3 เป้าหมาย ยุติปัญหา กทม.

3 เป้าหมาย ยุติปัญหา กทม.

ได้เวลาเปลี่ยนนคราแห่งความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

‘กรุงเทพมหานคร’ ศูนย์กลางแห่งความเจริญที่ใครๆต่างพากันคิดว่าจะนำพามาซึ่งโอกาสต่างๆ รวมถึงด้านการศึกษา แต่ความจริงแล้ว เมืองหลวงแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และอาจใหญ่เกินไปจนทำให้มองไม่เห็นเด็กๆ จำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไป ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งกำลังอยู่ในความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด -19 ที่ทำให้หลายครอบครัวประสบภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนไม่สามารถส่งต่อลูกๆให้เดินไปต่อบนเส้นทางการศึกษาได้

จากข้อมูล กสศ.คัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในกรุงเทพ พบว่า กลุ่มครอบครัวที่ยากจนจำนวนมากมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียง 1,964 บาทต่อเดือน หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่ 2,762 บาทต่อเดือน


เมื่อนำข้อมูลระหว่างเด็กที่ยากจนที่สุด ร้อยละ 10 ไปเปรียบเทียบกับเด็กที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 จะพบห่างกันประมาณ 12 เท่า

ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติ 2565 ชี้ว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของคนกรุงเทพ สูงกว่าค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั่วประเทศถึง 2 เท่า

ตัวเลขนี้ทำให้เห็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ทุกฝ่ายควรต้องรีบเข้าไปกู้วิกฤติทางการศึกษา ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่ภาวะการถดถอยทางการศึกษารายบุคคลหรือ Learning Loss เท่านั้น แต่หากปล่อยไว้จะกลายเป็นหยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น หรือ Lost Generation ที่แม้แต่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทรัพยากรมากที่สุดก็ยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง
.
จากวงคุย “ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ซึ่งจัดโดย สภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), ไทยพีบีเอส และ The Reporters

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. กำลังร่วมมือกับกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกเพื่อจัดการปัญหานี้ ซึ่งทาง กสศ.มีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น แต่ยังขาดกลไกทำงาน อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะมีทีม ส.ก. เป็นกลไกสำคัญ ที่จะกระจายไปทุกพื้นที่เชื่อช่วยกันค้นหาเด็กในระบบที่เสี่ยงหลุดจากโรงเรียน รวมถึงการสร้างนโยบายต้นแบบในอนาคต

ภารกิจความร่วมมือครั้งนี้ โดยสรุปมีเป้าหมาย 3 ประการ

1.ค้นหา ร่วมทีม ส.ก.กระจายทุกเขตพื้นที่ เพื่อช่วยคุณครูคัดกรองมองหาเด็กในระบบที่เสี่ยงหลุดให้เจอและ ช่วยเหลือโดยเร็ว

2.พาน้องกลับมาเรียน ตัวเลขเด็กนอกระบบที่หลุดจากโรงเรียนไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงโควิดของ กทม. เวลานี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 คน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ตัวเลขจริง เนื่องจากตัวเลขที่ กสศ.ค้นพบในแต่ละจังหวัดมีนับหมื่นคน โดย กทม. มีประชากรและความซับซ้อนกว่ามาก จึงจะต้องค้นหาให้เจอและพากลับสู่ระบบการศึกษาโดยเร็วที่สุด

3.สร้างนโยบายการศึกษาใหม่ที่ กทม. เป็นต้นแบบ ขณะนี้คือช่วงเวลาพิจารณางบประมาณ กทม . จึงเป็นเวลาสำคัญที่สภา กทม. ต้องแปรญัตติ เพื่อผลักดันนโยบายการศึกษาที่สามารถดูแลเด็ก กทม.ได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึง ม.ปลาย เพราะหาก กทม.เริ่มต้นได้ จะเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่น

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม