“แก้ปัญหา ทำงานร่วมกัน พร้อมปรับตัว” 3 ทักษะที่ต้องปลูกฝังให้นักเรียนตั้งแต่วันนี้ เรียบง่ายแต่ท้าทายในยุค Education 4.0
โดย : Asheesh Advani - World Economic Forum
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“แก้ปัญหา ทำงานร่วมกัน พร้อมปรับตัว” 3 ทักษะที่ต้องปลูกฝังให้นักเรียนตั้งแต่วันนี้ เรียบง่ายแต่ท้าทายในยุค Education 4.0

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) รวบรวมความเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่ออกมาระบุว่า การปฏิรูปการศึกษา 4.0 (Education 4.0) จะเป็นยุคแห่งการพลิกโฉมการศึกษาใหม่ ที่จะกลายเป็นการพัฒนาประสบการณ์ตลอดชีวิตที่ครอบคลุม วางความรับผิดชอบให้กับผู้สอน ครู และพี่เลี้ยงในการสร้างทักษะให้กับผู้เรียนด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและผลักดันให้ผู้เรียนได้เปิดใช้งานทักษะดังกล่าว

เยาวชนจะประสบความสำเร็จ รู้จักสร้างทักษะเฉียบแหลมจากชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหา ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น และปรับตัวต่อโลกที่ผันผวนนี้ได้อย่างไร  ยังคงเป็นคำถามที่ท้าทายในวงการการศึกษาเสมอมา และคำตอบก็ดูเหมือนจะแปรผันตามงานวิจัยด้านการศึกษาและบริบทโลกไปเรื่อยๆ 

การศึกษาในยุค 4.0 เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง นักการศึกษา และชุมชนธุรกิจ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อลงทุนและอัพเกรดระบบการศึกษาที่มีอยู่ให้มีระบบนิเวศน์ที่เอื้อกับการต่อยอดอาชีพของเด็ก ๆ ในอนาคต

ในยุคหลังโรคระบาดโควิด-19 บทความ 3 ทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต จาก สภาเศรษฐกิจโลก ชี้ว่า ทักษะที่ควรมีบทบาทสำคัญในหลักสูตรส่วนบุคคลของนักเรียนแต่ละคนท่ามกลางอนาคตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีอยู่ 3 ประการด้วยกัน

1. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving)

ทักษะยอดนิยมที่ทุกบริษัท สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต้องปรับใช้ แต่ในความเป็นจริง คำกว้างๆ อย่าง ทักษะการแก้ปัญหา แปลว่าอะไรกันแน่ ดูเหมือนว่าความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของทักษะการแก้ปัญหายังคงมีอยู่

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า นักเรียนที่เป็นนักแก้ปัญหามากความสามารถ จะเข้าหาปัญหาด้วยความอยากรู้อยากเห็น พร้อมที่จะยอมรับความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าพวกเขา และจะสามารถทำงานได้อย่างอิสระด้วยตัวคนเดียวหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี 

พวกเขาจะตั้งคำถามเพื่อระบุสาเหตุของปัญหา ร่วมกันระดมความคิดว่ามีทางแก้ใดบ้างที่เป็นไปได้ และเมื่อสาเหตุได้รับการตรวจสอบแล้ว พวกเขาจะทดลองและทดสอบวิธีแก้ปัญหาในระดับย่อย ทบทวนผลลัพธ์ของการทดสอบเหล่านั้น ลองขยายผลและทางออกที่ดีที่สุด รวมถึงคอยติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

โดยในระหว่างนั้น นักเรียนที่เป็นนักแก้ปัญหาจะสร้างและพึ่งพาองค์ประกอบพื้นฐานของการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล ความอุตสาหะ และการคิดเชิงวิพากษ์

ในการจัดทำรายงานของ สถาบันบรูคกิงเกี่ยวกับการสอนทักษะในอนาคต (Brookings Institution series on teaching future skills) นักการศึกษา เคท มิลส์ (Kate Mills) อธิบายถึง “การทำปัญหาให้เป็นเรื่องปกติ” (normalising trouble) ในห้องเรียนของเธอ ว่าเธอจะพยายามสอนให้เด็กคอยมองหาโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่านักเรียนคนอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ครู) แก้ปัญหาอย่างไร ตั้งชื่อ และอธิบายขั้นตอนที่พวกเขาใช้ และย้ำกระบวนการในการแก้ปัญหา

หลังจากผ่านไป 2-3 สัปดาห์ คุณครูมิลส์พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ในชั้นเรียนเข้าใจได้เองผ่านกระบวนการ ว่าครูไม่ได้อยู่เพื่อแก้ปัญหาให้นักเรียน แต่จะคอยสนับสนุนให้พวกเขาแก้ปัญหาด้วยตนเอง พร้อมแนะนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นักเรียนสามารถใช้อ้างอิงได้หากติดขัด การถอดบทเรียนเรื่องการแก้ปัญหาในฐานะครูทำให้มิลส์พบว่า  การสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนโดยเอื้อให้นักเรียนเป็นผู้แก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ

2. การทำงานร่วมกัน (Collaboration)

โดยพื้นฐานแล้ว การทำงานร่วมกันคือการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี บางครั้งในฐานะหัวหน้าทีม บางครั้งในฐานะสมาชิกในทีม นักเรียนที่ทำงานร่วมกันจะมีอิทธิพลและได้รับอิทธิพลจากข้อมูลที่ดีและการโน้มน้าวใจที่มีประสิทธิภาพ และนักเรียนเหล่านี้แสดงความเต็มใจที่จะเปลี่ยนความคิดเมื่อเผชิญกับหลักฐานที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อแรกเริ่มของตน

นอกจากนี้ นักเรียนที่ทำงานร่วมกัน จะมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันได้ทุกประเภท รวมถึงมีแนวทางการทำงานที่เข้าได้กับคนทุกสไตล์และทุกภูมิหลัง รวมถึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดความตึงเครียดและแก้ไขข้อขัดแย้งใดๆ ภายในทีม

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมถือเป็นนักสื่อสารที่เคารพผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารต่อหน้า ผ่านกล้อง ผ่านเสียง ผ่านข้อความ (ตั้งแต่ข้อความย่อยที่มีบริบทไม่เอื้อไปจนถึงรายงานขนาดยาว) ในขณะเดียวกัน นักเรียนกลุ่มนี้ก็เป็นผู้ที่มีทักษะในการตั้งใจฟัง

ผลการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อนจาก สำนักพิมพ์ด้านการศึกษายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ (Pearson Education) ได้ร่วมมือกับองค์กรเพื่อพัฒนาการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Learning) เพื่อทบทวนข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกัน โดยรายงานแนะนำให้สร้างองค์ประกอบ 3 ประการของการทำงานร่วมกันในกิจกรรมในชั้นเรียนประจำวัน นั่นคือการสื่อสารระหว่างบุคคล การแก้ไขข้อขัดแย้ง และการจัดการงาน

ยกตัวอย่างเช่น หากเนื้องานต้องการให้แนวคิดจำนวนมาก แต่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของตัวเลือกเหล่านั้น นักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องระดมสมองหรือมีส่วนร่วมมาก ในทำนองเดียวกัน หากเนื้องานเรียกร้องฉันทามติ แต่ทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วว่าแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคืออะไร นักเรียนก็จะไม่มีโอกาสฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานร่วมกัน ต้องสร้างแรงเสียดทานระดับหนึ่งเพื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนา และฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกัน

ในการออกแบบห้องเรียนการเรียนรู้ร่วมกัน รายงานแนะนำให้จัดนักเรียนเป็นกลุ่มต่าง ๆ สำหรับงานและโครงการต่าง ๆ โดยหมุนเวียนบทบาทเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้มีประสบการณ์ด้านความรับผิดชอบ และการจัดการสถานการณ์ระหว่างบุคคลที่หลากหลาย ครูต้องสอนให้นักเรียนปฏิบัติตน และประเมินผลลัพธ์จากเพื่อนที่เสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และตรงไปตรงมา

ดังนั้น จึงไม่เชื่อเรื่องน่าแปลกใจที่รายงานยังยืนยันว่า นักเรียนที่มีทักษะการทำงานร่วมกันสูง จะมีโอกาสที่จะถูกจ้างงาน และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

3. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และความเป็นจริงใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องนั้นถูกประเมินค่าต่ำมานานแล้ว เนื่องจากนิยาม ‘ความสามารถในการปรับตัว’ เป็นคำที่ท้าทาย

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ทักษะในการปรับตัวมีตั้งแต่ความสะดวกสบายที่ไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ไปจนถึงความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ภายใต้ความกดดัน โดยเยาวชนที่ปรับตัวได้ จะสามารถเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ตามไปสู่การเป็นผู้นำที่ดี พวกเขาจะยินดีต้อนรับโอกาสในการเรียนรู้ใหม่ ๆ พร้อมฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ และเปิดโอกาสที่จะทดสอบตัวเองอยู่เสมอ 

ทีมวิจัยของออสเตรเลียซึ่งนำโดย แอนดรูว์ เจ. มาร์ติน ( Andrew J. Martin) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการศึกษา ได้ศึกษาการตอบสนองของนักเรียนต่อความไม่แน่นอน ความแปลกใหม่ และการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเขาสังเกตว่าการเรียนรู้ที่จะปรับตัวนั้นจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนทางความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความยืดหยุ่น การลอยตัว และการควบคุมตนเอง

ผลการศึกษาระบุว่า วิธีหนึ่งในการสอนความสามารถในการปรับตัว คือการสร้างกระบวนการควบคุมตนเองกับนักเรียน ซึ่งนักเรียนต้องประเมินความสามารถของตนเองในด้านใดด้านหนึ่ง กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ ทำงานเพื่อสร้างประสบการณ์และทักษะ ประเมินความสามารถอีกครั้ง ระบุการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อดำเนินการต่อ ปรับปรุงและอื่น ๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไป การปรับตัวและปรับเปลี่ยนทักษะและพฤติกรรมอันเป็นผลจากการประเมินและข้อเสนอแนะ จะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดได้ในคนหนุ่มสาว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า การเกิดขึ้นของการศึกษา 4.0 มอบโอกาสพิเศษในการยกระดับระบบการศึกษาของเรา เพื่อตอกย้ำว่า เราได้เตรียมคนหนุ่มสาวจำนวน 2,000 ล้านคนในโลกอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  และในขณะเดียวกัน ก็ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา รวมถึงใช้ประโยชน์จากคำมั่นสัญญาของเทคโนโลยีการศึกษาไปด้วย 

นอกจากนี้ การศึกษา 4.0 ได้มอบโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับเยาวชน เพื่อที่พวกเขาจะได้ประสบความสำเร็จ รู้จักสร้างทักษะส่วนบุคคลโดยเรียนรู้จากชั้นเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน และความสามารถในการปรับตัว เพื่อต่อสู้และโลดแล่นไปในระบบเศรษฐกิจโลกที่ต้องการทักษะเหล่านี้อยู่แทบจะตลอดเวลา

ที่มา : Education 4.0: Here are 3 skills that students will need for the jobs of the future