Banner
วิทยาลัยชุมชนพังงา
พังงา

วิทยาลัยชุมชนพังงาเปิดโครงการฝึกแคดดี้ให้แรงงานนอกระบบ ช่วยสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของจังหวัดพังงาเมืองแห่งความสุข

‘การท่องเที่ยวเชิงกีฬา’ เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่ประกอบด้วยภูเขาล้อมรอบ มีทะเลที่สวยงาม และมีอากาศชุ่มชื้นตลอดปี ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ปักหมุดหมายเดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย 

โดยเฉพาะ ‘กีฬากอล์ฟ’ ซึ่งมีผู้สนใจจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสนามกอล์ฟมากถึงปีละ 5,500-6,000 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาณ ‘แคดดี้’ ในพื้นที่ จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้นักท่องเที่ยวตลอดจนนักกีฬาได้ทั้งหมด 

วิทยาลัยชุมชนพังงา จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เล็งเห็นว่า ‘อาชีพแคดดี้’ หรือผู้ช่วยนักกอล์ฟที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬา เช่น หยิบจับ ทำความสะอาด และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน ฯลฯ เป็นอาชีพที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท จึงอยากผลักดันอาชีพนี้ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในจังหวัดพังงา จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของพนักงานแคดดี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของจังหวัดพังงา 

สำหรับวิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย โครงการจะเปิดรับกลุ่มเป้าหมายจากพื้นที่ 7 อำเภอในจังหวัดพังงา จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่ว่างงาน และนักเรียนที่ต้องการหารายได้เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวระหว่างเรียน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า มีผู้สนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่อายุ 16 ปี ไปจนถึงวัยกลางคน แต่จำกัดอยู่ที่อายุไม่เกิน 45 ปี เนื่องจากอาชีพแคดดี้ต้องใช้พละกำลังและความแข็งแรงของร่างกายค่อนข้างมาก 

ธวัชชัย จิตวารินทร์ จากวิทยาลัยชุมชนพังงา เล่าว่าหลักสูตรดังกล่าวครอบคลุมทั้งการอบรมภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีการลงมือฝึกซ้อม และทดลองปฏิบัติงานในสนามจริง ซึ่งเป็นผลมาจากการระดมสมองและระดมสรรพกำลังกันของผู้ประกอบการสนามกอล์ฟในพื้นที่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพังงา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตลอดจนนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท กระทะทอง จำกัด ตลอดจนบริษัทพันธมิตร ในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงอนุญาตให้ใช้สถานที่ในการฝึกอบรม และฝึกประสบการณ์อีกด้วย 

“นอกจากนี้ ตอนอบรม ทางบริษัทยังได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เขาจึงพอเห็นความก้าวหน้าและความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เมื่อจบโครงการ เขาก็ส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลมาให้กลุ่มเป้าหมายเขียนใบสมัครงาน หรือใครจะนำความรู้เรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ได้รับไปสมัครงานในส่วนของการเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรมก็สามารถทำได้เช่นกันธวัชชัย เสริม

เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินไปในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านการอบรมได้ใช้ทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพอย่างที่โครงการตั้งเป้าหมายไว้ แต่อย่างน้อยที่สุด กลุ่มเป้าหมายก็มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น และการได้เรียนรู้โลกทัศน์ใหม่ๆ จากแต่เดิม ที่กลุ่มเป้าหมายเคยยึดติดกับอาชีพที่คุ้นชินกับความรุ่มรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมัน ปลา ยางพารา ฯลฯ ทำให้ไม่นิยมอาชีพด้านการบริการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการต้องคอยเอาใจคนอื่น ทัศนคติของพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ธวัชชัย เผยว่า แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีผู้ที่ผ่านการอบรมเพียง 5 คนที่สามารถนำทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่ได้จากโครงการไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง จากเป้าหมายที่วางไว้ คือการผลักดันให้เกิดแคดดี้หน้าใหม่ 50-60 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด แต่เขาก็ไม่รู้สึกทดท้อ เพราะถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และมองในแง่บวกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นอุปสรรคและปัญหาที่เข้ามาให้ต้องหาทางแก้ไข

“ตอนนี้ สำหรับก้าวต่อไปของโครงการ จะเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่าย และการพัฒนาแคดดี้ในท้องถิ่นให้สถานประกอบการ อย่างตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการสนามกอล์ฟหลายแห่งให้ความสนใจ ติดต่อมายังวิทยาลัยชุมชนเพื่อให้จัดหลักสูตรในรูปแบบเดียวกันนี้อีก เพื่อผลิตแคดดี้ที่มีคุณภาพในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น” ธวัชชัย เสริม 

ด้าน ปทุมพร สังสันต์ อายุ 37 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า แต่เดิม เธอมีอาชีพรับจ้างจัดดอกไม้ตามงานต่างๆ รวมถึงรับจ้างจัดพานมาลัย เมื่อทราบข่าวจากธวัชชัย เธอจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมโครงการ นอกจากเธอจะได้เรียนรู้เรื่องการประกอบอาชีพแคดดี้ อาทิ การใช้งานและการดูแลรักษาอุปกรณ์ การดูทิศทางลม การดูไลน์ในสนาม การขับรถกอล์ฟ และการสื่อสารกับนักกีฬาแล้ว เธอยังได้เรียนรู้ทักษะที่มีประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น ด้านโภชนาการ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การปฐมพยาบาล การพัฒนาบุคลิกภาพ รวมไปถึงการทำความรู้จักกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

และแม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้สนามกอล์ฟหลายแห่งในจังหวัดพังงาต้องปิดให้บริการเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งส่งผลให้เธอและกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ ไม่สามารถใช้ความรู้และทักษะที่มีไปประกอบอาชีพแคดดี้ได้จริง ทว่า กระบวนการอบรมก็ทำให้เธอได้ฝึกฝนประสบการณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องภาษา เรื่องบุคลิกภาพ และการได้รู้จักกลุ่มสังคมใหม่ๆ

โดยปทุมพรหวังว่า เมื่อสนามกอล์ฟกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว เธอและเพื่อนๆ ในโครงการ จะได้ลงเหยียบผืนหญ้าเขียวขจีท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นในสนามกอล์ฟอีกครั้ง ในฐานะ ‘แคดดี้มืออาชีพ’ ซึ่งก็คงเป็นเวลาอีกไม่นานนับจากนี้

จากข้อมูลที่บรรยายไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า การพัฒนาอาชีพพนักงานแคดดี้ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดพังงา ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น ตรงตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของจังหวัดพังงาเท่านั้น แต่ยังเป็นการยึดโยงลูกหลานชาวจังหวัดพังงาให้ได้มีงานทำ มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปทำงานต่างถิ่น จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และช่วยลดปัญหาผู้สูงวัยถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพังได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ตอนนี้ สำหรับก้าวต่อไปของโครงการ จะเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่าย และการพัฒนาแคดดี้ในท้องถิ่นให้สถานประกอบการ อย่างตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการสนามกอล์ฟหลายแห่งให้ความสนใจ ติดต่อมายังวิทยาลัยชุมชนเพื่อให้จัดหลักสูตรในรูปแบบเดียวกันนี้อีก เพื่อผลิตแคดดี้ที่มีคุณภาพในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น” ธวัชชัย จิตวารินทร์ จากวิทยาลัยชุมชนพังงา

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของพนักงานแคดดี้เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของจังหวัดพังงา

วิทยาลัยชุมชนพังงา

  • โทร: 064-4790874
  • ผู้ประสานงาน: ธวัชชัย จิตวารินทร์

เป้าประสงค์

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ และทักษะสำหรับการประกอบอาชีพพนักงานงานแคดดี้
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการประกอบอาชีพพนักงานแคดดี้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส