ตอบคำถาม “เพิ่มทุนอุดหนุนการศึกษา” พาเด็กกลับเข้าห้องเรียนได้อย่างไร

ตอบคำถาม “เพิ่มทุนอุดหนุนการศึกษา” พาเด็กกลับเข้าห้องเรียนได้อย่างไร

สถานการณ์น่าเป็นห่วง รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนลดลง จำนวนเด็กยากจนเพิ่มขึ้น “ภาวะยากจนฉับพลัน” หนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าในปัจจุบัน เมื่อรายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษลดลงต่อเนื่องในทุกๆ ปี ในขณะที่มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่า 300,000 คนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563-2565)

เมื่อมูลค่าแท้จริงของ “ทุนเสมอภาค” และ “ทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ที่เป็นหัวใจหลักในนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และมีบทบาทสำคัญในการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา กำลังลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลง เปรียบเทียบอย่างง่าย เหมือนเราได้เงินไปโรงเรียนเท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายรายทางกลับเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่ารถ ฯลฯ หลายคนจึงต้องทำงานเพิ่ม หรือเป็นหนี้เพื่อให้ได้ไปโรงเรียนเหมือนเดิม

จากการประมาณการโดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.1% ในปี 2566 ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าที่แท้จริงของเงินอุดหนุนทางการศึกษาดังนี้

– เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (ประถมศึกษา) 1,000 บาท จะมีมูลค่าที่แท้จริงเพียง 840 บาท (ลดลง 16%)
– เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (มัธยมศึกษา) 3,000 บาท จะมีมูลค่าที่แท้จริงเพียง 2,521 บาท (ลดลง 16%)
– เงินทุนเสมอภาค 3,000 บาท จะมีมูลค่าที่แท้จริงเพียง 2,728 บาท (ลดลง 9%)

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่ข้อเสนอของ กสศ. ที่เห็นความสำคัญของการลงทุนด้านการศึกษา และมองเห็นว่าอัตราเงินอุดหนุนในแต่ละประเภทควรปรับสูงขึ้น เพื่อรักษามูลค่าที่แท้จริงและให้มีความเหมาะสมกับมูลค่าเดิม

– เพิ่มเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (ประถมศึกษา) จาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท
– เพิ่มเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (มัธยมศึกษา) จาก 3,000 บาท เป็น 3,570 บาท
– เพิ่มเงินทุนเสมอภาคจาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท

แต่สำหรับมูลค่าเงินอุดหนุนเพื่อการศึกษา ที่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน กสศ. มีข้อเสนอการลงทุนสำหรับนักเรียนทุกระดับชั้นมี 3 รูปแบบดังนี้

1.) ข้อเสนอด้านอัตราอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สำหรับงบประมาณ 2567
– ให้เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน อนุบาล 1,000 บาท, ประถมศึกษา 1,000 บาท, มัธยมต้น 4,000 บาท, มัธยมปลาย 9,000 บาท
– ให้เงินทุนเสมอภาคนักเรียนยากจนพิเศษ อนุบาล 4,000 บาท, ประถมศึกษา 5,100 บาท, มัธยมต้น 4,500 บาท, มัธยมปลาย 9,100 บาท

2.) ข้อเสนอเชิงคุณภาพ
– จัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อหลังเรียนจบขั้นพื้นฐาน รวมถึงติดตามผลพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้
– เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำโดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 7 กระทรวง เพื่อต่อยอดจาก ‘โครงการพาน้องกลับมาเรียน’
– จัดทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการระดมงบประมาณ/ทรัพยากร จาก อปท. และการบริจาคจากภาคเอกชน เพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ

3.) เป้าหมายในอนาคต
– เพิ่มอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี
– เยาวชนจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษ ต้องก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ระบบฐานภาษีและรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี

เพราะท้ายที่สุด ผลลัพธ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา จะเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และคนกลุ่มเดียวกันนี้เองที่จะกลับมาสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศภายในอนาคต

อ่านรายงานฉบับพิเศษ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 คลิก

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม