Banner
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม
นครพนม

ม.นครพนม ติดทักษะช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับเกษตรกร ต้อนรับการปรับสถานะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หวังช่วยเสริมรายได้นอกฤดูทำนา

นครพนมคือจังหวัดชายแดนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คนไทย ลาว ผู้ไท ญ้อ โซ่ กะเลิง และแสก ความหลากหลายนี้นอกจากจะทำให้นครพนมมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่านครพนมเป็นเมืองที่ “เชื่อมต่อ”กับอีกหลายประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ไม่ว่าจะเป็น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้

ในปีที่ผ่านๆ มา รัฐบาลได้ออกนโยบายเพื่อนำงบประมาณลงมาพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนเกิดเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย โดยนครพนมนับว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ จึงต้องทำการเตรียมพร้อมในหลายๆ ด้านเพื่อก้าวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง

การเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมทางด้านอาชีพ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้ก้าวทันการพัฒนาและไม่พลาดโอกาสทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ของจังหวัดนครพนม แรงงานส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำให้ช่วงเวลาที่เป็นนอกฤดูกาลทำนาพวกเขาจะเดินทางเข้าตัวจังหวัด บ้างก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหารายได้เสริมผ่านอาชีพรับจ้าง แต่ด้วยความที่แรงงานเหล่านี้เป็นเกษตรกรอาชีพ ซึ่งไม่ได้มีทักษะฝีมือในอาชีพใดอาชีพหนึ่งอย่างถ่องแท้ ทำให้หลายครั้งต้องประสบปัญหาการกดราคาค่าแรงและสร้างรายได้ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม เห็นถึงปัญหาด้านรายได้ตกต่ำที่เกิดขึ้นกับแรงงานในจังหวัด ประจวบกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต จึงได้พยายามคิดค้นวิธีแก้ปัญหา ผ่านการเสริมสร้างทักษะอาชีพที่จำเป็นให้กับกลุ่มเกษตรกรเหล่านั้นผ่านโครงการ การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดนครพนม’

โครงการจะทำการคัดเลือกสมาชิกที่มีคุณสมบัติเป็น ‘ผู้ว่างงานตามฤดูกาล’ และเป็น ‘ผู้ขาดทักษะฝีมือด้านอาชีพที่ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน’ เข้ามาจากพื้นที่ดำเนินงาน 6 แห่ง คือ 1. เทศบาลตำบลเวินพระบาท 2. องค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล3. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง 4. องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่  5.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง 6.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ โดยจะคัดเลือกมาพื้นที่ละ 25 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน

จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาทักษะทางอาชีพ ที่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานและวิทยาลัยเทคนิคนครพนม เพื่อวางแนวทางเอาไว้ โดยจะมีการเรียนการสอนในวิชาชีพช่างเชื่อมสแตนเลส ตั้งแต่องค์ความรู้ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังมีการสอนทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อย่างเช่น ทักษะการบริหารจัดการ และการส่งเสริมทัศนคติการดำเนินชีวิต

เป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้ แน่นอนว่าคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรอย่างยั่งยืน ผ่านการเติมทักษะที่จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของพวกเขา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จังหวัดกำลังเติบโตและพัฒนา จากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาครัฐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แรงงานฝีมืออย่างช่างเชื่อมสแตนเลสจะกลายมาเป็นที่ต้องการจำนวนมาก โครงการนี้จึงนับว่าเป็นทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะสร้างอาชีพมาสอดรับกับตลาด รวมถึงแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในช่วงนอกฤดูกาลทำนาได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัด นครพนม

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม

  • โทร: 084-6012183
  • ผู้ประสานงาน: นายบุญเลิศ โพธิ์ขำ

เป้าประสงค์

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  2. ผู้ที่ผ่านการอบรม การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลส รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ สู่Thailand 4.0 สามารถไปขอเข้ารับการทดสอบยกระดับฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้
  3. เกิดการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคนิคนครพนม และ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้ได้มาตรฐานและสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านการแข่งขันในตลาดแรงงานได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส