เราเชื่อว่าความฝันของเด็กทุกคนสำคัญเสมอ…คุยกับบาส พานิชพล นักเรียนทุนนวัตกรรมฯ ที่ฝันว่า “ผมอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์”

เราเชื่อว่าความฝันของเด็กทุกคนสำคัญเสมอ…คุยกับบาส พานิชพล นักเรียนทุนนวัตกรรมฯ ที่ฝันว่า “ผมอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์”

“ตอนนั้นถ้าไม่ได้ทุนนี้ผมก็คงไม่เรียนต่อแล้วครับ ก็คงไปช่วยงานอาที่ร้านแทน แล้วหาคอร์สเรียนเสริมเอา”

บาส พานิชพล อินทอง ช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ผู้จบจากสาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตเมื่อได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.

บาสไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ ไม่ใช่เด็กที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับประเทศ แต่บาสคือเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีความมุ่งมั่นอยากเรียนต่อ และได้รับโอกาสให้เรียนต่อเพราะทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุนที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างทั่วถึง

ชีวิตของบาสจึงเห็นทางเลือกที่มากขึ้น มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ และเริ่มค้นพบความชอบของตัวเอง จนเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องมือแพทย์ 

ถ้าเปรียบเป็นระยะทางแล้วตอนนี้บาสคงเดินทางไกลมาได้เกือบครึ่งทาง จากจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างยากลำบาก สู่การค้นพบความชอบของตัวเอง และยังเหลือการเดินทางไกลอีกเกินครึ่งทางต่อจากนี้ ที่หลักกิโลถัดไปคือการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี 

“อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง” คือคติประจำใจของบาส เมื่อเขารู้ว่าเขาไม่ได้เก่งกาจเหนือใคร สิ่งที่เขาทำได้ก็คือขยันหมั่นเพียรและพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด 

เรามองเห็นคนธรรมดาคนหนึ่ง คนที่ไม่ได้พิเศษกว่าใคร แต่เป็นคนที่กำลังพยายามสุดชีวิตเพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน เราจึงชวนบาสมาแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางที่ผ่านมาในฐานะเด็กทุนนวัตกรรมฯ และการเดินทางไกลต่อจากนี้ที่บาสกำลังวางแผนจะไปต่อ

บาส พานิชพล อินทอง ช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ ผู้เป็นนักเรียนทุนนวัตกรรมฯ

ก้าวแรกที่จุดสตาร์ต “พอได้ทุนแล้ว เห็นทางที่จะไปต่อมากขึ้น”

หากให้เริ่มเล่าถึงชีวิตช่วงแรกของบาส เราคงพอนึกภาพออกถึงชีวิตที่ค่อนข้างขาดแคลนและต้องปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำ

บาสเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บ้านของเขาอยู่บนเนินเขาระหว่างทางขึ้นดอยตุง พ่อมีอาชีพรับจ้าง แม่เป็นแม่บ้านให้กับครอบครัวที่มีฐานะดีในหมู่บ้านจัดสรร ส่วนน้องสาวอายุห่างกับเขาสี่ปี พอบาสอายุได้ห้าหกขวบพ่อแม่ก็แยกทางกัน แต่ทั้งคู่ยังคงพยายามเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งสองอย่างดี 

“พ่อแม่เขาอยากให้ลูกเรียนสูง ๆ มีหน้าที่การงานที่เลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่อยากให้ลูกต้องมาทำงานหนักแบบที่เขาทำ” บาสเล่า

ตั้งแต่เด็กบาสเคยไปช่วยงานทำความสะอาด ดูแลบ้านกับแม่หลายครั้ง พอช่วง ม.ต้น บาสมีโอกาสไปอยู่กับอาที่เชียงใหม่ อาของเขาเปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจเกี่ยวกับการซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ 

“พออยู่กับอาเรื่อย ๆ ก็เริ่มซึมซับมาจากอา ผมดูอาซ่อมพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมเครื่องมือ อุปกรณ์ สว่าน หินเจียรแล้วรู้สึกมันน่าสนุก พอลองทำมันก็ท้าทายดี เลยรู้สึกอยากเรียนต่อด้านพวกนี้”

“ไม่เคยคิดอยากเรียนสายสามัญเลยเหรอ” เราถาม

“ไม่เลยครับ” บาสยิ้มเขิน “ผมเรียนสายสามัญไม่ไหว มันมีวิชาที่ผมไม่ถนัดเยอะมาก ผมชอบแนวลงมือปฏิบัติจริงมากกว่า รู้สึกแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ”

พอจบ ม.ต้น จุดหมายของบาสจึงเป็นการเรียนต่อ ปวช.สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ปีนั้นมีคนเข้าสอบประมาณ 50 คน และคัดให้เหลือเพียง 20 คน แบ่งเป็นสองรอบคือสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ ซึ่งบาสสอบผ่านและได้เรียนอย่างที่ตั้งใจ 

“พ่อแม่เป็นคนส่งน้องเรียน ส่วนผมคืออาเป็นคนส่งเรียน รวมถึงค่ากินค่าใช้ด้วย ผมย้ายมาอยู่กับอาที่เชียงใหม่ แล้วก็พยายามช่วยงานอาที่ร้านหลังเลิกเรียน เพราะรู้สึกไม่อยากเป็นภาระเขาเกินไป” บาสกล่าว

ชีวิน สุพรรณพยัค ครูประจำแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และครูที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดกับบาสมากที่สุดเล่าว่า แม้บาสจะเป็นเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ในการเรียนอาจจะต้องฝึกทำหลายครั้งกว่าจะชำนาญ แต่ก็มีความขยันตั้งใจและมีพัฒนาการที่ดี มีผลการเรียนค่อนข้างดี 

จนกระทั่งบาสจบ ปวช. ครูชีวินจึงแนะนำให้เขาลองขอทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าสำหรับเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยช่วยสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน ในระดับ ปวช. 6,500 บาท/เดือน และระดับ ปวส. 7,500 บาท/เดือน 

“ตอนนั้นถ้าไม่ได้ทุนผมก็คงไม่เรียนต่อแล้วครับ ก็คงไปช่วยงานอาที่ร้านแทน แล้วหาคอร์สเรียนเสริมเอา พอได้ทุนแล้วก็รู้สึกว่ามีตัวเลือกมากขึ้น ได้ลองผิดลองถูกแบบไม่ต้องกังวลใจมากขึ้น  ได้เห็นทางที่จะไปต่อมากขึ้น” บาสกล่าว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าเมื่อมีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเกิดขึ้น จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงอายุ 60 ปี เมื่อคำนวณผลตอบแทนจากนักเรียนผู้รับทุน 2,500 ทุนในปีแรก จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

โดยในปีการศึกษา 2565 มีสถานศึกษาสายอาชีพได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจำนวน 116 สถานศึกษา 44 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย และมีเยาวชนจากครัวเรือนที่ยากจนได้รับทุนสะสมตั้งแต่ปี 2562 จำนวนประมาณ 9,427 ทุน โดยมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนที่ยากจนที่สุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

ครูชีวินมองว่าทุนนวัตกรรมฯ ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าเช่นนี้ช่วยให้เด็กและผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน ทำให้มีสมาธิเรียนได้อย่างเต็มที่ และยังฝึกให้เด็กรับผิดชอบการใช้จ่ายเป็นรายเดือนด้วย ขณะเดียวกันเป็นการให้โอกาสเด็กได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและคนในครอบครัว

ชีวิน สุพรรณพยัค ครูที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดกับบาส

ก้าวเพื่อค้นพบเป้าหมาย “รู้สึกว่ามันท้าทายดี อุปกรณ์เหล่านี้ก็เอาไปช่วยคนไข้ด้วย”

“มีอยู่เคสหนึ่งเราได้รับแจ้งมาว่า ออกซิเจนไปป์ไลน์ (ท่อของเครื่องช่วยหายใจ) มันรั่ว ผมกับพี่ (สอนฝึกงาน) ก็ต้องไปที่แผนกเพื่อซ่อมให้ ซึ่งก่อนเราจะซ่อมได้เราต้องปิดเครื่องช่วยหายใจทั้งโซนนั้นเลย แม้พยาบาลเขาจะเอาเครื่องช่วยหายใจชั่วคราวที่เป็นแบบบีบมาใช้ก่อน แต่ตอนนั้นเราก็ต้องรีบซ่อมให้เร็วที่สุด 

“ตอนนั้นชุลมุนแล้วก็ตื่นเต้นด้วย ผมก็ช่วยจับช่วยขันน็อต แต่หลัก ๆ แล้วพี่เขาเป็นคนทำ ทำเสร็จก็ต้องไปเปิดทดสอบดูว่ามันรั่วอยู่ไหม สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี” 

นั่นคือตัวอย่างสถานการณ์จริงที่บาสเจอตอนฝึกงานหลังจากที่เลือกเรียน ปวส. สาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ หรือที่เรียกกันว่า ‘สาขาช่างเครื่องมือแพทย์’ 

สาขานี้คือสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2560 เนื่องจากรัฐเล็งเห็นว่าปัจจุบันเครื่องมือแพทย์นั้นใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีบทบาทสำคัญมากสำหรับการบริการด้านสาธารณสุข ดังนั้นหน้าที่ช่างเครื่องมือแพทย์จึงกลายเป็นอาชีพที่สำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างมาก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือแพทย์จำนวนนับหมื่นชิ้นที่ต้องมีความเที่ยงตรง แม่นยำ การวางระบบเพื่อดูแลมาตรฐานเครื่องมือเหล่านี้ สบส.จึงดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยเฉพาะ

“ผู้ที่เลือกเรียนจะต้องเรียนภาคทฤษฎีในเรื่องของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในระบบบริการตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไป และเครื่องมือที่ใช้ตรวจวินิจฉัย จนถึงเครื่องมือช่วยชีวิต โดย สบส. ได้จัดผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการซ่อมและบำรุงรักษา ทดสอบ และเทียบค่ามาตรฐานเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐหรือเอกชน” อธิบดี สบส.กล่าว

ครูชีวินเล่าถึงหลักสูตรว่า ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนา ทำให้ช่างเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลตอนนี้เป็นคนรุ่นเก่าที่อาจจะตามไม่ทันกับเทคโนโลยี 

“การดูแลและซ่อมเครื่องมือแพทย์นั้นไม่สามารถให้ช่างอื่นมาทำได้ ตามโรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่มีช่างเครื่องมือแพทย์ การดูแล บำรุงรักษา ซ่อมแซม ถ้าผิดพลาดก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงอันตรายได้ สำคัญตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐาน เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดัน ไปจนถึงเครื่องมือในห้องผ่าตัด ซึ่งถ้าเกิดความผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต” ครูชีวินกล่าว

นอกจากนี้ครูชีวินยังเห็นว่าตลาดแรงงานสำหรับสายอาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการสูงไม่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงประเทศในเอเชียทั้งหมดด้วย

“ประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องของสาธารณสุขและการแพทย์พอสมควร เราจึงควรผลักดันให้ไทยเป็นฮับที่ผลิตช่างเครื่องมือแพทย์สู่เอเชียได้ มีลูกศิษย์ผมคนหนึ่งตอนนี้ได้รับโอกาสไปทำงานเป็นช่างเครื่องมือแพทย์ที่สิงคโปร์ ในต่างประเทศสาขานี้ยังมีคนทำงานน้อยเหมือนกัน ผมมองว่าถ้าเด็กเราพร้อม ก็มีโอกาสจะไปได้ไกล

“ที่สำคัญคือตอนนี้ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ซึ่งวัยชราก็มาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ใช่แค่หมอกับพยาบาลเท่านั้นที่รับหน้าที่นี้ แต่รวมถึงเครื่องมือแพทย์ที่จะเข้ามาดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วย” ครูชีวินให้ความเห็น

สภาเศรษฐกิจโลกชี้ว่า ทักษะเรื่องการปรับตัวนั้นเป็น 1 ใน 3 ทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ทักษะในการปรับตัวมีตั้งแต่ความสะดวกสบายที่ไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ไปจนถึงความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ภายใต้ความกดดัน โดยเยาวชนที่ปรับตัวได้ จะสามารถเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ตามไปสู่การเป็นผู้นำที่ดี พวกเขาจะยินดีต้อนรับโอกาสในการเรียนรู้ใหม่ ๆ พร้อมฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ และเปิดโอกาสที่จะทดสอบตัวเองอยู่เสมอ 

บาสเองก็เลือกเรียนสาขานี้ด้วยเหตุผลว่าเป็นสาขาเปิดใหม่ คนยังเรียนไม่เยอะ การแข่งขันเมื่อจบออกไปจึงไม่สูงมากนัก และเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งยังเป็นสาขาที่ต่อยอดจากสายอิเล็กทรอนิกส์ที่เขาเรียนตอน ปวช. 

ด้วยความสำคัญของเครื่องมือแพทย์ การเรียนในสาขานี้จึงโหดไม่น้อย ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์และด้านการแพทย์ บาสจึงต้องเจอกับเรื่องยาก ๆ ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

“มันยากที่ต้องเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ แล้วก็ต้องรู้เกี่ยวกับอนาโตมี (anatomy) เพื่อจะเข้าใจว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างใช้กับส่วนไหนของร่างกาย แล้วก็ต้องเข้าใจหลักการทำงานของเครื่องด้วย” บาสเล่า

แม้เขาจะรู้สึกท้อในช่วงแรก ๆ แต่ก็พยายามปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด การสามารถลองผิดลองถูกได้เสมอก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาก้าวผ่านข้อจำกัดที่เคยมี ได้ค้นพบความสามารถและความชอบต่องานนี้

“เป็นสาขาที่มีอะไรต้องเรียนรู้ตลอด มีเทคโนโลยีที่อัปเดตใหม่เรื่อย ๆ กว่าจะข้ามผ่านมาได้ต้องอาศัยความอดทนในการปรับตัว แล้วก็ต้องขยันเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ มีเพื่อนมีครูคอยแนะนำด้วย พอเราอยู่กับมันมากขึ้นเราก็เข้าใจมันมากขึ้น แล้วก็ทำได้มากขึ้น จากตอนแรกที่รู้สึกยังไม่ชอบ พอนานไปรู้สึกว่ามันเหมาะกับเรา เพราะได้ลงมือทำ ได้แก้ไขหน้างาน” บาสกล่าว

ครูชีวินอธิบายถึงหลักสูตรของสาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ว่า ชั้น ปวส.1 จะเป็นการเรียนที่วิทยาลัย โดยเรียนวิชาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และมีวิชากายวิภาคซึ่งเชิญอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ มาสอน มีการพาไปดูงาน รวมถึงจัดงานเชิญศิษย์เก่ามาให้คำแนะนำ 

หลังจากนั้นเมื่อปิดเทอมก็จะมีการฝึกงาน โดยส่งเด็กไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พิษณุโลก รวมทั้งส่งเด็กไปฝึกงานกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือแพทย์ 

ต่อมาในชั้น ปวส.2 เทอม 1 จะให้เด็กไปเรียนในโรงพยาบาลเลย เป็นวิชาเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งทางวิทยาลัยเขียนหลักสูตรร่วมกับทางโรงพยาบาล รวมระยะเวลาของการฝึกงานและเรียนนอกสถานที่เป็นเวลาทั้งหมดหกเดือน

และเทอมสุดท้ายจะให้เด็กกลับมาเรียนที่วิทยาลัย เพื่อทำโปรเจกต์ที่นำความรู้จากที่ฝึกงานมาใช้ และเป็นช่วงให้เด็กเตรียมตัว วางแผนชีวิต เพื่อสมัครเรียนต่อหรือสมัครทำงาน 

บาสเล่าว่ามีโอกาสไปทัศนศึกษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น พิษณุโลก ลำปาง เพื่อไปดูขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้จริง และระบบดูแลจัดการต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาเห็นภาพตัวอย่างที่ชัดเจนต่อสายอาชีพนี้ ตอบคำถามตัวเองได้ว่าต้องเรียนวิชายาก ๆ ต่าง ๆ ไปทำไม 

“เราเห็นขั้นตอนการทำงานของเขา วิธีซ่อมอุปกรณ์ เรารู้สึกว่ามันท้าทายดี เราน่าจะสนุกกับมันได้ แล้วอุปกรณ์เหล่านี้ก็ได้เอาไปช่วยคนไข้ด้วย” บาสกล่าว

บาสยังมีโอกาสไปฝึกงานที่โรงพยาบาลในจังหวัดแพร่ ซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างจากแค่การเรียนในวิทยาลัย เคสที่ต้องรีบซ่อมท่อเครื่องช่วยหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เขาจะไม่มีวันลืม

รู้ตัวอีกทีการฝึกงานก็จบลง บาสได้รับประสบการณ์มากมาย เขาต้องกลับมาเรียนในเทอมสุดท้ายที่วิทยาลัย และสอบครั้งสุดท้ายเพื่อวัดความพร้อมและทักษะทุกอย่างที่ได้เรียนมา และเขาก็สอบผ่านพร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นอีกกว่า 30 ชีวิต พร้อมจะโบยบินสู่โลกการทำงานต่อไป

ก้าวเพื่อโบยบินให้ถึงฝัน “ผมอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์” 

เมื่อเรียนจบในสาขานี้ เด็กหลายคนเลือกจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เป็นพาร์ตเนอร์กับสถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ รวมถึงเป็นพาร์ตเนอร์อย่างไม่เป็นทางการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาที่เพิ่งเปิดหลักสูตรไปเมื่อปีล่าสุด เพื่อส่งเด็กเรียนต่อระดับปริญญาตรีในสาขาต่อยอดกับทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนี้ 

มหาวิทยาลัยรังสิตมีทุนการศึกษาให้เด็กจากสาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ โดยเป็นทุนลดค่าเล่าเรียน 50% จำนวน 2 ทุน และทุนลดค่าเล่าเรียน 25% จำนวน 4 ทุน ดังนั้นจึงมีเด็กหลายคนที่เลือกเรียนต่อปริญญาตรีกับมหาวิทยาลัยรังสิต ขณะที่บาสแม้อยากจะเรียน แต่ก็ตอบกับเราอย่างชัดเจนว่า

“ไม่ไหวครับ ค่าใช้จ่ายมันสูง ถึงจะลด 50% แต่มันก็ยังมีค่าอื่น ๆ ยิบย่อยอีก เช่น ค่ากินค่าใช้ ค่าหอ ค่าโดยสาร อะไรอย่างเงี้ย ผมเลยสู้ไม่ไหว”

สอดคล้องกับที่ครูชีวินเล่าว่า เด็กบางส่วนเรียนปริญญาตรีในสาขาเครื่องมือแพทย์ต่อไม่ได้จากปัญหาค่าใช้จ่ายและค่าเทอม ขณะที่การได้วุฒิปริญญาตรียังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตในสายงาน

“จริง ๆ บาสอยากเรียนต่อแต่เขาไม่มีเงิน เด็กหลายคนที่อยากเรียนต่อแต่ต้นทุนไม่พอจึงต้องพยายามกันต่อเอง ลูกศิษย์คนหนึ่งจากบ้านเด็กกำพร้า พอจบแล้วไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ราชภัฏเชียงใหม่ สาขาการจัดการซึ่งไม่ตรงกับสายที่เรียนมาเลย แต่ก็เรียนเพื่อเอาวุฒิปริญญาตรี และทำงานที่บริษัทเครื่องมือแพทย์ไปด้วย” ครูชีวินกล่าว

ครูชีวินยังเอ่ยถึง ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ซึ่งเป็นทุนสำหรับผู้ใกล้จบ ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน รวมถึงสนับสนุนการทำโครงงาน/วิจัย โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ไม่เกิน 6,000 บาท ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00 มีประวัติดีเด่น หากมีผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับชาติหรือระดับภาค จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ครูชีวินเล่าว่า รุ่นของบาสมีนักเรียนสมัครขอทุนนี้ไปประมาณเจ็ดคน ได้ทุนสองคน ซึ่งสองคนนี้เป็นระดับท็อปสุดของรุ่น มีผลงานแข่งขันทางวิชาการระดับประเทศ

ครูจึงมีข้อเสนอว่า อยากให้มีทุนการศึกษาฟรีเพิ่มมากขึ้นสำหรับเด็กที่อยากเรียนต่อในสายงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขานี้เป็นสาขาที่ยังขาดแคลนคน จึงควรให้ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้น

งานศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มนักเรียนช้างเผือกที่มีฐานะยากจนกลุ่มล่างสุด 25% ของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนได้อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% ของประเทศ 

ซึ่งหากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับโอกาสสนับสนุนการเรียนต่อ จะมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่ไม่สามารถแสดงศักยภาพหรือได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงเพียง 5% ต่อรุ่นเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรประเทศที่มีโอกาสถึง 30%

แม้จะไม่ได้เรียนต่อเหมือนเพื่อน แต่บาสบอกกับเราว่านั่นอาจเป็นข้อดีก็ได้ เพราะเขาจะได้ประสบการณ์จากการทำงานจริง และได้เงินเก็บสำหรับการไปเรียนต่อด้วย เมื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิตแนะนำให้เขาสมัครเข้าทำงานที่บริษัทดูแลระบบเครื่องมือแพทย์แห่งใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บาสจริงไม่รีรอที่จะยื่นใบสมัคร และเขาก็ได้รับเลือกเข้าทำงาน

ทางบริษัทส่งบาสมาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก หน้าที่หลักของเขาคือการซ่อม บำรุงรักษา และประเมินคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ หากมีเครื่องมือที่ขัดข้องและเป็นปัญหาเฉพาะทางที่ใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้เองก็ต้องส่งซ่อมกับทางบริษัท 

ปัจจุบันบาสทำงานมาได้ประมาณ 8 เดือนแล้ว แม้จะเป็นงานที่คิดว่า “นี่แหละใช่” แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าอยากก้าวหน้าในสายงานมากกว่านี้ เขาจึงเกิดความคิดที่ชัดเจนมากขึ้นว่าต้องเรียนต่อ แล้วก็ไม่รีรอที่จะรีบทำมัน

“ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนอดทนและพยายามพัฒนาตัวเองมาตลอด จึงไม่อยากหยุดอยู่แค่นี้ ผมอยากเรียนต่อเพราะโอกาส ถ้าเรียนสูงขึ้นก็จะมีโอกาสที่มากขึ้น ได้ทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น มีคอนเน็กชันที่เยอะขึ้น ที่สำคัญคือผมอยากมีความรู้มากขึ้น 

“ตอนนี้ผมสอบได้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาฟิสิกส์และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จ่ายค่าเทอมไปเรียบร้อยแล้ว คิดว่าเดือนพฤษภาฯ นี้ผมคงลาออกจากที่ทำงาน ทุ่มเวลาให้กับการเรียน ผมเทียบโอนจาก ปวส. ไปเรียนปริญญาตรี อีกสองปีถึงสองปีครึ่งก็จบ คิดว่าเงินที่เราเก็บมาจากการทำงานก็พอจ่ายค่าเทอมได้ ส่วนค่ากินค่าอยู่ ค่าเดินทางก็คงต้องประหยัดเอา”

อีกกองทุนที่บาสกำลังสนใจอยู่คือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเขาคิดว่าคงจะทำเรื่องเพื่อขอกู้ยืมในส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนต่าง ๆ 

“ผมอยากให้มีทุนเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัยด้วย ทุนให้เปล่ามันทำให้ผมสบายใจมากเวลาเรียน ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้ทุนคืน เรามีเวลาได้เรียนเต็มที่ แต่พอเป็นทุนกู้ยืม ถึงแม้เราจะมีเงินใช้แต่พอจบออกมาเราก็เป็นหนี้ ทุนที่จะใช้ไปต่อยอดชีวิตหลังจากนี้มันก็ลดลง”

แล้วความฝันของเขาล่ะ บาสมีความฝันอะไรบ้างตอนนี้ เราถาม

“อืม…” บาสคิดสักพักก่อนตอบ “ผมอยากรับราชการครับ อยากเป็นผู้ชำนาญการ เป็นเหมือนช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ประจำโรงพยาบาลในจังหวัด ถ้าเป็นเชียงใหม่ได้ก็ดีครับ แล้วก็อยากจะสร้างบ้านให้ครอบครัว อยากมีเวลาพาครอบครัวไปเที่ยวได้” 

เขาตอบพร้อมรอยยิ้ม