ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์: เมื่อวงการศึกษา ต้องการทั้ง ‘ปลา’ และ ‘เบ็ด’
โดย : สัมภาษณ์ : สมคิด พุทธศรี, วิโรจน์ สุขพิศาล / เรียบเรียง : ชลิดา หนูหล้า
ภาพถ่าย : เมธิชัย เตียวนะ

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์: เมื่อวงการศึกษา ต้องการทั้ง ‘ปลา’ และ ‘เบ็ด’

หนึ่งในการเปรียบเปรยยอดนิยมเมื่อกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ คือการให้ ‘ปลา’ หรือความช่วยเหลือระยะสั้น และ ‘เบ็ด’ หรือความช่วยเหลือระยะยาว หลายครั้ง การให้ทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนที่ขาดโอกาส หรือเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมจึงถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงการให้ ‘ปลา’ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเยียวยาระยะยาว

แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง การให้ทั้ง ‘ปลา’ เพื่อให้อยู่รอดในวันนี้ และการให้ ‘เบ็ด’ สำหรับอนาคตเป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงว่า การให้คนเข้าถึงบ่อปลาอย่างเท่าเทียมควรเป็นเงื่อนไขพื้นฐานตั้งต้นอยู่แล้ว

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คือหนึ่งในคนที่เห็นความสำคัญของทั้ง ‘ปลา’ และ ‘เบ็ด’ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่มากไปกว่านั้นคือ ธันว์ธิดายังสนใจด้วยว่า การให้ปลาและเบ็ดไม่ควรให้ไปแบบทื่อๆ แต่ต้องมีการออกแบบให้เหมาะกับผู้กินและผู้ใช้แต่ละคน และสภาพบ่อปลาด้วย  ดังนั้น เมื่อต้องทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปที่เด็กนักเรียนอาชีวะ ธันว์ธิดาจึงต้องคิดเรื่องการให้ทุนระยะสั้นและการปฏิรูปการศึกษาในระยะยาวในมุมที่ต่างออกไป

นอกจากงานหลักด้านทุนและนวัตกรรมแล้ว ธันว์ธิดายังเป็นแม่งานใหญ่ในการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวทีที่นักคิดและนักการศึกษาระดับโลกกว่า 60 คนมาช่วยตีโจทย์การศึกษาในยุคหลังโควิด-19

หลังหายเหนื่อยจากงานใหญ่ได้ไม่นาน 101 ชวนธันว์ธิดา ถอดบทเรียนและองค์ความรู้ที่ได้จากวงวิชาการและชวนคุยลึกๆ ถึงโจทย์ใหญ่ของอาชีวศึกษาในประเทศไทย

‘ปลา’ และ ‘เบ็ด’ เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนอาชีวะควรเป็นอย่างไร เมื่อบ่อปลาประเทศไทยไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่หวัง ทั้งยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามเงื่อนไขและปัจจัยของบ่อปลาระดับโลก

บางคนบอกว่าปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพราะเวลาพูดว่า “ต้องแก้ที่การศึกษา” พูดอย่างไรก็ถูก ทั้งที่ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าต้องแก้อะไร อย่างไร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพิ่งจัดการประชุมวิชาการนานาชาติในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณเห็นอะไรใหม่หรือไม่ในวงการศึกษา เช่น องค์ความรู้ นวัตกรรม หรือนโยบาย ฯลฯ ที่ตอบคำถามนี้ได้

การพัฒนาการศึกษานั้นสำคัญ เป็นโจทย์ที่แก้ได้ยาก องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการศึกษาก็สำคัญ ที่ผ่านมา องค์ความรู้ที่ว่ามาจากนักการศึกษา นักการศึกษาเป็นแกนนำปฏิรูปการศึกษาเสมอมา แต่ในปัจจุบัน การศึกษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฉพาะการศึกษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฉพาะนักการศึกษา การศึกษาครอบคลุมปลายทางของผู้เรียนในตลาดแรงงานด้วย นายจ้าง หน่วยงานภาคเอกชนจึงมีบทบาทในการจัดการศึกษาเช่นกัน ด้วยการบอกว่าพวกเขาต้องการทำงานร่วมกับใคร บุคลิกภาพแบบใด ผลของการพัฒนาการศึกษาจึงต้องสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และไม่สามารถอยู่เฉพาะในกรอบการศึกษา ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการประชุมวิชาการนานาชาติ

การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เริ่มต้นจากปฏิญญาจอมเทียนซึ่งว่าด้วย education for all หรือการศึกษาเพื่อมวลชนหลังการประชุมวิชาการนานาชาติที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไทยจึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการศึกษาสูงนับแต่นั้น โดยมีเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนรู้ (quality of learning) เด็กยังขาดทักษะที่ควรมี นอกจากนี้ ใน 30 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายการพัฒนาก็เปลี่ยนไปมาก กระทั่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เริ่มใช้ในปี 2015 ถึงตอนนี้ก็ยังเปลี่ยน การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการทบทวนสิ่งที่ทำแล้ว และมองต่อไปข้างหน้า education for all ไม่เพียงพอแล้ว ต้องเป็น all for education คือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน

มีประเด็นใดระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติที่น่าตื่นเต้นและน่าเอาไปคิดต่อบ้าง

มี 2 ประเด็น คือการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศอื่น รวมถึงกองทุนระหว่างประเทศ เช่น Education Endowment Fund ในสหราชอาณาจักรซึ่งจัดสรรงบประมาณ ดำเนินงานวิจัย และสร้างองค์ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองต่างๆ หรือกองทุน Education Cannot Wait ที่เน้นจัดการศึกษาแก่เด็กๆ ในภาวะฉุกเฉิน เช่น เด็กๆ ชาวซีเรีย ชาวโรฮิงญา ฯลฯ

เราได้เห็นว่าเรามีเพื่อนร่วมทางทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ได้พัฒนาองค์ความรู้ที่ยึดโยงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) และได้แบ่งปันองค์ความรู้ที่มีเพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยูเนสโก (UNESCO) เองก็ต้องการรณรงค์ให้ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ลาว เมียนมา ฯลฯ จัดตั้งกองทุนลักษณะเดียวกัน และเครือข่ายองค์กรข้างต้นก็จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ได้

การเพิ่มจำนวนกองทุนลักษณะนี้สะท้อนความล้มเหลวของกลไกบริหารจัดการเดิมในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือเปล่า

ส่วนหนึ่ง ใช่ เพราะกลไกบริหารจัดการปัจจุบันครอบคลุมโรงเรียนหลายหมื่นแห่งและนักเรียนหลายล้านคน จึงมีลักษณะคล้ายเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินงานได้ยาก ปฏิบัติหน้าที่เหมือนเครื่องกวาดซึ่งบางครั้งกวาดได้ไม่ครบถ้วน มีชิ้นส่วนตกหล่น กองทุนเหล่านี้จะดูแลชิ้นส่วนที่ตกหล่นเหล่านั้น เช่น เด็กนอกระบบการศึกษา เด็กระดับปฐมวัยในพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ พวกเขาหลุดจากระบบการศึกษาปกติ เพราะระบบการศึกษาปกติไม่ตอบโจทย์ของเขา ดังนั้น เราต้องเสนอทางเลือกอื่น ให้การเยียวยาจิตใจ การฝึกอาชีพ เป็นต้น เป็นการแทรกแซงที่ค่อนข้างเจาะจงและอาศัยองค์ความรู้หลากหลาย

ในเชิงองค์ความรู้ มีอะไรที่ทำให้เซอร์ไพรส์ไหม

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือการค้นพบใหม่ของนักประสาทวิทยาชาวอินเดีย จาก UNESCO Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development (MGIEP) ที่ชี้ว่าการเติบโตของสมองส่วนหน้าของเด็กๆ ที่ยากจนจะถูกรบกวนด้วยความเครียด ความยากจน การด่าทอ และความรุนแรงในครอบครัว อย่างไรก็ตาม สมองของมนุษย์นั้นยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้น เด็กๆ ยากจนสามารถเรียนรู้ได้ดีเช่นกันหากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม

การศึกษานี้ยืนยันว่า ความยากจนสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของพวกเขาโดยตรง เด็กๆ เหล่านี้ขาดภาวะโภชนาการที่เหมาะสม คลังศัพท์ของเด็กจากครอบครัวยากจนและครอบครัวฐานะปานกลางก็แตกต่างกัน เพราะเด็กจากครอบครัวฐานะปานกลางในวัย 3-5 ปีเรียนรู้ศัพท์จากการฟังนิทาน การสื่อสารที่มีการสบตา (eye contact) ผู้ปกครองของเด็กๆ จากครอบครัวยากจนต้องทำงาน ไม่ได้พูดกับพวกเขา และเมื่อเติบโตก็เข้าเรียนในระบบการศึกษาปกติ ไม่มีโอกาสเรียนพิเศษ สภาพแวดล้อมของพวกเขาเต็มไปด้วยข้อจำกัด ยิ่งเมื่อเข้าเรียนแล้วโรงเรียนไม่กระตุ้นการพัฒนา การเติบโตของพวกเขายิ่งชะงักหรือถดถอย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประกอบด้วยหลายสำนักเพื่อจัดการประเด็นเฉพาะ โดยคุณเป็นผู้ดูแลสำนักความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา สำนักดังกล่าวดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นใดเป็นหลัก

สำนักความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษาขับเคลื่อน 4 โปรแกรม 1. โปรแกรมใหญ่ที่สุดคือทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูงเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแก่นักเรียนอาชีวศึกษาจนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2. โปรแกรมพัฒนาเด็กและเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยให้ทุนการศึกษาสายอาชีวศึกษาจนสำเร็จการศึกษา ทั้งยังมีโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นในชุมชนแก่กลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษา 3. โปรแกรมที่จัดสรรทุนการศึกษาแก่ ‘เด็กช้างเผือก’ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปวส. เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก ปีละ 40 ทุน และ 4. โปรแกรมที่เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาการศึกษา ผู้คนมักให้ความสนใจการเรียนสายสามัญ แล้วโลกของการเรียนสายอาชีพเป็นอย่างไร

นักเรียนอาชีวศึกษาเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ หลายประเทศเติบโตจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการพัฒนาแผนการเรียนสายอาชีพ เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศอุตสาหกรรมและผู้สร้างนวัตกรรมทั้งสิ้น

อันที่จริง การเรียนอาชีวศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หากพิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นว่า 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในโมเดลไทยแลนด์ 4.0 พึ่งพาองค์ความรู้จากการเรียนสายอาชีพทั้งสิ้น แต่การเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนในแผนการเรียนสายอาชีพยังเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ทุนการศึกษาผ่านโปรแกรมที่ 1 หากเด็กกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษาเร็ว ก็จะช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาได้เร็ว

นอกจากการให้ทุนกับเด็กโดยตรงแล้ว เรายังต้องพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอาชีวศึกษาด้วย ทั้งระบบการเรียนการสอนที่ต้องครอบคลุมทั้งทักษะการปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ และการคิดอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการดูแลนักเรียน และสัมพันธภาพกับสถานประกอบการ วิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมนักเรียนและส่งเสริมผู้ประกอบการในเวลาเดียวกัน

การให้ทุนการศึกษาผ่านโปรแกรมดังกล่าวแตกต่างจากทุนการศึกษาอื่นๆ เพื่อเด็กยากจนอย่างไร

หลังสำรวจทุนการศึกษาแล้ว เราพบว่าทุนการศึกษาแก่นักเรียนอาชีวศึกษามักเป็นทุนการศึกษาจากหน่วยงานภาคเอกชนโดยมีเงื่อนไขการได้รับทุนเป็นผลการเรียน ไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐกิจ ทุนการศึกษาเหล่านั้นเป็นการให้โอกาสแก่ปัจเจกบุคคล แต่ทุนการศึกษาจากกสศ. นั้นเป็น ‘ทุนแฝด’ คือให้แก่สถาบันอาชีวศึกษาด้วย เราคัดเลือกสาขาที่เด็กซึ่งได้รับทุนการศึกษาจะเข้าศึกษาร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการเรียนสายอาชีพอย่างเป็นระบบ อาทิ มีผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือแก่ครูในสถาบันเพื่อป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กๆ ครูจึงได้เพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลเด็ก สถาบันอาชีวศึกษานั้นๆ และเด็กๆ ทุกคนจึงได้รับประโยชน์จากทุนการศึกษาของเรา ไม่ใช่เด็กที่ได้รับทุนการศึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ ความท้าทายหนึ่งที่สถาบันอาชีวศึกษาต้องเผชิญคือการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของโลกและตลาดแรงงาน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับฟินเทค (FinTech) หรือนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบได้รุนแรง (disruptive technology) เทคโนโลยีเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้ สถาบันอาชีวศึกษายังขาดทวิภาคีร่วมกับผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ การสำรวจพบว่า เด็กๆ มีโอกาสฝึกประสบการณ์อาชีพเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่ประสบการการทำงานจริงคือทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้

ในปัจจุบันเราเห็นภาคเอกชนมาทำสถาบันการศึกษาเองด้วยซ้ำ เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่นอกจากสอนแล้ว ยังมีการฝึกงาน รวมถึงเมื่อจบออกไปแล้วยังมีงานรองรับด้วย เราเห็นอะไรจากเรื่องนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความเห็นของหน่วยงานภาคเอกชน ว่าสถาบันอาชีวศึกษาในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ของเขา จึงต้องผลิตบุคลากรที่มีทักษะอย่างที่ต้องการและป้อนสู่องค์กรเอง โรงเรียนดังกล่าวเป็นโมเดลหนึ่งของทวิภาคี แต่ไม่ใช่โมเดลเดียว เรามีรูปแบบทวิภาคีที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม สถาบันอาชีวศึกษายังเป็นแหล่งทรัพยากร (pool resource) จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จะเน้นการฝึกประสบการณ์อาชีพโดยไม่ได้รับความรู้ หรือเพียงมอบเด็กให้ทำงานให้องค์กรไม่ได้ เด็กๆ ต้องได้รับความรู้ด้วย ระบบทวิภาคีต้องมีความสมดุล การที่ระบบทวิภาคีที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น เป็นผลจากการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ประกอบการควรมีครูที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสถาบันกับการปฏิบัติงานได้ เด็กต้องได้ฝึกฝนและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ไม่เช่นนั้นเด็กต้องทำงานหนักโดยไม่ได้เรียนรู้ เหมือนเป็นลูกจ้างของบริษัทระหว่างเรียนมากกว่า ซึ่งเป็นทวิภาคีที่เราไม่ต้องการ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพยายามลดความเหลื่อมล้ำ แต่พูดให้ถึงที่สุดกองทุนมีศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำขนาดไหน เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วเห็นค่อนข้างชัดว่า ความเหลื่อมล้ำน่าจะขยายตัวลุกลามไปอีกมาก

เป็นความท้าทายเหมือนกัน ยิ่งในสถานการณ์ที่มีโควิด-19 คนยากจนตกงานมากขึ้น กสศ. มีงบประมาณในการช่วยเหลือจำกัด ดังนั้น กสศ. ต้องมีบทบาทในการหาคำตอบมากกว่าการให้ความช่วยเหลือโดยตรง เพราะ กสศ. มีช่องทาง มีความรู้ที่สามารถชี้ปัญหา และสามารถระดมหน่วยงานมาทำงานด้วยกัน นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้นต้องตอบโจทย์ด้านการศึกษา รวมถึงโจทย์ด้านเศรษฐกิจ ทั้งตลาดแรงงานและการศึกษาเป็นภาพที่ใหญ่มากและซับซ้อนมาก ทุกคนต้องมีส่วนร่วมตอบโจทย์นั้น

โควิด-19 มีผลกระทบต่อโลกมาก คุณมีตัวอย่างกรณีที่โรคดังกล่าวเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่ร่วมงานกับคุณไหม

ก่อนหน้านี้ กสศ. ให้ทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดการฝึกอาชีพโดยมีชุมชนเป็นฐานผ่านการวิเคราะห์ทุนที่ชุมชนมีอยู่ เราพบโมเดลที่น่าสนใจซึ่งเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเชียงรายซึ่งให้เด็กๆ นอกระบบการศึกษา และผู้หญิงที่ว่างงานทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านบนที่ดินว่างเปล่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีบทบาทปรับปรุงระบบน้ำและวางจำหน่าย ปรากฏว่าช่วงที่มีการระบาดขายไม่ได้เพราะไม่มีตลาด เขาก็ปรับตัว ทำเดลิเวอรี ถือว่าเป็นนวัตกรรมของเขา ตอนนี้ขายได้ และขายไม่ทันด้วย เราจึงรู้ว่า โมเดลการพัฒนาที่มาจากท้องถิ่นนั้นสามารถต่อยอดได้

กรณีนี้ยืนยันความเชื่อของกสศ. ว่าเมื่อให้ทุนแล้วทุกคนจะสามารถปรับตัวได้ใช่ไหม มีกรณีที่ล้มเหลวบ้างไหม

มีกรณีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เมื่อให้ทุนการศึกษาเราคาดไม่ถึงว่าเด็กจะใช้เงินไม่เป็น เช่น ได้เงินเดือนแรก ซื้อรถจักรยานยนต์ทันที ฯลฯ การให้ทักษะด้านการเงิน และสอนให้รู้จักบริหารการเงินเป็นปัญหาที่เรามองข้ามในช่วงแรก

อีกกรณีหนึ่งคือ ให้ทุนแล้ว แต่เด็กไม่สำเร็จการศึกษาเพราะมีความเปราะบางในชีวิตมาก การช่วยเหลือเขา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะอยู่กับเราตลอดรอดฝั่ง เขามีปัญหารุมเร้ามากมาย สิ่งที่เราต้องทำคือปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับกรมสุขภาพจิต ให้ทุนการศึกษาเท่านั้นไม่พอ ต้องให้เขาอยู่รอดจนสำเร็จการศึกษาพร้อมทักษะอื่นๆ ด้วย

ผลกระทบหลักของโควิด-19 ต่อเด็กๆ กลุ่มเปราะบางทางสังคมเป็นอย่างไร

ข้อมูลหนึ่งที่เราคาดไม่ถึงหลังปิดโรงเรียนนานๆ คือเด็กหลายคนฝากชีวิตกับอาหารกลางวัน และอาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นมื้อที่ดีที่สุด มีคุณภาพที่สุดของพวกเขา เราอาจไม่เห็นภาพนี้ก่อนมีโควิด-19 เราเข้าใจแค่ว่าการเรียนเท่านั้นที่เด็กๆ สูญเสีย แต่ปัญหาภาวะโภชนาการเป็นอีกเรื่องที่เราพบ

อีกประเด็นหนึ่งคือความรู้ถดถอย มีงานวิจัยชี้ว่า เด็กจากครอบครัวยากจนในช่วงปิดภาคเรียนจะมีความรู้ถดถอยมากกว่าเด็กจากครอบครัวทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบเป็นคะแนน คือ 8 คะแนน หลังเปิดภาคเรียน ความรู้ของเด็กกลุ่มนี้ลดลงแล้วทั้ง 8 คะแนน ยิ่งมีการระบาดทำให้ต้องปิดโรงเรียนนานขึ้น ก็ลองนึกว่าความรู้ของเด็กเหล่านี้จะถดถอยมากแค่ไหน และสำหรับเด็กๆ ระดับประถมศึกษา พัฒนาการจะหายไปมากแค่ไหน นี่คือ learning poverty (การมีพัฒนาการหรือทักษะที่ล่าช้า ไม่สมวัย) ที่โควิด-19 ทำให้เราเห็น ซึ่งเราได้แนวทางแก้ไขจากการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นปัญหาใหญ่มาก ยิ่งเด็กอยู่บ้านนานขึ้น ยิ่งมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในแอฟริกาพบการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาด้วย จึงต้องปิดภาคเรียนนานขึ้น และสิ่งที่ตามมาคืออัตราการตั้งครรภ์ของเด็กที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เด็กเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะอยู่บ้านต่อไป ไม่ได้กลับมาเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ฯลฯ

ในประเด็นเหล่านี้ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงยังไม่เห็นภาพที่ชัดนักว่า โรคระบาดซ้ำเติมกลุ่มเปราะบางขนาดไหน เราจึงต้องประเมินต่อไปว่าสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และปัญหาสังคมมากน้อยแค่ไหน โดย กสศ. ดำเนินการเกี่ยวกับภาวะโภชนาการแล้ว เราพบว่าอาหารกลางวันเป็นมื้อที่ดีที่สุด เราช่วยเหลือค่าอาหารของเด็กๆ 7-8 แสนคน โดยให้ถุงยังชีพที่นักโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุขออกแบบแก่โรงเรียน มีข้าวสาร มีโปรตีนที่จะทำให้พวกเขาได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่ในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวยังไม่ได้ทำ และคิดว่าเป็นประเด็นที่เร่งด่วนเช่นกัน

ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ หลายคนบอกว่าการเรียนการสอนออนไลน์ (online learning) มีปัญหามาก คุณมีความเห็นอย่างไร

การเรียนการสอนออนไลน์ไม่พอหรอก เพราะเด็กที่มีฐานะยากจนเข้าไม่ถึง เราต้องจัดการเรียนรู้แบบออนไซต์ (on-site learning) ด้วย ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ ถ้าเด็กๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีวิทยุก็ต้องใช้วิทยุ มีสื่อการเรียนรู้ดีเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่ดีด้วย โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้จริงจากสื่อ เช่น การให้การบ้าน การให้เตรียมตัวก่อนเรียน การให้บทเรียนก่อนเรียน การเรียนเสริม ให้ครูช่วยเหลือเด็กด้วย ฯลฯ เราก็มีแนวคิด อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ด้านการศึกษาที่มีรูปแบบคล้ายกันซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดลอง เพราะในพื้นที่ที่ห่างไกลจริงๆ สื่อไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่ต้องมีผู้ช่วยเหลือครูเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลเด็ก ขณะเดียวกัน การจัดการศึกษาก็ต้องปรับตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่เราไม่เคยมี สถาบันอาชีวศึกษาเองก็กำลังพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนสายอาชีพออนไลน์เป็นโจทย์ของหลายประเทศเหมือนกัน

ในเชิงนโยบาย ทั่วโลกมีฉันทมติร่วมกันบ้างไหมว่า เราควรต้องดีลกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโลกหลังโควิดอย่างไร

ข้อคิดหนึ่งที่เราได้จากการประชุมวิชาการนานาชาติ คือห้ามลดการลงทุนด้านการศึกษา แม้รายได้ของแต่ละรัฐบาลจะลดลง รวมถึงไทยด้วย เพราะคนไม่สามารถเสียภาษีได้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ก็ล้มหาย งบประมาณโดยรวมลดลง แต่จะลดการลงทุนในการศึกษาไม่ได้ เพราะการลงทุนในการศึกษาจะเป็นคำตอบของประเทศหลังการระบาด ว่าสามารถไปต่อได้หรือไม่ เราต้องเร่งพัฒนาคน เพราะโลกหลังการระบาดจะต้องการทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลซึ่งถ้าไม่มีจะยิ่งถูกทิ้งห่าง และยังมีประเด็นความรู้ถดถอย คุณภาพของคนจะยิ่งน้อย แล้วเราจะพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร เมื่อโควิด-19 ทำให้สถานการณ์แย่ลง และเรายังไม่ทำอะไร