ก่อนสูญเสียเด็กทั้งรุ่น ต้องหยุดสีแดงให้ได้

ก่อนสูญเสียเด็กทั้งรุ่น ต้องหยุดสีแดงให้ได้

จากการทดสอบเด็ก ๆ ช่วงอายุปฐมวัยด้วยวิธีการง่ายสุด คือ เรียงลำดับตัวเลข 0-9 และอ่านความหมาย เพื่อประเมินความพร้อมก่อนเข้าระบบการศึกษาชั้นประถม หรือที่เรียกว่า แบบทดสอบ ‘School Readiness’ พบว่า เด็กวัยอนุบาล อายุ 5 ขวบ จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปีที่มีการระบาดของโควิด – 19 ไม่สามารถเรียงลำดับและอ่านความหมายได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนวิกฤตทางการเรียนรู้อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในชั้นที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ผลการทดสอบนี้คือ ‘พื้นที่สีแดง’ ในแผนที่ ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่สามารถหยุดแนวโน้มนี้ได้ หมายความว่า ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอยเป็นรายบุคคล หรือ Learning Loss เท่านั้น แต่ข้อมูลที่พบกำลังบอกเราว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น หรือ Lost Generation เรื่องนี้จึงเป็นวาระเร่งด่วน ที่ทุกฝ่ายควรตื่นตัวและให้ความสำคัญ (สีน้ำเงินยิ่งเข้มยิ่งแสดงปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสำรวจในช่วงปีก่อนการระบาดโควิด)

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ใน 3 โครงการ ได้แก่ การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS), การสำรวจข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data: ECLD) และการพัฒนาครูปฐมวัยด้วยหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ

1.การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างมาก (สามารถอ่านศึกษางานวิจัยที่วิเคราะห์ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจาก โควิด-19 อย่างละเอียดได้ใน ‘Learning Losses from School Closure due to the COVID-19 Pandemic for Thai Kindergartners.’ Kilenthong et al. (2022) ซึ่งประเมินว่า เด็กปฐมวัย (ระดับอนุบาล 3) ของไทยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) เนื่องจากการปิดเรียนแต่ละวันทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่าร้อยละ 90 ของระดับการเรียนรู้ที่ควรจะได้หากไม่มีการปิดเรียนเพราะการระบาดของโควิด-19 )

2.ความยากจนมีผลทำให้เด็กปฐมวัย พัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพหรือไม่มีความพร้อมฯ เท่าที่ควร (อาจมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนที่ขาดแคลน ไม่มีประสิทธิภาพ หรือผู้ปกครองที่ต้องทำงานไม่มีเวลาในการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา หรืออาจต้องใช้เวลามาช่วยผู้ปกครองหารายได้)


3.บ้านหรือครอบครัวยังขาดทักษะและความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า แม้มีการปิดสถานศึกษาหรือครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลให้ครอบครัวอ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยฟังน้อยลง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาระของผู้ปกครองในช่วงโควิดที่วิธีการทำงานเปลี่ยนไป การเจอหน้ากันทุกวันจึงไม่ได้หมายความว่า จะมีเวลาหรือทักษะมากพอในการให้การสนับสนุนการเรียนรู้แก่ลูก ๆ ได้

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าตัวเด็กเองก็อ่านหนังสือด้วยตัวเองน้อยลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นับเฉพาะการเล่นเกมส์หรือดูรายการผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บแล็ต โทรศัพท์มือถือ ไม่รวมเวลาเรียนออนไลน์

เมื่อการเรียนรู้ที่บ้านที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มขึ้น และการเรียนรู้ในโรงเรียนที่หายไปกว่า 2 ปี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พบปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ที่รุนแรงในเด็กปฐมวัย

4.เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ ระบบการศึกษา (School Readiness) ภายใต้โครงการ TSRS เป็นเครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมสำหรับการติดตามสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย เพราะนอกจากทำให้เห็นแนวโน้มจากหลักฐานตัวเลขเชิงประจักษ์แล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กสศ., กระทรวงพัฒนาสังคมฯ, คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด, ศึกษาธิการจังหวัด และคณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ได้เห็นความสำคัญและนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยและการพัฒนาทุนมนุษย์ในอนาคตได้

ข้อเสนอแนะ
1.ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา

2.นโยบายระยะสั้นที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ การเปิดเรียนให้นาน ปิดให้น้อย และควรเปิดเรียนในช่วงเวลาปิดภาคเรียนปกติ เพื่อชดเชยเวลาคุณภาพที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา

3.นโยบายระยะยาว
ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัยโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสหรือเด็กยากจน
บทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการพัฒนาครูปฐมวัยด้วยหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาและส่งเสริมให้ครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (On-Site Training) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีระดับความพร้อมฯ ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก เป็นหัวใจของการเรียนการสอนแบบไฮสโคป (HighScope)
ความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนหรือความขัดสนของครอบครัวและความพร้อมของเด็กปฐมวัย สะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อาจจะต้องพิจารณาการสนับสนุนหรืออุดหนุนเด็กปฐมวัยอย่างเร่งด่วน

การยกระดับการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสถานศึกษาปฐมวัยสามารถทำกิจกรรมคุณภาพร่วมกับเด็กเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากที่บ้านได้ไม่มากก็น้อย

การเพิ่มความพร้อมที่บ้านหรือครอบครัว เช่น ในปี 2565 – 2566 สถาบันวิจัยฯ และ กสศ. จะร่วมกันนำหลักสูตร Reach Up and Learn จากต่างประเทศที่ได้รับการพิสูจน์จากหลายประเทศทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพไปทดลองสอนผู้ปกครองในชนบท 6 พื้นที่ ได้แก่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงใหม่ ลพบุรี นครนายก และสงขลา ซึ่งหวังว่า การพัฒนาผู้ปกครองด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ปกครองสามารถรับกับสถานการณ์การปิดเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

หมายเหตุ
1.การวิจัยนี้ไม่ใช่การเก็บข้อมูลทั่วประเทศครั้งเดียวในแต่ละปี กสศ. แต่ RIPED วางแผนที่จะสำรวจสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในบางจังหวัด ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2565 แต่เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้จนถึงปัจจุบันสามารถสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ได้ทั้งหมด 73 จังหวัด เหลือ 4 จังหวัดที่ต้องเลื่อนไปสำรวจในช่วงต้นปี 2566

2.งานวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ยืนยันอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์(human capital) ให้กับประชากรของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม ลดต้นทุนที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและการติดยาเสพติด และที่สำคัญการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยยังช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในแง่ที่ช่วยลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านบทความ : กสศ. เปิดผลวิจัย School Readiness เผยสถานการณ์ล่าสุด “เด็กปฐมวัยอยู่ในภาวะเรียนรู้ถดถอยอย่างหนัก”

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ : คลิก

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม