หลอมรวมเทคโนโลยีและความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านสู่ขั้นตอนปฏิบัติผ่านแอปพลิเคชัน

หลอมรวมเทคโนโลยีและความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านสู่ขั้นตอนปฏิบัติผ่านแอปพลิเคชัน

“ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านกลุ่มผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์คำแก้ว จ.หนองคาย ที่ปลูกกระเทียมกันมาแล้วกว่าค่อนชีวิต  แต่พวกเขาไม่หยุดนิ่งพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถนำมาปรับใช้กับการปลูกกระเทียมที่พวกเขาคุ้นเคยกันมานาน โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของพวกเขา

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากโครงการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IOT (Internet-of-Thing) ในการปลูกกระเทียมอินทรีย์ กรณีศึกษากลุ่มผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์คำแก้ว จังหวัดหนองคาย ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาร่วมทำงานด้วยการลงพื้นที่ไปอบรมให้ความรู้พร้อมส่งมอบอุปกรณ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.หนองคาย ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกกระเทียม

จากเดิมที่การปลูกกระเทียมเคยเป็นเรื่องของฟ้าฝน ธรรมชาติ และประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมาเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ไม่เคยมีการบันทึกหรือรวบรวมให้เป็นระบบที่ชัดเจน ว่าการปลูกกระเทียมที่จะให้ผลผลิตทีดีนั้น ดิน น้ำ อากาศ ความชื้น ควรจะเป็นอย่างไร ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงดินกันช่วงไหน

 

หลอมรวมเทคโนโลยีและความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน
สู่ขั้นตอนปฏิบัติผ่านแอปพลิเคชัน

โครงการนี้จึงรวบรวมความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านมาหลอมรวมกับเทคโนโลยี เพื่อให้ชาวบ้านมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ด้วยชุดข้อมูลตัวเลขสถิติ ซี่งจะถูกนำไปประมวลผลและสังเคราะห์ออกมาเป็นขั้นตอนปฏิบัติให้ชาวบ้านได้ดำเนินการ

ทองปาน ปริวัตร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าให้ฟังว่า ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ที่สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกระเทียมอินทรีย์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงคิดว่ามีวิธีใดบ้างที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของกระเทียมให้ดีขึ้นได้

“เราจึงได้นำเทคโนโลยี IoTเข้ามาช่วยสนับสนุนการปลูกกระเทียมเริ่มตั้งแต่การติดตั้งกล่องวัดค่าดิน ที่จะวัดทั้ง หนึ่งค่าปุ๋ยในดิน สองวัดค่าความชื้นในดิน และสามวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลใ ผ่านระบบ IoT ไปเก็บไว้บนคลาวด์ อีกด้านหนึ่งจะเก็บข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านเรื่องกระบวนการเพาะปลูกว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บเกี่ยวว่าแต่ละช่วงต้องดูแลอย่างไรเป็นพิเศษ จากนั้นจึงนำมาประมวลผลและสรุปเป็นคำแนะนำให้กับเกษตรกร เช่นถ้าช่วงนี้น้ำมากไป น้อยไป ต้องทำอย่างไร ต้องเพิ่มปุ๋ยช่วงไหน หรือค่า pH ในดินมากเกินไปในแต่ละช่วงต้องทำอย่างไร”

เกษตรกรจะมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมกับแอปพลิเคชัน ที่เมื่อล็อกอินเข้าไปแล้วจะเห็นว่าสภาพดินในแปลงที่หนึ่งเป็นอย่าง ความชื้น ปุ๋ย กรดด่าง เท่าไหร่มีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งแต่ละช่วงอายุของกระเทียมจะต้องเพิ่มลดอะไรตรงไหน แอปพลิเคชันก็จะประมวลและสรุปออกมาให้เกษตรกรดำเนินการ

 

พื้นที่เข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต
ชาวบ้านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าในแต่ละพื้นที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต กลุ่มเป้าหมายมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมกับอินเตอร์เน็ต และส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยเล่นไลน์ มีทักษะใช้สมาร์ทโฟนระดับหนึ่ง ดังนั้นเทคโนโลยีจึงไม่ใช่อุปสรรค เบื้องต้นจะอบรมเรื่องการใช้กล่องเก็บข้อมูลดินที่จะต้องไปติดตั้ง จากนั้นจะสอนติดตั้งแอปพลิเคชั่นและการใช้งานว่าเปิดหน้าจอมาจะเจอข้อมูลอะไรบ้าง ถ้าค่าดินเหมาะสมอยู่แล้วก็ไม่ต้องทำอะไร  หากไม่เหมาะสมต้องทำอย่างไรบ้างเป็นขั้นตอนแนะนำ

“เดิมชาวบ้านเขาก็จะดูแบบทั่วไปคือดูสภาพดินจากผิวดินได้แค่ว่าแห้งไปแฉะไป แต่ไม่รู้ว่าในดินปุ๋ยเท่าไหร่ ค่า pH เท่าไหร่ แต่เมื่อเสียบกล่องนี้ไปในดินเขาก็จะมีข้อมูลเป็นสถิติชัดเจน ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยการลงทุนเพียงแค่ 2,500 บาทต่อชุดรวมค่าพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่โครงการจะมอบให้ชาวบ้านไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้รายของพวกเขาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

 

“ไม่มีใครแก่เกินเรียน” สร้างกระบวนการสื่อสารในกลุ่ม
แก้ปัญหาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อีกด้านหนึ่งชาวบ้านก็จะทำงานประสานกับ ส.ป.ก.หนองคาย ซึ่งมีช่องทางการจัดจำหน่ายกระเทียมอินทรีย์ พร้อมกับให้ชุดความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ที่มาจากขี้วัว ขี้ไก่ ขี้หมู โดยมีสูตรผสมอย่างไร รวมถึงตัวฆ่าเชื้อราที่ไม่ใช่สารเคมี เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์

“การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แก่แค่ไหนก็ยังเรียนรู้ได้ที่มาอบรมกับทางโครงการมีตั้งแต่อายุ 40-60 ปี บางคนไม่มีทักษะมาเลย จบประถมก็มาหัดได้ บางคนไม่มีทักษะเรื่องสมาร์ทโฟนก็เอาลูกมานั่งเรียนด้วยกัน  ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนเข้าถึงทุกที่ ตรงนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสที่การเรียนรู้ ช่วงแรกอาจจะต้องปรับตัวบ้าง แต่เราเน้นหลักให้ทำงานเป็นกลุ่มใช่ให้ทำอยู่คนเดียว เพราะในกลุ่ม 5 คน ถ้ามีคนที่มีทักษะสัก 1-2 คน ก็จะเกิดการสื่อสารการในกลุ่มว่าทำแบบนี้แล้วต้องทำอย่างไรต่อ หรือเสียบกล่องแล้วข้อมูลไม่ขึ้นต้องทำอย่างไรก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”

นี่นับเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ กสศ.​

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค