Banner
การพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง
แม่ฮ่องสอน

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเปิดโครงการสอนการบริหารโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการทำเกษตรพื้นที่สูง ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม ‘So Lo Mo’ ที่ชอบสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ

คำพูดที่ว่าเมืองไทยคือเมืองเกษตรกรรมนั้น ดูจะเก่าไปแล้วหากพูดในพ.ศ. 2563 นี้ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังทำให้ยอดของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกปี

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการรณรงค์จากภาครัฐสู่ภาคประชาชนให้มีการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือเหล่า ‘เมืองรอง’ ทั้งหลาย เพื่อกระจายรายได้ไปให้กับชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มนักท่องเที่ยวแนวใหม่ที่กำลังขยายตัว นั่นก็คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อการเรียนผ่านประสบการณ์ใหม่ๆ โดยรูปแบบการเที่ยวของคนกลุ่มนี้จะเป็นแบบไม่เร่งรีบ และมีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อแบ่งปันสิ่งที่พบเจอตลอดกาลเดินทาง โดยศัพท์ที่ใช้เรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มคือ ‘So Lo Mo’ ซึ่งย่อมาจาก Social, Location และ Mobile

เมื่อพูดถึงเมืองรองและนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชื่อของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงจะเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะจังหวัดแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ประตูสู่ตะวันตก’ เลยทีเดียว ซึ่งแม่ฮ่องสอนมีต้นทุนทางการท่องเที่ยวอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งมาจากการที่ตัวจังหวัดมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายรูปแบบอาศัยอยู่

แม้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากขึ่น แต่ก็ยังถือว่าเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กอยู่ ทำให้ประตูสู่ตะวันตกบานนี้ยังมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะในมุมของการรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน อย่างเช่น ธุรกิจโฮมสเตย์  ซึ่งคนในหลายชุมชนมีความสนใจในประทำธุรกิจประเภทนี้ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการบริการ การบริหารจัดการที่พัก และเพิ่มมูลค่าจากอัตลักษณ์วิถีชีวิตชาติพันธุ์ นอกจากด้านของการท่องเที่ยวแล้ว แม่ฮ่องสอนยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านเกษตรกรรมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย เนื่องจากเกษตรกรในขณะนี้ยังมีการทำเกษตรแบบที่ใช้สารเคมีเป็นหลัก ซึ่งทำให้ผลผลิตมีสารปนเปื้อนและตัวเกษตรกรเองก็เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

จากสถานการณ์ทั้งสองรูปแบบของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีทั้งโอกาสและปัญหา องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน จึงได้จัดทำโครงการ ‘พัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง’ ขึ้น เพื่อเสริมจุดเด่นและลดจุดด้อยของชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่บริเวณ  7 หมู่บ้านที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเป็นพื้นที่การเรียนรู้เกษตรพื้นที่สูง อันได้แก่ บ้านแม่ละนา บ้านผามอน บ้านจ่าโบ่ บ้านลุกข้าวหลาม  บ้านดง  บ้านป่าแป๋ บ้านละอูบและประชาชนหมู่บ้านอื่นๆที่สนใจ  โดยโครงการจะทำการคัดเลือกกลุ่มคนด้อยโอกาสจากชุมชนเหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 60 คน ให้เข้ามาร่วมฝึกฝนและอบรมในโครงการ

สมาชิกทุกคนจะได้รับการฝึกฝนและอบรมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยฝั่งของชุมชนที่เป็นโฮมสเตย์ก็จะมีการอบรมด้านการบริการให้มีมาตรฐาน วิธีการทำตลาดให้โฮมสเตย์เป็นที่รู้จัก เป็นต้น ส่วนในฝั่งของการเกษตรก็จะนำเอาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำและฟาร์มอัจฉริยะมาเผยแพร่ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรได้มากขึ้นโดยที่ใช้แรงงานน้อยลง ผลผลิตจากฟาร์มยังสามารถนำมารังสรรค์เป็นอาหารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร(GastronomyTourism)ที่มีความเฉพาะถิ่นสามารถนำมาปรุงและแปรรูปเป็นอาหารเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

โครงการจากวิทยาลัยชุมชนนี้จึงนับว่าเป็นโครงการที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเป็นการจัดทำแผนการพัฒนาที่ช่วยส่งเสริมทักษะให้กับชุมชนถึงสองรูปแบบ ซึ่งการพัฒนาควบคู่กันเช่นนี้จะช่วยให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจุดแข็งที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศได้มากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่ากลุ่มชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในสถานการณ์โรคโควิด-19 วิกฤติทางเศรษฐกิจและการพักจ้างงานที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันล้วนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานยากจนด้อยโอกาสในต่างจังหวัดอีกจำนวนมากที่ต้องกลับไปตั้งหลักในบ้านเกิดของตนเองบนความหวังที่ไม่แน่นอนว่าสักวันเศรษฐกิจฟื้นตัวในอนาคต  สำหรับในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการนี้พร้อมที่จะรองรับและสนับสนุนความสามารถในการฟื้นตัว(Resilience)ของแรงงานที่กลับบ้านให้สามารถพัฒนาศักยภาพอาชีพใหม่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานและสร้างความมั่นคงในชีวิตโดยที่ไม่ต้องออกไปประกอบอาชีพเป็นแรงงานนอกชุมชนอีกในอนาคต

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

การพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง

  • โทร: 088-6514959
  • ผู้ประสานงาน: นายทรงศักดิ์ ปัญญา

เป้าประสงค์

  1. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีทักษะแรงงานที่ได้มาตรฐานและมีความชำนาญสำหรับการประกอบอาชีพเเละการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
  2. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 30 จากการเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์เเละผลผลิตทางการเกษตร
  3. ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับวุฒิทางการศึกษาระดับสัมฤทธิ์บัตรชุดวิชา
  4. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ชุมชนเป็นฐานการประกอบอาชีพตามความถนัดและสามารถพึ่งพาตนเองได้
  5. ได้รูปแบบการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เเละด้อยโอกาสและนำไปขยายผลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส