‘ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย’ น่าเป็นห่วง

‘ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย’ น่าเป็นห่วง

ปัญหาสุขภาพจิต หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ข้อมูลจากยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษา ‘การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก’ พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐยังมีช่องว่างในเรื่องงบประมาณและการดูแลสุขภาพจิต
.
ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ ขณะที่การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
.
นอกจากนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และความต้องการเข้าถึงบริการด้านจิตใจและจิตสังคมเพิ่มขึ้น
.
.
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผนึกกำลังกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ ‘ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ครอบคลุมมิติสุขภาพทั้งกายและจิต พฤติกรรม การเรียน และความถนัดเฉพาะด้านเป็นรายบุคคล
.
มุ่งเน้นข้อมูลสำคัญ 4 ด้าน
– คัดกรองความเสี่ยง
– ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (SDQ)
– ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
– ระบบการติดตามการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
.
ปีการศึกษา 2565 มีสถานศึกษาดำเนินการบันทึกข้อมูลและคัดกรองนักเรียนผ่านระบบ OBECCARE จำนวน 153,483 คน นำร่องในเขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ 28 เขต ครอบคลุมสถานศึกษา 1,050 แห่ง ก่อนขยายผลครอบคลุมสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ
.
✨ อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
https://obeccare.thaieduforall.org/
https://www.eef.or.th/news-eef-nu-obec-300323/
.
.
ล่าสุด ทั้ง 3 หน่วยงาน เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเพื่อบูรณาการความร่วมมือและส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม และสุขภาพจิต ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบดิจิทัล “School Health HERO” เพื่อเดินหน้าสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้อย่างยั่งยืนร่วมกัน ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566
.
:: ติดตามรับชมงานแถลงข่าว “การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเพื่อบูรณาการความร่วมมือและส่งต่อข้อมูลนักเรียนร่วมกัน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน และระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ (School Health Hero)”

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม