี้ กลุ่ม control ซึ่งไม่ควรลงทะเบียน ก็มาลงทะเบียนถึงเกือบร้อยละ 4 ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค เพราะรัฐบาลท้องถิ่นมีปัญหาเกี่ยวกับระบบข้อมูล

Professor Joshua Hawley จาก Ohio State University

อย่างไรก็ดี Prof. Hawley และทีมวิจัย มีฐานข้อมูล administrative data ที่ได้พัฒนามาเป็นเวลานานและมีการเชื่อมข้อมูลเรื่องการศึกษาและตลาดแรงงาน (การเข้าทำงาน และค่าจ้าง) ทำให้สามารถประเมิน CCMEP โดยวิธี quasi-experiment ได้ โดยการศึกษานี้ไม่ได้พบผลสัมฤทธิ์ของโครงการมากนัก ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะการที่โครงการนี้แม้จะครอบคลุม แต่ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องบริหารจัดการ รวมถึงการที่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการค่อนข้างเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสมาถึง 8 ปี การที่โครงการนี้จะมาชดเชยส่วนที่หายไปจึงไม่ได้ง่ายนัก

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการ วสศ.

ทั้งนี้ Prof. Hawley ยังได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำ RCT ที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ

  1. Don’t be impatient: ไม่ควรเร่งรีบในการทำ RCT หากยังไม่พร้อม
  2. Hold out for a regular RCT: การทำ RCT ไม่จำเป็นต้องเป็น scale ใหญ่เสมอไป ในบางครั้งการทำ RCT ใน scale เล็กอาจเป็นเรื่องดี เนื่องจากควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า
  3. Data: การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการบูรณาการข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในส่วนของ Prof. Hawley เองก็ได้มีการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐ Ohio และ Ohio State University ในชื่อ Ohio Longitudinal Data Archive (OLDA) เพื่อเปิดให้นักวิจัยทั้งภายในและภายนอกได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะ

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) สะท้อนการใช้วิธี Randomized Controlled Trial (RCT) จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการประเมินผลของมาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะในห้วงโควิด-19 ในพื้นที่ซึ่ง กสศ.ได้ลงไปทำงานเพื่อหามาตรการช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูง และมีเด็กนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถไปเรียนได้มากกว่า 1ปี

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบัน RIPED
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“กสศ.ได้มีความร่วมมือกับยูนิเซฟ ประเทศไทย และมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ในการนำเอามาตรการแนวทางการเรียนการสอนแบบต่าง ๆ เพื่อเข้าไปใช้ในการฟื้นฟูความรู้ให้กับนักเรียนในกลุ่มจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะมีสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ร่วมกันออกแบบแนวทางการใช้ RCT ในการติดตามดูผลกระทบ โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นดำเนินงานในโรงเรียนได้ในช่วงการเริ่มต้นของภาคเรียนที่ 1/2565 ในเดือนพฤษภาคม นี้”

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (Research Institute for Policy Evaluation and Design: RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสริมการปรับใช้ RCT ในประเทศไทยที่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ไปด้วยกันเนื่องจากแต่ละพื้นที่พบข้อจำกัดในแง่มุมคล้ายคลึงกันที่มีผลต่อนักวิจัยในการทำงานภาคสนาม อาทิ บทบาทจากภาครัฐ หรือการประเมินค่าใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งบทเรียนจากการทำงานของ Prof. Hawley จะมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับพื้นที่ จ.สมุทรสาครที่มีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมาก

ดร.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ด้าน ดร.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงการทำวิจัยในรูปแบบ RCT ที่เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ได้ทบทวนทั้งในแง่ความสำเร็จรวมถึงข้อผิดพลาดที่ต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้ได้วิธีการวิจัยที่เหมาะสม รวมถึงการนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในแต่ละประเทศด้วย 

ในงานเสวนา RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 1 ดร.ภูมิศรัณย์ทิ้งท้ายว่าครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะได้นำงานวิจัยที่ใช้ Evidence-Based Research ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา หรือ RCT มาเผยแพร่ให้กับสังคมไทย นักวิจัยในประเทศไทย หรือกับภาคีเครือข่ายได้มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะจัดขึ้นต่อเนื่องไปอีกเพื่อในอนาคตจะต่อยอดสร้างเป็นเครือข่ายนักวิจัยที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ในวงการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่อไป