Banner
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง จังหวัดน่าน
น่าน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง จังหวัดน่าน ผลักดันการใช้นวัตกรรมพลังงานสีเขียวของชุมชน ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ซางนวล

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2551 เกษตรกรกลุ่มหนึ่งจากพื้นที่ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้รับการอบรมเรื่องการปลูกไผ่เพื่อเศรษฐกิจ ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชสวนน่าน ซึ่งหลังจากการอบรมครั้งนั้น มีเกษตรกรคนหนึ่งชื้อกล้าต้นไผ่สายพันธุ์ซางนวลกลับมาปลูกในสวนลิ้นจี่บนภูเขาหัวโล้น จำนวน 1,000 ต้น โดยไผ่ซางนวลเหล่านั้นเจริญเติบโตอย่างงดงาม จนมีต้นไผ่เพิ่มขึ้นถึง 700 กอ กอละประมาณ 10-20 ต้น ในเวลาต่อมา

ทว่า แม้จะให้ผลผลิตที่ดีเกินคาด แต่เจ้าของสวนดังกล่าวกลับพบอุปสรรค เนื่องจากความต้องการไม้ไผ่ในท้องตลาดยังไม่คึกคักเท่าไรนัก ขายได้ราคาสูงสุดเพียงลำละ 5 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องตัดและขนส่งไปให้ผู้ซื้อถึงที่ เมื่อหน่วยงานต่างๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน หรือ มูลนิธิศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ฯลฯ ทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงเข้ามาให้ความร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการแปรรูปไม้ไผ่เป็นถ่านอัดแท่งและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ 

ซึ่งการส่งเสริมครั้งนั้นทำให้ชาวเขาเผ่าลัวะในพื้นที่ตำบลศิลาแลง เฝ้าสังเกตและติดตามทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่อย่างใกล้ชิด เพราะหากสามารถยึดเป็นไม้เศรษฐกิจได้จริง พวกเขาก็จะเลิกปลูกข้าวโพดมาปลูกไผ่ซางนวลแทน เนื่องจากไผ่ซางนวลเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของหนอนรถด่วน ซึ่งสามารถจับมาขายได้ราคาดี  

เมื่อเล็งเห็นโอกาสว่าสามารถต่อยอดการปลูกไผ่ซางนวลได้ ชาวเขาเผ่าลัวะและเผ่าอื่นๆ ในพื้นที่ตำบลศิลาแลง จึงเริ่มเบนเข็มมาปลูกไผ่กันมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ด้วยเหตุนี้ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการริเริ่ม “โครงการไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น” โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน จากพื้นที่ตำบลศิลาแลง จำนวน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านเฮี้ย, หมู่ 2 บ้านศาลา, หมู่ 3 บ้านดอนไชย, หมู่ 4 บ้านตีนตก, หมู่ 5 บ้านหัวน้ำ, หมู่ 6 บ้านหัวดอย, และ หมู่ 7 บ้านฝาย 

ทั้งนี้ โครงการเริ่มต้นด้วยการจัดการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผ่านการร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน สำนักงานพลังงานจังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาน่าน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะด้านการแปรรูปไม้ไผ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ม้านั่ง โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น และยังสนับสนุนด้วยการมอบเตาเผาถ่าน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายผลิตถ่านไม้ไผ่อัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมพลังงานสีเขียวเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซแอลพีจี

แม้ว่าการประกอบอาชีพด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่จะเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน แต่ความจริงแล้ว กลุ่มเป้าหมายยังสามารถใช้ทักษะดั้งเดิมที่แต่ละคนมีติดตัว มาประยุกต์ใช้กับอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับทุนทางสังคมดั้งเดิมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การใช้ช่างหวาย ช่างเหล็ก และช่างไม้มาเชื่อมโยงกับงานไม้ไผ่ เป็นต้น 

นอกจากการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาระดับต้นน้ำแล้ว โครงการนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะด้านผู้ประกอบการ และคอยช่วยเหลือด้านช่องทางการตลาด เพื่อให้การดำเนินโครงการราบรื่นไปจนถึงปลายน้ำอีกด้วย นั่นคือ การเชื้อเชิญหน่วยงานภาคเอกชน อย่างบริษัทถ่านอัดแท่งบางบัวทอง เข้ามาให้ความรู้ด้านการซื้อขายถ่านไม้ไผ่อัดแท่ง ประกอบกับการสนับสนุนด้านช่องทางการตลาดจาก หอการค้าจังหวัดน่าน, บริษัทประชารัฐสามัคคี (จำกัด) จังหวัดน่าน, และศูนย์โอทอปจังหวัดน่าน ในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปไม้ไผ่กระจายสู่ตลาดได้อย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมให้มีการใช้ถ่านไม้ไผ่อัดแท่งในร้านหมูกระทะ การใช้ตะเกียบและแก้วจากไม้ไผ่ในร้านก๋วยเตี๋ยว และการใช้ราวตากผ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จากไม้ไผ่ในโรงแรม โรงพยาบาล และสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นการจัดสรรให้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปไม้ไผ่มีตัวตนในระบบตลาดอย่างเหมาะสมตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม 

เรียกได้ว่า นอกจากโครงการไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมพลังงานสีเขียวซึ่งส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย

 

แม้ว่าการประกอบอาชีพด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่จะเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน แต่ความจริงแล้ว กลุ่มเป้าหมายยังสามารถใช้ทักษะดั้งเดิมที่แต่ละคนมีติดตัว มาประยุกต์ใช้กับอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับทุนทางสังคมดั้งเดิมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การใช้ช่างหวาย ช่างเหล็ก และช่างไม้มาเชื่อมโยงกับงานไม้ไผ่ เป็นต้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง จังหวัดน่าน

  • โทร: 080-0338501
  • ผู้ประสานงาน: นายเรืองเดช จอมเมือง

เป้าประสงค์

ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความสามารถทางด้านทักษะการประกอบอาชีพจากไผ่ที่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคต้องการให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่และมีช่องทางการตลาดที่หลากหลาย สร้างความสมานสามัคคีและขยายเครือข่ายไผ่ไปยังชุมชนที่ใกล้เคียงเพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส