ข้อมูล ความรู้ ส่งมอบชุมชน ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ข้อมูล ความรู้ ส่งมอบชุมชน ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งหากมองไปยังมิติการศึกษาก็จะพบว่า ระหว่างที่รัฐบาลประกาศนโยบายล็อคดาวน์ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้าขายและการจ้างงาน ทำให้เด็กบางส่วนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน

ในฐานะที่เกี่ยวข้องและทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” ประธานคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มองว่า โครงการต่างๆ ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือต่อเด็กๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่ทำให้เด็กๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” ประธานคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

ขณะเดียวกันครูหยุย ยังเสริมความเห็นว่า ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE มีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา  ซึ่งปัจจุบันองค์กรมูลนิธิเพื่อสังคม เช่น มูลนิธิเกี่ยวกับเด็กๆ ต่างๆ ก็มีการติดตามรวบรวมข้อมูล เด็กที่ออกระบบการศึกษา เพื่อนำมาวิเคราะห์รายพื้นที่ และหาทางเข้าไปแก้ปัญหา โดยสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการติดตามและหาทางให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนระดับล่างไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะกระทบไปหมด กระทบไปถึงแม้กระทั่งคนเก็บขยะที่มีของทิ้งน้อยลง ของมีราคาถูก และแน่นอนว่าต้องกระทบไปถึงลูกหลาน แม้ปรัชญาจะบอกว่าเรียนฟรี แต่มันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย คาดการณ์จากสถานการณ์กระทบแน่ โดยช่วงล็อคดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาด โรงเรียนทั้งประเทศต้องปิดเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร ซึ่งช่วงนี้เด็กจำนวนหนึ่งก็ดิ้นรนกับชีวิต กับครอบครัว และบางคนดิ้นรนจนไม่อยากกลับไปเรียนต่ออีกแล้ว”  ประธานคณะทำงานด้านเด็ก องค์กรพัฒนาเอกชน กล่าว

ครูหยุย ได้อธิบายภาพรวมของสาเหตุและช่วงระดับการศึกษาทั่วทั้งประเทศ ได้เห็นว่า เด็กชั้นมัธยมต้นมีอัตราการออกจากระบบการศึกษาอย่างกลางคันมากที่สุด

“ช่วง ม.1-ม.3 จะมีปัจจัยอยู่ 2-3 อย่าง เช่น ตัวเด็กเองก็เริ่มโตแล้ว อยู่ในวัยที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เยอะทั้งเรื่องเพศและยาเสพติด สองคือ ภาวะการณ์ที่สามารถพึ่งตัวเองได้มากขึ้นกว่าอยู่ชั้นประถม จับพลัดจับผลูได้ไปลองทำงานแล้วเห็นว่าได้เงินดีกว่าก็ออกมาเลย สามคือ พ่อแม่ของเด็กที่เห็นว่าเด็กโตพอที่จะมาช่วยงานบ้านได้แล้วก็ให้ออกมา จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้ออกมาจากระบบมากกว่าเด็กประถม ดังนั้นพอเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา ไม่แน่ใจว่าจะกระทบไปถึงฐานข้อมูลด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน”

อีกช่องทางหนึ่งครูหยุย กล่าวว่า  เป็นโอกาสดีที่กสศ. สามารถดำเนินการเชื่อมต่อการทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนที่มีทั่วประเทศได้ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล เทศบาล อำเภอ เขต จังหวัด กทม. และแห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 8,780 แห่ง

“น่าจะใช้ท้องถิ่นและท้องที่คู่กัน กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเป็นคนบอก ผู้ใหญ่บ้านต้องรู้ว่าบ้านไหนมีใครได้เรียน หรือไม่ได้เรียน ท้องถิ่นต้องบอก อบต. ต้องรู้ กลไกขององค์กรสภาเด็กฯ ก็ยังใช้ได้ ซึ่งสภาเด็กมีทั้งประเทศ 7,778 แห่ง อำเภออีก 800 กว่าแห่ง จังหวัดก็มีสภาเด็กฯ ได้งบประมาณแค่ 3 หมื่นบาทต่อปีต่อตำบล ในการทำกิจกรรมซึ่งน้อยมาก แล้วจะทำงานอย่างไร  แต่เขาก็มีใจจะทำ”

ครูหยุย กล่าวว่า สภาเด็กฯ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 คนที่อยู่ในวงการสังคมรู้จักสภาเด็กกันทั้งนั้น ใช้พวกนี้เป็นหลัก สภาเด็กในตำบลก็มาจากโรงเรียนทั้งนั้นเลย รู้หมดว่าใครไม่ได้เรียน ใครยากจน บ้านพักเด็กและครอบครัว ขึ้นกับพัฒนาสังคมในแง่กลไก กรรมการในทุกตำบลจะมี  21  คน ซึ่งเป็นเด็กทั้งหมดสามารถตอบได้หมดว่าใครยากจน ใครไม่ได้เรียนเพราะอยู่ในวัยเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ครูหยุยเห็นว่า สถานการณ์ที่น่ากังวลในช่วงเวลาอันใกล้นี้คือ การระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ครูหยุย ยอมรับว่า หากอนาคตสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กลับมา ระบาดระลอก 2 จะทำให้ประเทศวิกฤตอย่างแน่นอน  ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้คือ สนับสนุนให้ชุมชนคิดหาทางรับมือ

“คนอยู่ในสลัมรู้ว่าเด็กไม่เรียน ต้องให้คนที่อยู่ในสลัมคิดโครงการ ไม่ใช่ไปคิดแทนเขา ที่ผ่านมาไปคิดแทนหมด นี่คือปรัชญาอย่างแรกเลย ถ้าเกิดระบาดอีกรอบสาหัสเลยนะ ผมไม่กล้าคิดหรอก คือตอนนี้การศึกษาเป็นปัจจัยรองไปแล้ว ถ้าโควิดมาอีกระลอก ชีวิตกับเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหลัก ไม่มีใครอยากรู้หรอกว่าลูกจะเรียนหรือไม่เรียน อยากจะรู้แค่ว่าจะมีอะไรกิน โควิดมาก็เป็นวิกฤตทองเหมือนกัน เพราะชนบทเติบโต หาอยู่หากินได้ต้องเติมเรื่องการศึกษาในชนบทให้หนัก ถ้าการศึกษาในชนบทเข้มแข็งไม่มีปัญหาเลย เพราะคนกลับไปบ้านกันเพิ่มขึ้น”

ครูหยุยยังประเมินความเสี่ยงที่เยาวชนอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาหากเกิดการระบาดขึ้นอีกระลอก ซึ่งวิธีการลดผลกระทบที่ควรทำก็คือการสนับสนุนทั้งทุน ข้อมูล และความรู้แก่ชุมชน เพื่อลดผลกระทบและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ทุกคน